เศรษฐกิจปีเสือ-ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น รัฐบาลต้องเลิกกินบุญเก่า ไคลแมกซ์การเมือง อยู่ที่กลางปีนี้

ผ่านสัปดาห์แรกของปี 2565 ไปแล้ว โดยเศรษฐกิจประเทศไทยปีนี้ ถูกประเมินและวิเคราะห์จากหลายฝ่ายว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่อาจยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จนส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยเช่นเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว -การชะลอตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น ขณะที่เรื่องทางการเมือง ก็ถูกคาดหมายไว้เช่นกันว่าจะเป็นปีที่การเมืองร้อนแรงตลอดทั้งปีเพราะไทม์ไลน์การเมืองตลอดทั้งปีมีประเด็นร้อนแรงให้ต้องลุ้น-ติดตามต่อเนื่อง

มุมวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองในปีนี้ จากแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่หลายฝ่ายคาดการว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปที่จะมีขึ้นในอนาคต โดย“พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงานและรองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ”ประเมินภาพรวมไว้ว่า เศรษฐกิจไทยปี2565 ดูสภาพการณ์แล้วเรียกได้ว่าหนักหนาสาหัส ผมอยากใช้คำนี้เลยคือ  “ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น“เหตุผลเพราะว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจมันไม่มีจริง โดยการที่คนในรัฐบาลบอกว่าปี2565 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว 4 เปอร์เซนต์กับปี 2564 ที่เศรษฐกิจโตไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ รวมกันแล้วยังไม่เท่ากับเศรษฐกิจที่ตกลงมาจากเมื่อปี 2563 ที่ติดลบ 6.1 เปอร์เซนต์ ดังนั้นที่รัฐบาลบอกว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโต 4 เปอร์เซนต์จึงไม่ได้เรียกว่าฟื้นเพราะเมื่อตัวเลขยังไม่ถึงจุดเดิมแล้วจะบอกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างไร ถึงบอกว่า”ฟื้นไม่มี“เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ยังบอกว่าไม่ถึง 4 เปอร์เซนต์ อย่างเก่งก็แค่ 3.4 เปอร์เซนต์ เหตุผลเพราะมีปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเข้ามา จากที่ธปท.ประเมิน ทำให้อาจเหลือแค่  3 เปอร์เซนต์ด้วยซ้ำ ทำให้หากเป็น 3 เปอร์เซนต์ บวกกับของปี 2564 ที่ 1 เปอร์เซนต์รวมกันแล้วก็เท่ากับ 4 เปอร์เซนต์แต่เศรษฐกิจไทยตกจากปี 2563 มา6.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นแบบนี้จะเรียกว่าฟื้นตัวได้อย่างไร

…คนที่ไม่เข้าใจก็คิดไปว่าเศรษฐกิจจะเริ่มดีดตัวขึ้น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยปี 2563 เศรษฐกิจติดลบ 6.1 เปอร์เซนต์ ส่วนปี 2564 อาจบวกขึ้นมาซึ่งไม่รู้ว่าถึง 1 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ธปท.บอกว่าอาจเหลือแค่ 0.9 ด้วยซ้ำ ส่วนปี 2565 ดูแล้วอย่างเก่งก็คงแค่ประมาณ3 เปอร์เซนต์หรือ 3 เปอร์เซนต์กว่า ถามว่าสามปีที่เราถอยหลังและหยุดนิ่ง ภาพใหญ่ของประเทศมันเหมือนกับไม่ได้ไปไหน เราหยุดนิ่งขณะที่ประเทศอื่นวิ่งไปไกล อย่างที่สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจของเขาอาจติดลบ คือ ปี 2563 เขาติดลบ 3.5 เปอร์เซนต์ แต่ปี 2564 สหรัฐฯ เขาบวกขึ้นมาประมาณ 5.5 เปอร์เซนต์ หรือของจีนปี 2563 ไม่ติดลบ แต่บวกอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซนต์ แต่ปี 2564 จีนบวกขึ้นมา 8 เปอร์เซนต์ แม้กระทั่งเวียดนาม ปี 2563 เข้าใจบวกอยู่ที่ประมาณ 2.9 เปอร์เซนต์ ปี 2564 ก็บวกอีกประมาณ 4 เปอร์เซนต์ เท่ากับโตประมาณ 6.9 เปอร์เซนต์

