'กุนซือนายกฯ' เขย่า 'แบงก์ชาติ' หัดร่วมมือรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

‘พิชัย’ ลั่นเตือนแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกย่ำแย่ ชี้นโยบายการเงินไม่สนับสนุน ขณะที่งบประมาณยังใช้ไม่ได้ จี้ ‘แบงก์ชาติ’ หนุนแก้เศรษฐกิจเหมือนธนาคารกลางประเทศอื่น

27 พ.ค. 2567 – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวได้เพียง 1.5% แม้จะดีกว่าที่คาดการณ์กันว่าจะขยายไม่ถึง 1% แต่ก็ยังถือว่าแย่มาก และเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในอาเซียนโดย เวียดนามขยายได้ 5.7% ฟิลิปปินส์ขยายได้ 5.7% อินโดนิเซียขยายได้ 5.1% มาเลเซียขยายได้ 4.2% แม้กระทั่งสิงคโปร์ยังขยายได้ 2.7% แสดงถึงเศรษฐกิจของอาเซียนยังดี แต่เศรษฐกิจไทยกลับแย่

ทั้งนี้หากจำกันได้ ตนได้เตือนไว้ก่อนแล้วว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะแย่ เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารได้ไม่นาน และการดำเนินนโยบายทางการคลังผ่านทางงบประมาณยังทำไม่ได้ เนื่องจากงบประมาณเพิ่งจะผ่านสภาในเดือนเมษายนนี้เอง โดยเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งออกนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนและประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรก แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ

นายพิชัย กล่าวว่า หากย้อนดูธนาคารกลางของประเทศสหรัฐที่เป็นอิสระ แต่เมื่อเศรษฐกิจประเทศสหรัฐย่ำแย่ ธนาคารกลางสหรัฐยังต้องสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยออก QE จำนวนมหาศาลเป็นเวลานาน จนกระทั่งเศรษฐกิจสหรัฐฟื้น แต่ ธปท. กลับไม่ทำอะไร นอกจากนี้หากพิจารณาประเทศในอาเซียนที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากในไตรมาสแรก จะพบว่าประเทศเหล่านี้มีค่าเงินที่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ และยังลดลงมากเมื่อเทียบกับสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งด้วย

โดยค่าเงินดองเวียดนาม ลดลงเหลือ 25,400/ดอลล่าร์ จาก 14,000 ดอง ในปี 2000 เงินเปโซ ฟิลิปปินส์ ลดลงเหลือ 58 เปโซ/ดอลล่าร์ จาก 39.95 เปโซ ในปี 2000 เงินรูเปีย อินโดนิเซีย ลดลงเหลือ 16,000 รูเปีย/ ดอลล่าร์ จาก 7,000 รูเปีย ในปี 2000 เงินริงกิต มาเลเซีย ลดลงเหลือ 4.7 ริงกิต/ดอลล่าร์ จาก 3.8 ริงกิต ในปี 2000 แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นเป็น 36.7 บาท/ดอลล่าร์ จาก 44.20 บาท ในปี 2000 นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าประเทศคู่แข่งใช่หรือไม่

นอกจากนี้ ช่วงห่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทย ยังสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศคู่แข่งมาก โดยช่วงห่างดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 6-7% ในขณะที่ช่วงห่างดอกเบี้ยของประเทศคู่แข่งอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจต้องแบกต้นทุนและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่า ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการเรียกร้องหลายครั้งแล้ว ทั้งที่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย และ ธปท. สามารถทำได้ทันที แต่ ธปท. กลับไม่ทำอะไร ขนาดนายกรัฐมนตรียังต้องลงมาเจรจากับธนาคารพาณิชย์เอง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ ธปท. โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ทำให้คนจำนวนมากสงสัยกันว่า ธปท. เอาใจธนาคารพาณิชย์เกินไปหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีอคติกับ ธปท. เพียงอยากเห็น ธปท. ทำหน้าที่ที่ควรปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาเป็นเวลาเป็น 10 ปีแล้ว อีกทั้งนโยบายการเงินของ ธปท. มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่านโยบายการคลังของรัฐบาลเสียอีก โดยประเทศต่างๆ ในโลกต้องอาศัยความร่วมมือของธนาคารกลางเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ถ้าหาก ธปท. ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงาน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงได้ยาก ดังนั้นจึงอยากให้มีจุดประสงค์และแนวทางที่ตรงกันกับรัฐบาล สมัยอาจารย์โกร่ง ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีตประธานคณะกรรมการ ธปท. ก็มีความกังวลปัญหาของ ธปท. ในเรื่องนี้เหมือนกัน

ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ ธปท. และรัฐบาลจะต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไข คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91 % ของจีดีพี หรือ 16.3 ล้านล้านบาท และยังคงเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถยนต์ ซึ่งปัญหาหนี้เสียนี้ได้เตือนมาตลอดว่าจะเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วแล้ว

ทั้งนี้ปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นกำลังจะตามมาเพราะหนี้สาธารณะปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 63.37% ของจีดีพีแล้ว อีกทั้งรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาสินค้าจากประเทศจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ SMEs ไทยได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะราคาสินค้าแข่งขันไม่ได้ อีกทั้งเงินไหลออกไปประเทศจีนจำนวนมาก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำมาก โดยรัฐบาลได้กลับมาเก็บภาษีสินค้าจีนที่ต่ำกว่า 1,500 บาทแล้ว แต่ก็อาจจะต้องออกมาตรการที่เข้มงวดกว่านี้เพื่อป้องกันปัญหานี้

“จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาอย่างมากในหลายด้านจากปัญหาที่สะสมมาในอดีต ซึ่ง ธปท. จะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา โดยรัฐบาลเองจะต้องเร่งแก้ปัญหาและออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยต้องออกหลายนโยบายพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้เพื่อแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาได้ โดยทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือ ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะทรุดลงไปกว่านี้ โดยไม่อยากให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเตี้ยแบบนี้ต่อไปอีกแล้ว” นายพิชัย ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ค้าชายแดน/ข้ามพรมแดนภาคเหนือของไทย : ความท้าทายและการปรับตัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ปลายเดือนที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานเสวนาจัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดเชียงราย หัวข้อ “10 ปี การค้าชายแดนกับความสำคัญต่อพัฒนาการเศรษฐกิจภูมิภาค : อดีตที่ผ่านไปกับความท้าทายใหม่ที่กำลังจะมา” จึงขอนำความเห็นที่ได้นำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ดัชนีการเมืองไทยร่วง! ปากท้องฉุดเรตติ้งรัฐบาล 'เศรษฐา' ตามหลัง 'พิธา'

วนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,367 คน

ปูดดีลใหญ่พลิก! จับตาสอย 'เศรษฐา' ดัน 'อนุทิน' นายกฯ

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

‘สรรเพชญ’ เบรก รบ.อย่าคิดขายชาติ ย้อน ‘พท.’ อย่าถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเองซ้ำอีก

นายกรัฐมนตรีที่ได้รับสมญานามว่าเป็น เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ที่มีความต้องการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้สังคมเกิดความสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือต้องการเอื้อผลประโยชน์ให้กับใครหรือไม่

นักวิชาการเตือนเปิดเสรีให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ต้องรอบคอบ อาจส่งผลเสีย

เปิดเสรีให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ถือครองคอนโดได้ 75% ต้องรอบคอบ ประเมินผลกระทบกรณี EEC ให้ต่างชาติเช่า 99 ปีมาศึกษาดู ต้องทำความเข้าใจ การบริหารจัดการนโยบายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในบริบททุนข้ามชาติโลกาภิวัตน์ให้ลึกซื้ง