'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

17 ก.ค. 2567 - นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญยุติการไต่สวนคดียุบพรรคก้าวไกล และนัดลงมติพร้อมฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลมีจุดยืนมาโดยตลอด คือเราคิดว่าการเปิดไต่สวนจะนำข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งพยานหลักฐาน พยานบุคคล เข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การที่จะทำให้คดีนี้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ซึ่งเมื่อวานนี้นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้แถลงข่าวว่า มีความไม่ชอบมาพากลอย่างไรในเรื่องพยาน และเรามีข้อโต้แย้งอย่างไรในปัญหาของพยานหลักฐานที่ได้ตรวจมา ซึ่งเราพบว่ามีกระบวนการในการเร่งรัด และมีความสุ่มเสี่ยงมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการเร่งรัดนี้ก็ทำให้พรรคก้าวไกลไม่มีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

“จากที่เห็นเอกสารข่าวในวันนี้ แน่นอนว่าเราเองคงต้องบอกตรงๆ ว่า การต่อสู้คดีของเราที่ต้องการจะนำพยานหลักฐานเข้าไปสู่กระบวนการการพิจารณาของศาล คงทำไม่ได้ ยอมรับว่า คงทำให้การต่อสู้คดีของเรายากขึ้น อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถบอกได้ว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะเป็นอย่างไร แต่เราหวังว่า ผลตรงนี้จะสร้างความยุติธรรมให้กับพรรคก้าวไกลด้วยเช่นกัน”

ส่วนการนัดหมายในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ คิดว่าเร็วเกินไปในการเตรียมการหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่าคงไม่ได้ไปดูว่าฉุกละหุกหรือไม่ แต่ สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือเรื่องของกระบวนการมากกว่า เนื่องจากพยานปากสำคัญของเราอย่าง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน ที่เราต้องการให้ขึ้นเป็นพยานของพรรคก้าวไกล เป็นพยานปากสำคัญมาก เนื่องจากท่านเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นคิดว่าเนื้อหาสาระแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ พยานปากสำคัญแบบนี้ เราไม่สามารถมองข้ามได้เลย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้เราเองก็อยากให้กระบวนการดำเนินไปในลักษณะที่ฟังกันทุกฝ่าย และรับฟังโดยละเอียด แต่แน่นอนว่า เมื่อกระบวนการไม่เป็นไปอย่างที่เราหวัง ก็คงต้องกลับไปคุยกันในพรรค ซึ่งเข้าใจว่าภายในพรรคเองยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน

"ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ต้องการล้มล้างการปกครอง ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ต้องการเซาะกร่อนบ่อนทำลายอย่างที่มีการกล่าวหา เราเป็นพรรคการเมืองที่เคารพในระบอบประชาธิปไตย ต้องการเห็นประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย ด้วยจุดมุ่งหมายเหล่านี้ เรายืนยันว่า เราไม่ได้ต้องการทำลายการปกครองแน่นอน"

นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องยืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เลย แต่จะต้องเป็นการแก้ไขที่ถูก ต้องซึ่งก็มีกระบวนการและขั้นตอนของมันอยู่ และคำวินิจฉัยของศาลในรอบที่แล้ว ก็คือสั่งให้ยุติการกระทำ ซึ่งจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการกระทำอะไรเพิ่มเติม เชื่อว่าคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ประชาชนทุกคนคงเฝ้ารอ และต้องดูว่าสุดท้ายจะสอดรับกับเหตุผลที่ยอมรับกันได้มากแค่ไหน ทั้งนี้ กระบวนการต่อไปของพรรคภายหลังวันที่ 7 สิงหาคม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไร แต่คิดว่าเดี๋ยวคงจะต้องมีการคุยกัน เดาว่าหัวหน้าพรรคก็คงเพิ่งทราบ จึงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ และเชื่อว่าจะมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง ปมจำกัดสิทธิสมัคร สว.

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัจฉัย กรณีที่ นายเสฐียร ศรีเมือง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ดังนี้ 1.การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​

ไม่ให้ราคา กกต.!ชูศักดิ์บอกส่งเอกสารแจงครอบงำพอขู่หลังปีใหม่รู้นักร้องคนไหนโดนเช็กบิล

'ชูศักดิ์' บอก นายกฯ ไม่จำเป็นต้องไปแจง กกต.เอง ปม 'ทักษิณ' ครอบงำ ชี้มีแต่เรื่องเก่าๆ เผยหลังปีใหม่รูัใครโดนเช็กบิลบ้าง

นายกฯ ยิ้มรับถูกถามศาลรธน. ตีตกคำร้องดิจิทัลวอลเล็ต ย้อนถามสื่อต้องหน้าบึ้งเหรอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ปิ๋วอีกคดี! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องปมแจกเงินดิจิทัลไม่ตรงปก

'ศาล รธน.' มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง 'สนธิญา' ร้อง 'นายกรัฐมนตรี' เปลี่ยนแปลงแนวทางแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เหมือนที่หาเสียงไว้ ระบุไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.พิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