ขณะที่ของไทยปีนี้ 2565 ดูแล้วยังไม่ไปไหน ยังไม่พ้นขีดเดิม เพราะจริงๆ ก่อนเจอวิกฤตโควิดก็แย่อยู่แล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2562 โตแค่ 2.4 เปอร์เซนต์ ที่แสดงว่าในช่วงสามปีรายได้ของประเทศไม่ฟื้น มีแต่เศรษฐีที่รวย แต่คนจนกลับยิ่งจน เพราะรายได้ไม่เพิ่ม แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น หนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นมันเพิ่มทุกระดับตั้งแต่หนี้สาธารณะของประเทศ ที่ทะลุ 60 กว่าเปอร์เซนต์ จนต้องขยายเพดานหนี้ จาก 60 เป็น 70 เปอร์เซนต์ เช่นเดียวกับหนี้ครัวเรือน ก็พุ่งสูงขึ้น รวมถึงหนี้ทางภาคธุรกิจที่ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบกับการดำเนินกิจการ ตอนนี้ก็แค่พยายามจะใช้มาตรการผ่อนผันเอาไว้เพราะหากไม่ทำหนี้เสียจะพุ่งขึ้นอีกจำนวนมาก

…ปัญหาทางเศรษฐกิจข้างต้น หากถามว่าแล้วรัฐบาลมีวิธีการในการแก้ปัญหาอย่างไร พบว่าไม่มี เพราะนับแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เคยทำให้หนี้ลดลงได้เลย มีแต่เพิ่มขึ้นตลอด ประเทศแย่ลง-การเจริญเติบโตลดน้อยลงตลอด เจ็ดปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 ที่พลเอกประยุทธ์เข้ามา  เศรษฐกิจเราโตค่าเฉลี่ยแค่เปอร์เซนต์กว่า หากรัฐบาลไม่มีวิธีคิดในการเพิ่มรายได้ เพิ่มจีดีพี อีกทั้งทิศทางของประเทศไม่มีความชัดเจน เราไม่มีทางจะแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย ผมถึงบอกว่า”ฟื้นไม่มี” เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นได้ไม่ถึงกับที่ตกลงไป หนี้สินประเทศมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะกลบหนี้เหล่านี้อย่างไร มันจึงไม่ฟื้นมีแต่จะแย่ลงไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่ผมเคยพูดเสมอว่ามันเหมือนกับหายนะแบบ slow motion ซึ่งไม่ใช่ผมพูดคนเดียว สื่อต่างประเทศ ก็พูดเรื่องนี้ อย่างสื่อ NikkeiAsia เขียนบทความเรื่องนี้โดยเฉพาะ ว่าไทยยังไม่มีทิศทางว่าจะเติบโตอย่างไร ประเทศยังวุ่นวายและการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำมาก

“พิชัย-รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ“วิเคราะห์ไว้อีกว่า ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตได้เต็มที่ ไม่น่าจะเกิน 3 เปอร์เซนต์กว่า ไม่มีทางถึง 4 เปอร์เซนต์แม้รัฐบาลจะพยายามขายฝัน โดยปัญหาสำคัญในปีนี้ ก็คือเรื่อง “เงินเฟ้อ-ปัญหาหนี้” ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าปี 2563 เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากโควิดกันหมด แต่ปี 2564 เกือบทุกประเทศต่างเริ่มกลับมาฟื้นกันหมด ยกเว้นไทย อันนี้คือปัญหา โดยประเทศอื่น เวลาเจอปัญหาโควิด เขาก็แก้ปัญหาโควิดแต่ทำเรื่องอื่นควบคู่กันไปด้วยทำให้เศรษฐกิจประเทศอื่นก็กลับมาเริ่มดี ยืนอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง แต่ของไทยเราคือ เราไปเน้นแต่เรื่องโควิดอย่างเดียวเลย โดยไม่มีวิธีคิดว่าแล้วประเทศจะเดินต่อไปอย่างไร

