“ทนายณัษฐพล” มือกฎหมายพรรคอนาคตไกล ชี้แจงละเอียดยิบ ฟันธง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล
11 มิ.ย.2567 - ที่พรรคอนาคตไกล ทนายณัษฐพล ทิพย์อักษร มือกฎหมายพรรคอนาคตไกล กล่าวว่า จากกรณีวันที่ 9 มิถุนายน 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลได้แถลงแนวทางต่อสู้ของพรรคก้าวไกล 4 ประเด็นหลักจาก 9 ประเด็น ตนขอให้ความรู้แก่ประชาชนที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน จะได้ไม่สับสน และเข้าใจในรัฐธรรมนูญตามหลักกฎหมายมหาชน ตามที่นายพิธาฯต่อสู้ว่า…ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 นั้น ตนเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 แม้ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายแม่บทว่าให้มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง แต่อำนาจและหน้าที่ส่วนใหญ่ในทุกประเทศไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายแม่บท แต่จะนำมาเขียนขยายความในกฎหมายลูกนั้นเอง ดังนั้นที่นายพิธาฯ อ้างว่าไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้น เป็นการที่นายพิธาฯอ่านกฎหมายไม่ครอบคลุม อ่านเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน แล้วมาแถลงให้ สังคม สับสน ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดี เป็นการขาดความรู้ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ ในพรรคก้าวไกล ไม่มีมือกฎหมายที่เก่งและเชี่ยวชาญขนาดนั้นเชียวหรือ ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญเตือนมิให้แถลงชี้นำประชาชน
ทนายณัษฐพล กล่าวว่า ส่วนที่นายพิธาฯ อ้างว่า กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดให้ ผู้ถูกร้องต้องมีโอกาสได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาก่อน การยื่นคำร้องในคดีนี้จึงขัดกับระเบียบที่ กกต.ตราขึ้นเองและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นนี้ ตนเห็นว่า ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ข้อ 9 วรรคหนึ่ง เมื่อมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ให้ไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.๒๕๖๕ เพื่อให้กระบวนพิจารณาในชั้น กกต.พิจารณาอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง กกต.หยิบเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่วินิจฉัยว่า พฤติการณ์นโยบายหาเสียง แก้ไข ปอ.มาตรา 112 เข้าลักษณะเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ผลจะยังไม่เกิดแต่เล็งเห็นได้ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อันเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ส่งผลทางกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร รวมทั้ง กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้วย ตามมาตรา 211 วรรคท้าย ดังนั้น ข้อเท็จจริงเข้าเกณฑ์มาตรา 92 กฎหมายพรรคการเมือง ข้อเท็จจริงเพียงพอที่ กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เหตุเป็นเช่นนี้ เพราะในคดีที่ 3/2567 ฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ นายพิธาฯ ได้นำพยานหลักฐานเข้าไปต่อสู้คดีจนหมดสิ้นแล้ว ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด ที่จะหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ หากเทียบเคียงกับ คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ กรณีกล่าวหาว่ากระทำปฎิปักษ์การปกครอง กลับใช้ระยะเวลาสั้นในการยื่นคำร้องยุบพรรคกว่าพรรคก้าวไกล
ทนายณัษฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายพิธาฯอ้างว่าในการพิจารณายุบพรรคก้าวไกลต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ จะอ้างข้อเท็จจริงตามที่กล่าวหาพรรคล้มล้างการปกครองที่ยุติแล้ว ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่ได้ คำวินิจฉัยในคดีก่อน ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยในคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีข้อหาแตกต่างกันและระดับโทษที่แตกต่างกัน ตนเห็นว่า นายพิธาฯ น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนในกฎหมาย รัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้าย เขียนไว้ชัดเจน ว่า คำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร หมายความว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ย่อมผูกพันทุกองค์กร รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย ดังนั้น การที่นายพิธาฯกล่าวอ้างว่า ในการพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงใหม่นั้น ตนเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีเดิม มีพรรคก้าวไกล นายพิธาฯ เป็นคู่ความเดิม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันคู่ความ เหตุในคดีเดิมศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้ เพราะในคดีเดิม ศาลสั่งได้เพียงให้งดเว้นในการกระทำเท่านั้น ส่วนในคดีนี้ เป็นการหยิบข้อเท็จจริงที่ถึงที่สุดมาแล้ง มาร้องให้ยุบพรรค ศาลไม่จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงในข้อเท็จจริงใหม่ เพราะเป็นเรื่องเดิม
ส่วนนายพิธาฯอ้างว่าแม้โทษยุบพรรคจะมีได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย และเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อไม่มีมาตรการอื่นยับยั้งการกระทำที่เห็นว่า เป็นการล้มล้างการปกครองได้เท่านั้น ตนเห็นว่า การยุบพรรคในมาตรา 92 ของกฎหมายพรรคการเมือง เป็นมาตรการหนึ่งที่เป็นการยับยั้งในการกระทำของพรรคการเมือง เพราะหากพิจารณาถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบอบการปกครองของประเทศไทย หากกระทำการฝ่าฝืนของพรรคการเมือง นโยบายพรรคนำไปสู่ทำให้การล้มล้างการปกครองหรือกระทำปฎิปักษ์การปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ที่เป็นธรรม ยับยั้ง คานอำนาจ ป้องกันมิให้พรรคการเมืองออกนโยบายเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือกระทำปฎิปักษ์การปกครอง มิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง
สำหรับประวัตินายณัษฐพล ทิพย์อักษร เป็นทนายความคนดัง ก่อนที่จะมาเป็นมือกฎหมายของพรรคอนาคตไกล มีประสบการณ์ว่าความอย่างโชกโชน โดยจุดแข็งมีความเชี่ยวชาญในฐานะนักฎหมายมหาชน เป็นทนายความอาสาช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป
ประวัติการศึกษา จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จากรั้วพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกาศนียบัตรวิชาว่าความ สภทนายความ มีประสบการณ์ว่าความมายาวนาน เป็นหัวหน้าสำนักเมตตาธรรมทนายความ ตั้งอยู่ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ 46 เป็นทนายความอาสา สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา(สชน.)
ทั้งนี้เหตุที่นายณัษฐพล คลุกคลีช่วยเหลือประชาชนมายาวนานเพราะมีจิตอาสาที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกฟ้อง เป็นที่รู้จักกันในวงการทนายความ ด้วยความเก๋าเกม ทำคดีให้นักการเมืองระดับชาติหลายคน ทั้งเป็นคณะทำงานในคดีต่างๆผลงานมากมาย ผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคอนาคตไกล จึงได้รับเชิญให้มาร่วมงานเป็นหัวหน้าทีมทนายความในการว่าต่างและแก้ต่างของพรรคอนาคตไกล
ประกอบกับผู้ใหญ่ของพรรคระดับบิ๊กของพรรค เล็งเห็นความรู้ความสามารถ จึงได้ผลักดันให้มาเป็นมือกฎหมายของพรรคอนาคตไกล โดยพิจารณาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกฎหมาย เป็นหนึ่งในทีมทนายความที่เห็นความสามารถในเชิงประจักษ์.