'จุลพันธ์' แจงเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงิน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ให้มีความเหมาะสมขึ้น ยันปลายปีนี้เงินถึงมือ ปชช.แน่นอน ย้ำไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์
17 ก.ค.2567 - นายจุลพันธ์ อมรวิวัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เรื่องที่มีการระบุว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเรื่องแหล่งงบประมาณมาตรา 28 ว่ากลไกที่เปลี่ยนเป็นข้อเสนอของส่วนงานที่เกี่ยวข้องหลังจากที่ไปดูในรายละเอียดว่าสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ จึงเป็นกลไกที่คณะอนุกรรมการกำกับ และในฐานะประธานได้ดำเนินการนำข้อเสนอนี้มายังคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาและมีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแหล่งเงินเพื่อให้มีความเหมาะสมขึ้น และเมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมาระยะหนึ่งเราเริ่มเห็นสภาพเรื่องการบริหารจัดการงบฯ โดยสิ่งที่เรียกว่าการบริหารทางการคลังสามารถบริหารได้ รองรับได้ เราจึงมีความเห็นเช่นนั้น และเรื่องของกลไกที่จะใช้มาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง เป็นกลไกที่สามารถดำเนินการได้ หน่วยงานไม่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องใดในการที่จะใช้หน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการดำเนินการ แต่หลังจากไปดูในรายละเอียด เราคิดว่าอาจจะจำเป็นต้องมีข้อจำกัดเพิ่มเติมสำหรับการใช้หากเป็น ธ.ก.ส.
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ในการใช้มาตรา 28 มีความจำเป็นจะต้องไปบอกว่าหากใช้แล้วต้องจำกัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเป็นปัจจัยการผลิต ซึ่งเราไม่ต้องการ เพราะเรารู้ว่าพี่น้องเกษตรกรลำบากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ต้องการเงินนี้มากที่สุด เพื่อเอาไปลงทุน แต่ถ้าเราไปใส่ข้อจำกัดที่มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งให้เขา ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารเราไม่ต้องการ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราได้คิดว่าเมื่อมีช่องทางอื่นในการดำเนินการได้ เราก็เปลี่ยน ส่วนเรื่องข้อห่วงใยในเรื่องของการเปลี่ยน กรอบเวลา และรายละเอียดโครงการ ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่อย่างไรก็ตามยืนยันในกรอบเวลาว่าปลายปีนี้ เงินถึงมือพี่น้องประชาชนแน่นอน ก็ยังยืนยันในกรอบเวลานี้ ถึงแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องรายละเอียดบ้าง
รมช.การคลังชี้แจงอีกว่า ขณะนี้เราเดินหน้ามาจนถึงจุดที่เราสามารถยืนยันได้ว่าระบบเราสามารถเสร็จได้ทัน ในเรื่องของตัวเงินเราสามารถมีเพียงพอในการดำเนินการโครงการที่มีขนาด 5 แสนล้านบาท ได้ทันในกรอบเวลาแน่นอน และมีการอภิปรายในกลไก ด้านงบประมาณต่างๆ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ซึ่งต้องขอขอบคุณที่สมาชิก ชี้แจงแทนทางรัฐบาล และท่านออกมาพูดทั้งหมด โดยท่านบอกว่ามีการสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อกฎหมาย หรืออะไรก็ตาม และคำว่าสุ่มเสี่ยงก็ชัดเจนอย่างหนึ่งว่าท่านก็รู้ว่าไม่ได้ผิด เป็นไปตามกรอบ และตัวเลขที่ท่านยกมาทั้งหมด ท่านก็ชี้แจงแทนแล้วว่าทั้งหมดอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง และเป็นไปตามกระบวนการวิธีการงบประมาณทั้งสิ้น ซึ่งกระบวนการที่ทำไม่ใช่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั่งคิดกัน 3-5 คน ไม่ใช่ เพราะผ่านกระบวนการพิจารณาจากส่วนงานราชการจำนวนมาก ความเห็นที่จะต้องเข้าสู่ ครม. หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมในคณะกรรมการชุดต่างๆ ทุกคนพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ ประกอบกันแล้วยืนยันว่าทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เราจึงได้เดินมาทางนี้ ฉะนั้น ยืนยันกับท่านสมาชิกว่ากระบวนการที่เราทำทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