…อย่าง”เวียดนาม“ที่แม้ช่วงหลังก็เจอปัญหาโควิดแรงเหมือนกันแต่ประเทศเวียดนามช่วงหลังกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เช่นอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือยี่ห้อชั้นนำของโลก -โทรทัศน์จอแบน จนกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าไฮเทค ไทยเราสูญเสียการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปให้เวียดนามหมดแล้ว หรือ”ลาว”กลายเป็นศูนย์กลางในการขนส่งทางรางของอาเซียนไปแล้ว มีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเขาก็เริ่มพร้อมไทยแต่เขาเสร็จก่อนเรา เรามีแค่ 3.5 กิโลฯ  ทั้งที่เราก็มีเงินมีศักยภาพมากกว่าลาว แต่ข้อแตกต่างคือผู้บริหารประเทศ ที่มีไอเดียต่างจากผู้นำลาว ทำให้หลังจากนี้ลาวกลายเป็นศูนย์กลางในการขนส่งทางราง เพราะต่อไปก็จะไปเชื่อมต่อกัมพูชา-เวียดนาม ไปถึงจีน จนตอนนี้นักลงทุนไทยไปลงทุนที่ลาวกันจำนวนมาก มีการสร้างเขตอุตสาหกรรมเป็นแสนไร่ เพราะเราช้าทุกอย่าง ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก

…หรือเรื่อง รถยนต์ จากที่เราเคยเป็นแหล่งผลิต แต่ตอนนี้ศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์คืออินโดนีเซีย ที่เป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มากกว่าไทยเยอะ มีบริษัทประเภทยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดหลายพันล้านหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  เช่น Gojekทำธุรกิจเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นขนส่ง-Traveloka ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การจองตั๋ว,ที่พัก ทั้งที่คนมาเที่ยวเมืองไทยเยอะแยะแต่ไม่มีเว็บไซด์หรือแอพพลิเคชั่นท่องเที่ยวแบบนี้ ซึ่ง Traveloka มีมูลค่าสองพันถึงสามพันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีอีกหลายแบนด์ จนทำให้ประเทศอินโดนีเซียในทางธุรกิจมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยที่ไม่ได้สร้างอะไรเพิ่มเติม แต่เขาสร้างเรื่อง”ความฉลาด“สร้างธุรกิจที่มีอยู่แล้วทำเป็นยูนิคอร์น-เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปได้

“ประเทศเราต้องคิดแบบนี้หากคิดแบบนี้ไม่ได้ประเทศก็เติบโตไม่ได้ เราต้องทำให้คนของประเทศฉลาดในการสร้างธุรกิจใหม่ -ฉลาดในการระดมทุนจากต่างประเทศมาเพื่อสร้างธุรกิจให้ขยายได้ อย่างอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิง จำกัด ก็ได้ทุนจาก SoftBank Group Corp.ของญี่ปุ่น เรื่องการสร้างเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือสิ่งที่ไทยขาด ยังไม่มีก็ต้องเร่งมาดูกันว่าจะทำแก้ไขอย่างไร”

8 ปัญหาหลักปี2565

ฉุดรั้งเศรษฐกิจฟื้นไม่มี

 “พิชัย-แกนนำพรรคเพื่อไทย“ย้ำว่า จากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจข้างต้น ที่ขณะนี้ความสามารถในการแข่งขันของเรากำลังหายไปเรื่อยๆ ความเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทยเรากำลังเสื่อมถอย ปัญหาทางเศรษฐกิจที่พลเอกประยุทธ์จะต้องเผชิญ และเตรียมรับมือจึงมองว่าจะมีด้วยกัน  8 ปัญหาหลัก ดังนี้

1. ปัญหาการระบาดของไวรัสโอมิครอน และ โอกาสที่จะเกิดซูนามิของไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์เดลต้าพร้อมกัน ตามคำเตือนขององค์กรอนามัยโลกโดยหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยหวังว่าวิกฤตไวรัสโควิดจะจบกลางปีนี้จริงตามการคาดหมาย มิเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก

2. ปัญหาเงินเฟ้อของโลกซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงไทย โดยเฉพาะเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากจะเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็วแล้ว ยังเกิดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาสูง โดยเฉพาะชิป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์   อีกทั้งระบบการขนส่งขาดแคลน และ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลกระทบเพิ่มภาระต่อคนไทยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่เพิ่ม

3. ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มสหรัฐอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีนี้และอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น แต่ไทยคงต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ซึ่งจะทำให้หนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นมาก มีภาระต้นทุนทางการเงินมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น

4. ปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คือการขาดดุลงบประมาณ และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องจากปีที่แล้ว ที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากทำให้ขาดดุลงบประมาณสูง อีกทั้งยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แม้การส่งออกจะเพิ่มสูงแต่ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะการนำเข้าก็สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะยอดเงินการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นมาก โดยใน 11 เดือนไทยต้องจ่ายค่านำเข้าน้ำมันแพงมากขึ้นถึง 412,186 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 54.9% จากปีที่แล้ว อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวขาดหายไปเกือบหมด ดังนั้น ไทยจึงมีรายจ่ายในเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายรับทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากต้องปิดรับนักท่องเที่ยวนานปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเป็นปัญหาหนัก

5. ปัญหาการจัดทำงบประมาณ ทั้งนี้ประเทศไทยต้องจัดทำงบประมาณลดลงในปี 2565 เนื่องจากเก็บรายได้ได้น้อยลง ซึ่งถือเป็นความเสื่อมถอยของประเทศที่ควรจะต้องจัดงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี การจัดงบประมาณในปี 2566 ก็จะเป็นปัญหาอีก เพราะการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 พลาดเป้าไปถึง 3.07 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการถดถอยของประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลจะประสบปัญหาการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเพราะแม้จะเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70% แต่ก็อาจจะยังไม่พอ ถ้ารัฐบาลยังหารายได้ไม่เป็น ใช้งบประมาณแล้วเพิ่มจีดีพีไม่ได้ คิดได้แค่การกู้เงินมาแจกเท่านั้น นอกจากนี้ในภาวะที่คนไทยลำบากกันอย่างมากทั้งประเทศ แต่พลเอกประยุทธ์ยังคิดจะซื้อเครื่องบินรบ F35 กันอีก เหมือนไม่สนใจความทุกข์ของประชาชน

6. ปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูง ทั้งหนี้ภาครัฐ และ หนี้ภาคเอกชน เหมือนที่เตือนมาตลอดและบอกเสมอว่าไทยจะเจอกับ “ประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม” โดยล่าสุดหนี้สาธารณะของไทยพุ่งขึ้นถึง 9.62 ล้านล้านบาท โดยอีกไม่นานคงจะทะลุ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนทะลุ 14.35 ล้านล้านบาท ซึ่งพลเอกประยุทธ์ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะขาดแนวคิด ไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้

7. ปัญหาการไร้ทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยประเทศไทยภายใต้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ยังหาตัวเองไม่พบว่าจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวในอนาคตต่อในด้านไหน อะไรจะเป็นเครื่องจักรของการเจริญเติบโต (Growth Engines)ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสื่อมลงเรื่อยๆ ยิ่งนานไปไทยจะถูกประเทศอื่นแซงไปและแย่งธุรกิจไป

8. ปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยล่าสุดตัวเลขคนว่างงานมีถึง 8.7 แสนคน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งความจริงอาจจะว่างงานสูงมากกว่านี้มาก โดยอาจถึงกว่าหลายล้านคน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำมาตลอด การจ้างงานจึงมีน้อย พลเอกประยุทธ์สร้างงานน้อยมากในตลอด 7 ปี อีกทั้ง บริษัทห้างร้านขาดทุนหนักต้องปิดตัวกันมาก การแจกเงินไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน

ทั้ง 8 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากและมีความเชื่อมโยงกัน และ ต้องเข้าใจและหาทางแก้ไขและรับมือไปพร้อมกัน

