'พิธา'ชี้ประชาชนไม่ได้ต้องการพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่ต้องการลมใต้ปีก

23 มิ.ย. 2567 – นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า [ บทสรุป #งบ68 : สิ่งที่ประชาชนต้องการอาจไม่ใช่พายุหมุน แต่คือ “ลมใต้ปีก” ]

ปี 2568 ยังคงเป็นปีที่ทั้งยากและเสี่ยงสำหรับประชาชน มีความลำบากทั้งแง่เศรษฐกิจและปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นงบประมาณที่รอบคอบ มีการบริหารความเสี่ยง และมีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ในช่วงหยุดถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมได้ศึกษาวิธีการทำงบประมาณขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงบประมาณของไทย ซึ่งน่ายินดีที่ตอนนี้ OECD รับไทยเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก

สิ่งที่ OECD นำเสนอ “งบประมาณ” คือการเรียงลำดับความสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่จ่ายภาษีกับรัฐที่ใช้ภาษี ทั้งนี้จากการศึกษาการจัดทำงบประมาณของหลายประเทศ ผมประทับใจของนิวซีแลนด์เมื่อปี 2019 ที่ใช้คำว่า the Wellbeing Budget หรือการจัดงบที่ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี พูดถึงความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการลดความเหลื่อมล้ำ การทำงบประมาณที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้น แต่คำนึงถึงความเสี่ยงระยะยาว ไม่ได้คิดแค่การโปรยเงินจากบนลงล่าง แต่จากล่างขึ้นบน

บางครั้งสิ่งที่ประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงต้องการ อาจไม่ใช่พายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่ต้องการลมใต้ปีกให้คนตัวเล็กๆ ผ่านการทำงบประมาณและยุทธศาสตร์อย่างละเอียด มีโครงการที่ใส่ใจ
ผมอยากจะสรุปการอภิปรายงบประมาณปี 68 ออกเป็น 3 วาระด้วยกัน คือ

ประมวล : ภาพรวมของ “รายรับ+การกู้ = รายจ่าย” ของงบประมาณ ด้วยตอนนี้รายได้ของรัฐไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจึงต้องกู้เพิ่ม เพื่อให้พอต่อการจับจ่ายใช้สอย แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมรายได้ของรัฐมีความผันผวนและสัดส่วนการเก็บรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับ GDP จึงต้องถามรัฐบาลว่ามีแผนงานอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ารายได้ในอนาคตจะสามารถนำมาใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องกู้มากขึ้น และ อยากให้รัฐบาลอธิบายแผนรายได้ของประเทศว่าจะทำอย่างไรกับการปฏิรูปภาษี การขยายฐานภาษีที่ทำให้คนตัวเล็กไม่ลำบากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นภาษีแนวดิ่งอย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีแนวราบ รวมถึงการสร้างรายได้ใหม่ๆ เช่นภาษีจากสุราก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลสามารถผลักดันได้เลย หรือภาษีมรดก ภาษีที่ดิน
การที่รายได้รัฐไม่พอแล้วต้องกู้เพิ่ม เสมือนนำเงินจากอนาคตมาใช้ แต่เราจะมั่นใจในอนาคตได้แค่ไหน ดังนั้นควรมีความรอบคอบก่อนกู้ เช่นที่จะกู้กว่า 8 แสนล้านบาท ประชาชนต้องการทราบว่าตกลงต้องคืนเมื่อไร ใครต้องคืน ดอกเบี้ยเท่าไร

ขยาย : เพื่อสะท้อนความสมดุลของการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้งบประมาณกับกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญแน่นอน แต่ต้องแลกด้วยอะไรบ้าง รัฐบาลต้องหาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการลดความเหลื่อมล้ำ การหาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นกับความเสี่ยงระยะยาว และการหาสมดุลระหว่างการกระตุ้นกับประชาชนที่ถูกมองข้าม

การแจกเงินที่จะทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่ เพราะเมื่อดูปัญหาของ GDP ตอนนี้ที่รัฐบาลบอกว่าต้องกระตุ้น ไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 1.5% การบริโภค หรือตัว C โต 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาอยู่ที่การลงทุน (I) การใช้งบประมาณแผ่นดิน (G) และการต่อสู้กับการขาดดุลทางการค้า

