ศาล รธน.เมินออกคำสั่งก่อนวินิจฉัยเรื่องเลือก สว.เชื่อ กกต.จัดได้

05 มิ.ย.2567 – สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 19/2567 และเรื่องพิจารณาที่ 20/2567)

โดยศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดี (นางสาววิเตือน งามปลั่ง) ในคดีหมายเลขดำที่ 899/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 19/2567)

ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า (นายฤทธิชัย ศรีเมือง ที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย ผู้พัฒน์ ที่ 2 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี นายสิทธิชัย ผู้พัฒน์ ที่ 3 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี นายจำนอง บุญเลิศฟ้า ที่ 4 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี และนายสากล พืชนุกูล ที่ 5 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช) ในคดีหมายเลขดำที่ 912/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
(เรื่องพิจารณาที่ 20/2567)

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เนื้อหาคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีเป็นกรณีโต้แย้งว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ศาลปกครองกลางจะใช้บังคับแก่คดี เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีโดยมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งรับคำร้องทั้งสองไว้พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ โดยรวมการพิจารณาทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลกำหนดและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 5 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

อนึ่ง ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่ปรากฏว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง อีกทั้งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าจะเกิดความเสียหายดังกล่าวย่อมมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่กำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป.ป.ช.เปิดทรัพย์สิน ‘สุเมธ’ ตุลาการศาล รธน.ป้ายแดง 86.7 ล้านบาท ไร้หนี้

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

'ครช.' บุกกกต.จี้ให้เลื่อนการเลือกสว.จนกว่าศาลรธน.มีคำวินิจฉัย เตือนผิดม.157

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ตัวแทนผู้ประสานงานคณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขลงรับที่ 7414 โดยเนื้อหาในหนังสือระบุ