ทิศทางเศรษฐกิจต้องชัด

รัฐบาลต้องเลิกกินบุญเก่า

เมื่อถามถึงตัวเลขการส่งออกของไทยที่ปี 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าโตขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์เป็นเพราะเหตุใด “พิชัย-อดีตรมว.พลังงาน”ให้มุมมองว่า ก่อนหน้านี้การส่งออกของไทยเในรอบหลายปีที่ผ่านมาต่ำมาก ขยายตัวแค่ปีละ 1-2 เปอร์เซนต์ ปี 2563 ติดลบไป 5-6 เปอร์เซนต์ แต่ปี 2564 ที่การส่งออกโตก็เพราะเศรษฐกิจโลกดี เศรษฐกิจฟื้น ทำให้การส่งออกเลยดี ซึ่งการส่งออกดียิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าโลกไปแล้วแต่ไทยเรายังไม่ไปไหน เพราะเรายังเผชิญปัญหาการขาดดุลซ้อน หรือTwin Deficits คือขาดดุลสองด้าน ซึ่งหากประเทศใดมีลักษณะดังกล่าวถือว่ามีปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรง โดยการขาดดุลซ้อนก็คือการขาดดุลด้านการคลังซึ่งเราขาดดุลมาก ผ่านมาตราการต่าง ๆเช่นการออกพระราชกำหนดเงินกู้ช่วยโควิดหนึ่งล้านล้านบาท -การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบขาดดุลหกแสนล้านบาท -ปัญหาการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐไม่เข้าเป้าอีกร่วมสามแสนล้านบาท เลยส่งผลด้านอื่นๆ ตามมาเช่นค่าเงินบาทอ่อน เพราะเราขาดดุลทางการคลังและขาดดุลบัญชีเงินสะพัด คือเงินตราต่างประเทศไหลออกมากกว่าเงินตราต่างประเทศไหลเข้า เพราะขนาดส่งออกโตสิบกว่าเปอร์เซนต์แต่ยังขาดดุลบัญชีเงินสะพัด ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร กับการที่ประเทศที่มีการส่งออกโตสิบกว่าเปอร์เซนต์ซึ่งโดยหลักดุลบัญชีเงินสะพัดต้องเป็นบวกไม่ใช่ติดลบ ซึ่งสาเหตุมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศคิดเป็น 10-20 เปอร์เซนต์ของจีดีพีของแต่ละปี เมื่อนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเราหายไปในช่วงโควิดเลยทำให้เราติดลบ

รัฐบาลไม่ควรมาดีใจว่าส่งออกสิบกว่าเปอร์เซนต์แต่ต้องดูภาพรวมว่าดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ผมมองว่าการส่งออกในปีนี้ 2565 ก็คงไม่โตเหมือนปี 2564 อาจจะเหลือเต็มที่แค่ 4-5 เปอร์เซนต์เพราะว่าที่มันโตเกิดจากหลายปีที่ผ่านมามันติดลบเช่นปี 2563 ติดลบ 5-6 เปอร์เซนต์ปี 2564 ก็เลยrebound ขึ้นมาเลยอาจดูเหมือนดี แต่มันไม่ได้มีพลังที่จะก้าวต่อไปได้มาก เพราะเป็นการฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ ขณะนี้หลายประเทศเพื่อนบ้านชิงตลาดอื่นๆ ไปแล้วเช่นการผลิตรถยนต์-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ที่ถูกอินโดนีเซีย-เวียดนาม เป็นผู้นำการผลิต ส่วนการขนส่งเรื่อง โลจิสติกส์ ลาวก็กำลังจะแซงหน้าไทย แล้วอะไรคือทิศทาง-อนาคตของไทยเรา

“ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันคือยังหาจุดที่เป็นอนาคตของประเทศไทยไม่ได้ รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าอะไรคืออนาคตของไทย ซึ่งคำตอบก็คือไม่มี เรื่องนี้นักธุรกิจของประเทศไทยก็คิดเช่นนี้กันจำนวนมากว่าอะไรคืออนาคตของประเทศไทย ที่มันไม่มี

 สิ่งที่เป็นอยู่ รัฐบาลกำลังกินบุญเก่า อย่างเรื่องการผลิตเพื่อส่งออก ถามว่าหลังจากนี้จะต่อยอดการผลิตอะไรต่อไปอย่างรถยนต์ต่อไปก็จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่ของเรายังไม่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แล้วเราจะเอาอะไรไปแข่งกับประเทศอื่นเขา”  

 ..ขณะที่เรื่อง”การลงทุน“เอง ปัญหาก็คือ มีการลงทุนในประเทศไทยค่อนข้างน้อย คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าลงทุนในไทยและคนไทยลงทุนในต่างประเทศ ก็มากกว่าต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย คืออาจมีการขอบีโอไอแต่ว่าไม่ได้มีการลงทุนจริง บอกว่าลงทุนห้าแสนล้านบาท เจ็ดแสนล้านบาท แต่ลงทุนจริง ๆ ไม่มาก อย่างผมคุยกับนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเขาก็บอกว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะลงทุนเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อขยายแต่ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม เพราะเขาห่วงเรื่องประเทศไทยจะมีปัญหาทางการเมืองในอนาคต มีconflict เยอะ  เลยไม่อยากเสี่ยง เลยไปลงทุนประเทศอื่นเช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย เมื่อหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศแทบไม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เขาจะกลับมาลงทุนในไทยในปี 2565 เพราะปัญหาเดิมของเราก็ยังคงมีอยู่เช่นปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ

…. อย่างโครงการอีอีซี ผมก็มองว่าค่อนข้างล้มเหลว ลงทุนเยอะ แต่ไม่ได้เงินเข้ามามาก เพราะรูปแบบการลงทุนของโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โลกสมัยใหม่จะลงทุนในส่วนของระบบการผลิตแบบ AI (Artificial Intelligence) หรือ หุ่นยนต์ ที่ใช้คนน้อยและผลิตเฉพาะทาง เห็นได้จากนักธุรกิจที่มีชือเสียงในปัจจุบันมีสินทรัพย์จำนวนมาก ก็จะเป็นนักธุรกิจในสายที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ธุรกิจดิจิตอล-ระบบออนไลน์ เทรนด์โลกที่ไปในทาง Metaverse หรือ Cryptocurrency  เป็นเรื่องที่ผู้นำรัฐบาลต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะแข่งขันในเวทีโลกไม่ได้ หากพลเอกประยุทธ์ยังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม จะไม่สามารถดึงดูดความเชื่อถือให้คนมาลงทุนได้ เมื่อยังดึงความน่าเชื่อถือให้กลับคืนมาไม่ได้ มันก็ยากที่จะทำให้คนเข้ามาลงทุน นอกจากต้องเปลี่ยนรัฐบาล การคิดใหม่ทำใหม่ต้องมองภาพรวมประเทศให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องทิศทางของประเทศไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะทิศทางด้านเศรษฐกิจเพราะทุกวันนี้ยังมองไม่เห็น รัฐบาลต้องทำทางออกให้กับประเทศเช่น จะหารายได้ในอนาคตเข้าประเทศอย่างไร จะสร้างความมั่นใจทางเศรษฐกิจและการลงทุนให้กลับคืนมาอย่างไร จะมีการผลักดันให้มีธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทยอย่างไร เพราะตอนนี้มองดูแล้วมีแต่ปัญหา แต่รัฐบาลไม่มีการหาทางออกเตรียมไว้

เมื่อถามถึงกรณีโครงการที่รัฐบาลใช้ในระยะหลังเช่น “คนละครึ่่ง” หรือ”ช้อปดีมีคืน”และอีกหลายโครงการและมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป มองเรื่องนี้อย่างไร “พิชัย-แกนนำทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย”ให้ความเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้นโยบายลักษณะดังกล่าวมาตลอด แต่ถามว่าเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ ก็ยังไม่ดีขึ้นผมบอกมาตลอดว่าการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหา หากจำเป็นก็ต้องทำ แต่จะใช้เป็นนโยบายหลักไม่ได้ เพราะหากทุกประเทศทั่วโลกแจกเงินแล้วประเทศเจริญ เขาแจกเงินให้ประชาชนกันทั้งโลกไม่ต้องเก็บภาษีประชาชน แต่ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะต้องเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ หากคิดแต่แจกเงินอย่างเดียวแบบนี้ไม่ได้ ก็รอวันเจ๊ง ตอนนี้จกมากี่ปีแล้ว เมื่อก่อนไม่มีแบบนี้ ตอนนี้มีทั้งบัตรคนจน-คนละครึ่ง–ช้อปดีมีคืน ซึ่งโครงการแบบนี้มันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้แต่แค่ชั่วคราว มันไม่ได้ช่วยทำให้คนมีรายได้ถาวร และคนที่ไปช่วยก็ไม่ใช่คนที่มีความต้องการอย่างแท้จริง เพราะเวลานี้คนจน-คนมีรายได้น้อยเยอะมาก แล้วเขาจะเอาเงินที่ไปไปเข้าร่วมโครงการอย่างช้อปดีมีคืน คนจนไม่ได้ประโยชน์  แต่เป็นการไปช่วยคนชั้นกลาง รักษาฐานเสียง รัฐบาลเอาเงินมาคืนให้ แต่ภาพรวมประโยชน์มันไม่มี เพราะเงินใช้ไปก็จบไปไม่ได้นำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศ และหนี้ของประเทศอย่างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตลอด เอาแต่ไปเชื่อเจ้าสัว เจ้าของห้างร้านที่ได้ประโยชน์แล้วแจกไปเรื่อยๆ โดยแจกแล้วไม่ตรงจุดในการแก้ปัญหา แต่ควรไปคิดเรื่องอื่นดีกว่าเช่นการสร้างงาน -การทำให้คนเลือกงานที่ตัวเองอยากทำได้  ถ้ารัฐบาลยังไม่ปรับวิธีคิดในการบริหารประเทศก็น่าเป็นห่วง เพราะหากเราไม่มีทุนสำรองต่างประเทศ ป่านนี้เราคงประสบปัญหาหนัก แต่เพราะเรามีบุญเก่า ทุนสำรองระหว่างต่างประเทศที่ประเทศสะสมมาตั้งแต่ยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จนเรามีทุนสำรองสองแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ  ที่ทำให้เหมือนกับเรายังมีเครดิตดี รัฐบาลยังดีอยู่ แต่ปัญหาคือรัฐบาลก็ไปเชื่อแบบนั้น เลยไม่คิดปรับปรุงอะไร เหมือนกับเศรษฐีกอดเงินไว้โดยไม่นำเงินไปลงทุนไม่ทำอะไร แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกวันแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเจ๊ง