ดังนั้นรัฐควรใช้งบประมาณแผ่นดินให้ลงทุนถูกจุด ไม่ว่าจะเป็น ปลดล็อกที่ดิน แหล่งน้ำ และเครื่องจักรทางการเกษตร การลงทุนในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของการท่องเที่ยว และเพื่อที่จะไม่ทำให้คนที่ถูกมองข้าม เพราะด้วยการตัดงบประมาณของรัฐ ทำให้

เด็กเล็ก 0-6 ปี ที่หลุดออกจากระบบ 1.5 ล้านคน

สวัสดิการผู้พิการที่งบหายไปอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ทำให้ผู้พิการราวแสนคนไม่ได้รับความช่วยเหลือ

งบดูแลไฟป่าของท้องถิ่น ถูกตัดไปพันกว่าล้านบาท ทำให้ป่า 7.5 ล้านไร่ ไม่ได้รับการดูแล

เสนอแนะ ขอให้ฟัง OECD ที่เสนอมาทั้งหมด 10 ข้อ เป็น Best practice ของการจัดทำงบประมาณ ผมขอเน้นเพียง 3 ข้อคือ ข้อ 5 การมีส่วนร่วมของรัฐสภาและสาธารณะ ต้องมี Gender Budgeting และ Green Budgeting ซึ่งจะทำให้คนชายขอบไม่ถูกมองข้าม ข้อ 9 คือความเสี่ยงทางการคลังและความยั่งยืนระยะยาว และข้อ 10 การประกันคุณภาพและการตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องความโปร่งใส
ทั้งนี้ ขอเสนอ 5 สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน
(1) ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนรายได้กับแผนหนี้ของประเทศ
(2) แผนการปฏิรูปภาษีอย่างเป็นธรรม
(3) แผนการช่วยเหลือประชาชนที่งบประมาณไม่ครอบคลุมในครั้งนี้ เช่นประชาชนที่เสียภาษี VAT อาจอยากถามว่าเขาอยู่ตรงไหนของแผนงบประมาณนี้
(4) การเปิดเผยกระบวนการพิจารณางบต่อสาธารณะ และ
(5) การปรับกระบวนการงบประมาณตามมาตรฐาน OECD

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดัชนีการเมืองไทยร่วง! ปากท้องฉุดเรตติ้งรัฐบาล 'เศรษฐา' ตามหลัง 'พิธา'

วนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,367 คน

'พิธา' รับบทเอฟซี 'ลิซ่า' ยกเป็นผู้ทำคุณูปการให้ชาติ อัด 'ซอฟต์พาวเวอร์' ไม่ใช่การยัดเยียด

'พิธา' รับบทเอฟซีภูมิใจ 'ลิซ่า' ปล่อย MV บอก 'ทำเกิน' ไม่ใช่แค่ทำถึง ยกเป็นผู้ทำคุณูปการให้ชาติ ย้ำ 'ซอฟต์พาวเวอร์' ไม่ใช่การยัดเยียด-ประดิษฐ์ประดอย

ผลสำรวจนิด้าโพลชี้ ประชาชนหนุน 'พิธา' นั่งนายก ส่วน 'เศรษฐา' มาเป็นอันดับ 3

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง

‘พิธา’ แสลงหู ‘สว.สีส้ม’ ขออย่าป้ายสีเติมนามสกุลให้ใคร

‘พิธา’ ขออย่าป้ายสีเติมนามสกุลให้ใคร หลังเลือก สว. ผุดคำว่า ‘สว.สีส้ม’ เชื่อส้มในที่นี้คือ ‘จุดยืนประชาธิปไตย’ ย้ำหลักกฎหมายพรรคการเมืองเอี่ยวไม่ได้ มองจะได้สภาสูงที่มีคุณภาพ แม้ไม่ใช่เลือกตั้งทางตรง

นายกโซเชียล สอน ‘นายกฯเศรษฐา’ พูดเรื่องท่องเที่ยวต้องดูทั้งดีมานด์-ซัพพลาย

‘พิธา’แนะนายกฯ ดูแลสาธารณูปโภคนักท่องเที่ยวให้พร้อม ก่อนจัดคอนเสิร์ตระดับโลกที่พัทยา หวั่นอุตสาหกรรมทำสะดุด