'เศรษฐา' อ่านโพยยกเหตุุผลขอกู้มาแจก 1.22 แสนล้านบาท

'เศรษฐา' แจงสภาของบเพิ่ม 1.22 แสนล้านบาท โอ่ฐานะการเงินประเทศยังแข็งแกร่ง รับปากใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ

17 ก.ค.2567 - ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 1.22แสนล้านบาท วาระแรก มีนายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โดยนายเศรษฐากล่าวชี้แจงถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิต การดำรงชีพ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค การลงทุนในประเทศ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประมาณการเงินที่พึงได้สำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังนี้ 1.ภาษีและรายได้อื่น เป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ 1 หมื่นล้านบาท 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาท ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวดำเนินการผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คำนึงถึงความสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญปี 2560 และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2-3% จากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ การขยายตัวของการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ระดับสูง ความผันผวนระบบเศรษฐกิจการเงินโลกอยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้าง วันที่ 30 เม.ย.2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท หรือ63.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังอยู่ในกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายที่ต้องไม่เกิน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ส่วนฐานะเงินคงคลัง วันที่ 31 พ.ค.2567 มี 3.94 แสนล้านบาท เงินสำรองระหว่างประเทศ 2.21แสนล้านดอลลาร์ จัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก สำหรับงบร่ายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567วงเงิน 1.22 แสนล้านบาทนั้น จำแนกเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 100% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทดังกล่าว เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิม ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.6 ล้านล้านบาท

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 7.1 แสนล้านบาท ทำให้มีรายจ่ายลงทุน 8.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2566 17.1% คิดเป็น 22.4% ของวงเงินงบประมาณรวม การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ เป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้ประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุดอึ้ง!จุลพันธ์ตีขลุมเสร็จสรรพบอกดิจิทัลฯ สุ่มเสี่ยงแสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย

'จุลพันธ์' แจงเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงิน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ให้มีความเหมาะสมขึ้น ยันปลายปีนี้เงินถึงมือ ปชช.แน่นอน ย้ำไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์

'จุรินทร์' ซัดเต็มๆ ดิจิทัลฯ เป็นแค่น้ำข้าวต้มที่จะสร้างพายุหมุนหนี้ให้ประเทศ

'จุรินทร์' ซัดงบกลางปี 67 กู้มาแจกเงินหมื่นเท่านั้น ฉะโครงการล่าช้าเพราะความโหลยโท่ยของ รบ. ย้ำ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ได้ไม่คุ้มเสีย เข้าทำนองประเทศเสียหายไม่ว่าขอให้ข้าได้หาเสียง

งงตรรกะประหลาด 'อานันท์' มี 'พล.อ.สุนทร' ได้ 'เศรษฐา 'ก็มี 'ทักษิณ' ให้คำปรึกษา

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ และประธานกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส โพสต์ข้อความว่า

ครบองค์ประกอบ! เรืองไกรร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลปกครองตีตกดิจิทัลวอลเล็ต

'เรืองไกร' ขอผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลปกครองวินิจฉัยล้มดิจิทัลวอลเล็ต เหตุเลือกปฏิบัติไม่เสมอภาคขัดรัฐธรรมนูญ