2565 ปีเสือดุ

การเมืองรุมเร้า รัฐบาลรอดยาก

 “พิชัย-รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ”ประเมินสถานการณ์การเมืองในปีนี้ว่า ปี 2565 รัฐบาลคงไปรอดได้ยาก ถึงบอกว่า ปีนี้ “ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น” เพราะนอกจากเรื่องปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ในส่วนของเรื่องการเมือง จะมีกรณีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐจะโผล่ขึ้นมาจนนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่และปีนี้ รัฐบาลก็จะต้องนำร่างพรบ.การเงินเช่นร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ เข้าสู่ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร  ที่ยังไม่แน่ใจว่าสภาฯจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะปกติตอนนี้แค่ประชุมสภาฯธรรมดาก็เจอปัญหาองค์ประชุมล่มบ่อยครั้ง รวมถึงจะมีการส่งตีความปัญหาข้อกฎหมายเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของพลเอกประยุทธ์ที่ฝ่ายค้านมองว่าไม่สามารถอยู่ได้เกินสิงหาคมปีนี้

“ทุกปัญหาต่างประดังเข้ามาในปีนี้ ทำให้โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ ดูแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นสูง มองว่าพลเอกประยุทธ์ไม่น่าจะสามารถลากรัฐบาลต่อไปอีกได้ มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงกลางปีนี้”พิชัย-แกนนำเพื่อไทย ประเมินไว้

..กรณีประเด็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของพลเอกประยุทธ์ เท่าที่ทราบข้อมูลมาก็มีอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยบอกกับผมตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้วว่ากรรมการร่างรธน.ตั้งใจเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 วรรค 4 ที่ระบุนายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี เพื่อไม่ให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯเกินแปดปี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขาตั้งใจเขียน โดยมี”ภาคผนวก“เขียนไว้ชัดเจนว่าให้หมายถึงรัฐบาลชุดนี้ด้วย(รัฐบาลคสช.) คนในรัฐบาลอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯถึงบอกว่าให้ใกล้ถึงช่วงดังกล่าวค่อยหารือกัน การที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องไปดูว่า อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเวลานั้นคิดแบบนี้ใช่หรือไม่

“พิชัย-แกนนำพรรคเพื่อไทย”บอกว่าหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำคือต้องสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาให้ได้ และต้องมีนโยบายที่ต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน การฟื้นเศรษฐกิจมันไม่ใช่จะทำทีละเรื่อง ไม่ใช่แบบรัฐบาลที่ถูกด่าเมื่อไหร่ถึงค่อยคิดจะทำ แต่ต้องคิดไปล่วงหน้าแล้วว่าโลกจะเป็นอย่างไรต่อไปแล้วจะมีนโยบายอย่างไรที่จะทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยต้องออกนโยบายมาเป็นชุดๆเช่น จะแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรอย่างไร -เรื่องนโยบายการสร้างเศรษฐกิจใหม่-การแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน-แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ที่เราต้องแก้ พรรคเพื่อไทยได้เตรียมและได้คิดไว้แล้ว โดยเมื่อถึงตอนเลือกตั้ง พรรคจะนำเสนอให้เห็นชัดเจนว่าพรรคเห็นปัญหา เรารู้ปัญหา และจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่ต้องเก็บไว้ก่อน ยังบอกตอนนี้ไม่ได้

“โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็ว หากพลเอกประยุทธ์ยังยื้อต่อไปนาน หรือยื้อยุด รับรองได้มันจะพังและมันจะแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อไทยพร้อมจะเข้าไปแก้ปัญหา ถ้าแก้เร็ว เศรษฐกิจก็ฟื้นเร็ว เข้าไปแก้ช้า เศรษฐกิจก็ฟื้นช้า ซึ่งหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ชีวิตประชาชนจะดีขึ้นแน่นอน แต่ต้องใช้เวลา เพราะมันเจ๊งมานาน ต้องบอกตรงๆ ไม่ใช่ว่าจะทันที แต่เชื่อจะทำได้เร็ว หากเราทำให้คนมั่นใจได้ นักลงทุนต่างๆ ก็จะกลับเข้ามา ธุรกิจจะกลับมาเจริญและก้าวหน้าต่อไปได้ ดูแล้วคงใช้เวลาไม่นานในการทำให้ฟื้นแต่ต้องเก่งและฉลาดพอ โดยต้องตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี”

นโยบายเศรษฐกิจของพรรคจะเป็นจุดแข็งที่สุด ที่จะเน้นเรื่องแนวคิดการปรับประเทศ การเปลี่ยนกรอบคิดทางเศรษฐกิจโดยจะทำตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำทั้งหมด เรื่องแรกที่ต้องทำคือการเปลี่ยนระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ให้เป็นอุปสรรค เพราะปัจจุบันปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งของประเทศคือเราเป็นรัฐราชการไปแล้ว โดยปรับกรอบคิดว่าระบบราชการต้องดูแลประชาชนและมีหน้าที่ทำให้ประเทศเจริญ โดยนำระบบ digital เข้ามาใช้ในระบบราชการให้มากขึ้น ต้องเปลี่ยนระบบ ลดขนาดราชการ เพิ่มประสิทธิภาพ     

..การนำเสนอจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ดูได้ไม่ยาก เช่นไปดูย้อนหลังก่อนหน้านี้ได้เลยว่าเรานำเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจถูกต้องหรือไม่ เรามองเศรษฐกิจประเทศขาดไหม และในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย มาเป็นพรรคพลังประชาชนจนถึงพรรคเพื่อไทย เราไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวังในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเศรษฐกิจเราทำได้ถูกต้องหมด เพื่อไทยจึงเชื่อว่าหากพรรคได้เข้าไปเป็นรัฐบาลจะบริหารด้านเศรษฐกิจให้ดีได้ เพราะหลักคิดเรามี เราตามโลกทัน เรามีคนรุ่นใหม่หลายคนที่เก่งๆ อยู่ในพรรค

 “หากพรุ่งนี้มีการเลือกตั้ง เพื่อไทยก็พร้อมทันที พรรคพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ และการเข้าไปดำเนินการ เรามีทั้งบุคลากร วิธีคิด ส่วนผลการเลือกตั้ง จะแลนด์สไลด์หรือไม่ ก็อยู่ที่ประชาชน แต่หากมองแบบวิเคราะห์ก็คิดว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสมากที่จะชนะการเลือกตั้งโดยได้ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ในสภาฯ “รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวปิดท้าย

                                                                   โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

                                                                   วิจักรพันธุ์ หาญลำยวง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน

'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%

พณ. ชวนนักท่องเที่ยว ชม ชิม ช็อปสินค้าช่วงเทศกาลปีใหม่

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการ

'พิชัย' ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกันลงทุนไทยเพิ่ม

“พิชัย” ชวนสมาชิกหอการค้าอเมริกัน AMCHAM ลงทุนไทยเพิ่ม เร่งใช้แต้มต่อ FTA ไทย ผลักดัน ศก. ไทยเติบโตรวดเร็ว หลังเตรียมเยือนดาวอส ประกาศความสำเร็จ FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกกับยุโรป