'บิ๊กเกรียง' แอ่นอกรับ 'สีน้ำเงินเข้ม' หนักใจมีชื่อชิง 'ปธ.สภาสูง'

‘พล.อ.เกรียงไกร’ รับหนักใจถูกเสนอชื่อชิงเก้าอี้ประธานสภาสูง ออกตัวหวังทำงาน กมธ.ทหารและความมั่นคง ชี้ ‘ปธ.วุฒิสภา” ต้องรู้กฎหมายมีวุฒิภาวะเป็นที่ยอมรับ

12 ก.ค. 2567 – ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทยอยเดินทางมารับเอกสารรายงานตัว จากที่ผู้มารับไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 173 คน โดยมีผู้ที่มารอตั้งแต่ก่อนเวลา 08.30 น. และหนึ่งในนั้น คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ได้รับเลือก สว. กลุ่ม 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง

พล.อ.เกรียงไกร ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับหนังสือรับรอง ถึงกระแสถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า มีความหนักใจ และต้องขอขอบคุณสื่อที่เสนอว่าตนเป็น 1 ในแคนดิเดตประธานวุฒิสภา แต่ความตั้งใจที่ตนเข้ามาสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา อยากทำงานทางด้านความมั่นคงในเรื่องของการด้านทหาร โดยเฉพาะชายแดนภาคใต้ จะเอาประสบการณ์ องค์ความรู้ที่มีไปแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อถามว่า ในการเลือกประธานวุฒิสภา มีประเด็นเรื่อง สว. กลุ่มสี สู้กับกลุ่มอิสระ มองอย่างไร พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาส ทุกคนเป็นผู้มีองค์ความรู้ หลากหลายกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม เราจะเห็นว่ากระบวนการเลือก สว.ที่ผ่านมา ที่กำหนดมาใน 20 กลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความหลากหลายและมีประสบการณ์ในอาชีพของตนเอง ที่ก้าวเข้ามาดูแลอาชีพของตนเอง ในบริบทของการเป็น สว.

ส่วนการเป็นทหารจะถูกมองอีกมุมหรือไม่นั้น พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ไม่เป็นไร อยากทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยเฉพาะงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ที่นั่นมาอย่างยาวนานตั้งแต่เกิดจนกระทั่งบัดนี้ ไปเป็นเลขาฯ ของกระบวนการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าได้ทำงานตรงนี้ความต่อเนื่องจะเกิดขึ้น ในบริบทของกลุ่มทหารก็ดี หรือกลุ่มต่างๆก็ดี ก็มีเป้าหมายร่วมกัน คือทำอย่างไรให้สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้น แต่ว่ากลยุทธ์ในการเดินกฎหมายแตกต่างกัน ก็ปรับกันได้ เพราะความหลากหลายตรงนี้ คือสิ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการนำไปสู่จุดหมายร่วมกัน ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการ ถ้าคิดคนเดียวก็อยู่ในมุมของตน ถ้าตนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น การที่จะเดินไปสู่จุดหมายได้ก็เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

พล.อ.เกรียงไกร กล่าวถึงการทำงานของ สว.ใหม่ 200 คน ว่า ความหลากหลายใน 20 กลุ่มอาชีพ ทำให้มีการได้เปรียบในเชิงการปฎิบัติของผู้คนที่มีประสบการณ์ สามารถที่จะนำมาสู่กระบวนการกลั่นกรอง การทำงานของสมาชิกวุฒิสภา ส่วนข้อกังขาในเรื่อง สว.จัดตั้งนั้น ต้องขอมองกลับไปว่าการที่เกิดปัญหาการฮั๊ว ตนว่ามีกันทุกกลุ่ม เราก้าวเข้ามาด้วยห้วงเวลาที่จำกัด ไม่มีกระบวนการในการหาเสียง และเราได้ใช้การพูดคุย การรวมกลุ่มกันให้ได้นำเสนอโอกาสของตัวเอง หรือผลงานในช่วงที่ผ่านมา และได้มีการจับกลุ่มคุยกัน ซึ่งเป็นปกติ ในส่วนที่มีมุมมองต่างๆ ก็เป็นเรื่องของมุมมอง ความคิดเห็นที่มีความแตกต่างกันออกไป ก็ไม่เป็นไรให้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สว. กลุ่มเสียงข้างน้อย มองว่า สว. เสียงข้างมาก จะกินรวบตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ไม่แน่เสมอไป ต้องมาดูกันในวันที่เปิดการประชุมว่าบริบทตรงนี้จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็แล้วแต่ในเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตย ในเรื่องของการยอมรับในเสียงส่วนมากในการลงมติ แต่ก็ไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อย ต้องฟังเสียงส่วนน้อยในข้อท้วงติง และแนะนำข้อเสนอ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

ส่วนกรณีที่มี สว. บางคน อยากฟังวิสัยทัศน์ ผู้ชิงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีการเสนอชื่อ พล.อ.เกรียงไกรนั้น พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ก็เห็นว่าวิสัยทัศน์ของทุกคนมีอยู่แล้ว การเลือกประธานวุฒิสภาในกระบวนการที่แสดงวิสัยทัศน์ตามที่เคยปฏิบัติมา ทุกคนที่คาดหวังในจุดนั้น ก็คงมีการเตรียมตัวมา ในส่วนตัวต้องไปดูบริบท ว่าจะนำเสนอให้สมาชิกได้รับทราบอย่างไรในความตั้งใจของเรา แต่อย่างที่เคยบอกไป ส่วนตัวอยากทำหน้าที่ในกรรมาธิการด้านทหารและด้านความมั่นคง

เมื่อถามว่า หากมีการเสนอชื่อให้ลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า แล้วแต่สมาชิกแต่ละคน ในความคิดของตนต่อผู้ที่จะเป็นประธานวุฒิสภา จะต้องมีความรอบรู้ทางด้านกฎหมาย มีวุฒิภาวะ และเป็นที่ยอมรับ ส่วนที่ สว. หลายคน มองว่าประธานวุฒิสภา ควรเป็นนักกฎหมายมากกว่านักบริหารนั้น แล้วแต่มุมมองแต่ละคน แต่ก็ต้องยอมรับในกระบวนการที่ตกลงกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอได้ทั้ง 200 คน เพราะมีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น และใน 200 คน ส่วนตัวยังไม่ทราบว่ามีใครที่เคยเป็นวุฒิสภามาบ้างหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่คงยังไม่คุ้นเคยกับสภา ถือว่าเป็นบทบาทใหม่ ที่เราต้องเรียนรู้กันไป ในกฎระเบียบ ข้อบังคับ และหลักการทำงาน เราต้องศึกษาและเรียนรู้และดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วุฒิสภาสามารถทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎรได้ใช่หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ มีความรู้สึกสำนึกในหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับผิดชอบ ก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง คิดว่าทิศทางน่าจะเป็นไปด้วยดี

เมื่อถามย้ำว่า เสียใจหรือไม่ เนื่องจากว่ามีการนำเสนอข่าวว่า เป็น สว. ที่มีสี พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ตนเป็นสีน้ำเงินเข้มอยู่แล้ว หมายถึงตนมาจากทหาร ยึดสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีวิต ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน และน้ำเงินแถบใหญ่มาก เป็นสีตรงกลางที่สำคัญมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สว.พันธุ์ใหม่' ท้าชนบ้านใหญ่ ชิงเก้าอี้สภาสูง หนุนโควตาสตรี

'นันทนา' ฟุ้ง 'สว.พันธุ์ใหม่' มี 30 คน ลั่นพร้อมส่งชิง 3 เก้าอี้สภาสูง อึกอัก 'บุญส่ง' อยู่ในกลุ่มหรือไม่ เฉไฉตอบสู้บ้านใหญ่สายสีน้ำเงิน ย้ำหนุนโควตาสตรี งานแรกแก้รธน. ที่มาวุฒิสภา

'วัน' ยื่น กกต. ลาขาดเพื่อไทย เปิดใจทั้งน้ำตา คำพูดผู้ใหญ่ต้นเหตุไขก๊อก

'วัน อยู่บำรุง' ยื่นลาออกเพื่อไทยแล้ว เปิดใจน้ำตาคลอ พ้อคำพูดผู้ใหญ่ไม่อาจด้านอยู่ต่อ ย้ำสัมพันธ์ 'บิ๊กแจ๊ส' แน่นแฟ้น​ ลั่นตระกูลอยู่บำรุงไม่ประจบสอพลอใคร พร้อมเปิดทางร่วมงานพรรคใหม่

เคาะแล้ว! ประชุม สว. นัดแรก 23 ก.ค. เลือก 3 เก้าอี้สภาสูง วางตัว 'ปธ.ชั่วคราว'

น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มาแสดงตนแล้ว 198 คน ซึ่งคาดว่าอีก 2คน จะมาแสดงตนในช่วงบ่ายของวันนี้

'รัฐสภา' ไม่มีอำนาจรับรองวุฒิการศึกษา ปัดก้าวล่วงคุณสมบัติ สว.

'อาพัทธ์' โต้ 'สมชัย' รัฐสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบ-รับรองวุฒิการศึกษา เผยต้องคุยฝ่ายกฎหมายก่อนเอาผิดได้หรือไม่ ปัดก้าวล่วงคุณสมบัติ สว.