“นโยบายนี้เรายืนยันว่าต้องการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ และนี่ไม่ใช่นโยบายในการสงเคราะห์พี่น้องประชาชน และวันนี้ถ้ายังเถียงกันอยู่ในเรื่องของวิกฤติหรือไม่ พวกผมเคยยกสถานการณ์ให้ดูแล้วว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ ไม่ได้อยู่ในระดับที่ดี ตั้งแต่วันที่เรารับการเป็นรัฐบาลมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวก็ชี้ชัด และเพื่อนสมาชิกจากฝ่ายค้านหลายคนก็บอกว่าดีอยู่ กำลังเติบโต อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่เราเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้มาหลายปี และนี่คือสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก และมีความจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากได้ และย้ำว่ากลไกนี้ไม่ใช่กลไกในการมาสงเคราะห์ประชาชน และเราต้องให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าเมื่อประชาชนได้เงินไปแล้ว เขาจะไปใช้จ่าย เขาจะไปทำประโยชน์ต่อชีวิตเขาและเริ่มลงทุนทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเอง นี่คือกลไกที่เราได้กำหนดไว้และข้อจำกัดที่มีอยู่ในรายละเอียดของโครงการนี้ ผมยืนยันกับท่านสมาชิกว่าไม่เคยมีนโยบายของรัฐใดๆ ในอดีตที่จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงเท่านโยบายนี้ ด้วยข้อจำกัดที่ซื้อสินค้าได้และไม่ได้ รวมถึงเรื่องพื้นที่ ทั้งหมดนี้เป็นกลไกที่เติมเข้าไปเพื่อให้เม็ดเงินที่เติมเข้าไปจะสามารถ มีผลในการหมุนเวียนในเรื่องของเศรษฐกิจได้มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ ” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ที่มีความเป็นห่วงว่าเราตั้งงบประมาณในการขาดดุลสูงเกือบเต็มเพดาน เป็นข้อเท็จจริงก็ต้องพูด แต่อย่างไรก็ตามไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของกลไกทางงบประมาณ เนื่องจากกลไกของเรามี พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง สามารถรองรับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยไม่อยู่มาจนจนถึงวันนี้ เพราะเราผ่านวิกฤติ เราผ่านเหตุการณ์อะไรมาหลายครั้ง พ.ร.บ. เหล่านี้มีการปรับแก้มาจนถึงปัจจุบัน สามารถรองรับได้ทุกสถานการณ์ และในกรณีที่รัฐบาลหากเกิดการจัดเก็บพลาดเป้า เรามีหน้าที่ในการบริหารจัดการให้ใกล้จริงหรือเกินมากที่สุด แต่กลไก พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ในการรองรับกรณีใดๆไม่ว่าจะเกินหรือจะขาด ก็จะมีกลไก หากจะจัดเก็บพลาดเป้าหรือเกินเป้าอย่างใดก็ตาม เมื่อไม่มีนัยยะสำคัญก็มีกลไกมารองรับและสามารถเดินหน้าได้ ฉะนั้นไม่มีเหตุการณ์ที่ท่านเป็นห่วงแน่นอน
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อห่วงใยในการทุจริตของรัฐ ได้ทำเรื่องนี้มาเกือบปี ยังไม่เคยได้ยินเพราะนโยบายนี้จ่ายเงินตรงกับประชาชนประชาชน ผูกกับบัตรประชาชน มีผู้รับหนึ่งต่อหนึ่งทุกคน ฉะนั้นโครงการนี้ในการทุจริตของฝ่ายภาครัฐ ตนยังมองช่องทางไม่ออก โดยดูอย่างละเอียดและเป็นห่วงในประเด็นนี้เช่นกัน ส่วนการทุจริตในเรื่องของผู้รับเงิน เรื่องนี้เป็นข้อห่วงใยหนึ่ง คือกลไกที่เติมเงิน 10,000 บาทแล้วเอาไปใช้ผิดประเภท ยืนยันว่าโครงการนี้ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเต็มที่ ส่วนที่บอกว่าทำไมให้อายุ 16 ปีขึ้นไป พวกตนคิดมาอย่างดีแล้วว่าอายุเหล่านี้สามารถรับเงินไป และมีศักยภาพในการไปใช้จ่ายในการหมุนเศรษฐกิจ และหากจะแจกเป็นเงินสดก็ยังเป็นข้อห่วงใยเก่าที่มีข้อมูลเท็จต่างๆ โดยสิ่งที่เรากำลังทำคือการวางรากฐานดิจิทัล อย่างไรก็ตามโครงการทั้งหมดนี้จะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อประชาชน
“รัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายเพียงข้อเดียว ทั้งหมดต้องทำควบคู่กัน อย่ามองนโยบายใดเป็นชิ้น ถ้ามองเป็นชิ้นท่านจะมองไม่เห็น เดินเข้ามาใกล้จ่อหน้าจะอ่านอะไรไม่ออก ขอให้ท่านเดินกลับไปก้าวหนึ่งแล้วท่านมองกลับมากับการทำงานรัฐบาล ท่านจะเห็นว่าสิ่งที่เราทำมีทุกมิติ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน
ป้า 67 ป่วยหลายโรค หาบเร่ขายของเลี้ยงชีพ หวังได้เงินหมื่น เฟส 2 หวั่นตกหล่น บัตรคนจนก็ไม่มี
บุรีรัมย์ ป้า 67 ป่วยความดัน มีก้อนเนื้อที่คอ แต่ต้องหาบเร่ขายของเลี้ยงชีพและลูกพิการ หวังได้เงินหมื่น เฟสสอง มาแบ่งเบา
รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง
‘คลัง’ชงแพ็กเกจใหญ่!กระตุ้นศก.
“คลัง” ฟุ้งเตรียมขนแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