'ก้าวไกล' เรียกร้องรัฐบาลเพื่อไทย ร่วมมือทลายนายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ผลพวงรัฐประหาร 57

’ก้าวไกล‘ โพสต์ 10 ปีรัฐประหาร 57 ‘ประยุทธ์ออกไป ระบอบประยุทธ์ยังอยู่‘ ชู 3 วาระรื้อมรดก คสช. หวัง ’รัฐบาล’ ร่วมมือ ‘ทำ รธน.ใหม่-ปฏิรูปกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน- ทลายทุนผูกขาด’ ให้สำเร็จ

22 พ.ค.2567 - พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก ถึง ‘10 ปี รัฐประหาร 2557 : ประยุทธ์ออกแล้ว ระบอบประยุทธ์ยังอยู่’ ระบุว่า “ผ่านมาแล้ว 10 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 จุดกำเนิดของระบอบประยุทธ์ ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้ง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่าประเทศไทย ‘เปลี่ยน’ ไปจริงๆ

นั่นเพราะ “ระบอบประยุทธ์” มีความหมายกว้างกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ที่แวดล้อมคณะรัฐประหารและร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกันและกัน ผ่านการออกแบบโครงสร้างและกลไกรัฐให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง เป็นโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทัดทานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เปิดช่องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง และเปิดช่องให้ทุนใหญ่เข้ากุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือตลาด

การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แม้ทำให้ประยุทธ์หายหน้าไปจากการเมือง ประวิตรหายไปจากตำแหน่งในรัฐบาล แต่ “ระบอบประยุทธ์” ที่หมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ไม่ได้หายไปไหน และผลพวงจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะยังคงอยู่กับเรา ตราบที่เราไม่เดินหน้ารื้อมรดก คสช. ซึ่งประกอบด้วยอย่างน้อย 3 วาระที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง ผ่านการยื่นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลในการทำให้สำเร็จ

วาระ 1 = จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100%

ปัญหา: ในแง่การเมือง มรดกสำคัญของรัฐประหาร 2557 คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ผ่านการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เช่น สว. ศาล รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ) ให้สามารถอยู่เหนือหรือแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทางออก: จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อพาสังคมไทยออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 และสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ด้วยความเชื่อว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีแนวโน้มมากที่สุด ที่จะมีเนื้อหาที่พร้อมทำให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และพร้อมปิดช่องไม่ให้ศาลรับรองการทำรัฐประหารและไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67:

(1) สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

(2) ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช.ฯ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งจากคณะรัฐประหารที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (เป็นร่างกฎหมายด้านการเงิน - รอนายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ)

วาระ 2 = ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน รื้อสภากลาโหม-ศาลทหาร

ปัญหา: การที่วันนี้สื่อมวลชนยังมีคำถามว่าทหารจะรัฐประหารหรือไม่ ตอกย้ำให้เห็นชัดว่ากองทัพ ณ ปัจจุบัน ยังคงมีอำนาจหลายส่วนอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน สามารถแทรกแซงการเมืองหรือแม้แต่กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจรักษาความมั่นคง เป็น ‘ขุนศึก’ ที่ถือครองที่ดินและธุรกิจโดยขาดการตรวจสอบจากประชาชน

ทางออก: ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน เพื่อเอาทหารออกจากการเมือง และทำให้กองทัพเป็นกองทัพยุคใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นในการดำเนินการและการใช้งบประมาณ และได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากประชาชน

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67:

(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม เพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน รวมถึงการปรับโครงสร้างอำนาจ-ที่มาของสภากลาโหม และกระบวนการแต่งตั้งนายพล (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯ แล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)

(2) เตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลทหาร เพื่อป้องกันกระบวนการยุติธรรมหลายมาตรฐาน

วาระ 3 = ทลายทุนผูกขาด ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ปัญหา: ทุนใหญ่ได้ขยายอำนาจและส่วนแบ่งตลาดในทุกภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของปากท้องประชาชน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ไฟฟ้า ผ่านสายสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายคณะรัฐประหาร กองทัพ ระบบราชการ และผ่านกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการผูกขาด

ทางออก: ทลายทุนผูกขาด จากเดิมที่ระบบเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยผู้เล่นไม่กี่ราย ต้องเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67:

(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯ แล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่เพียงปรารถนาที่จะเห็น แต่เราได้ใช้ทุกกลไกและวิถีทางที่มีอยู่ แม้ในฐานะฝ่ายค้านปัจจุบัน ในการผลักดันลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ออกจากสังคมไทย

การต่อต้านและลบล้างผลพวงรัฐประหารย่อมไม่อาจเป็นจริงได้ผ่านเพียงคำพูด แต่ต้องพิสูจน์ผ่านการกระทำ

เราหวังว่ารัฐบาลจะร่วมกันผลักดัน “ทุกวาระ” ข้างต้นร่วมกับพรรคก้าวไกล เพื่อสร้างประชาธิปไตยเต็มใบให้เกิดขึ้นและตั้งมั่นในสังคมไทย ทำให้รัฐประหาร 2557 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย ดักคอ 'ก้าวไกล' เสนอเพิ่มวันประชุมสภาฯ อย่าหวังเอาคะแนนลอยๆ

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้เพิ่มวันประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพิจารณากฎหมายสำคัญให้มากขึ้นว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือกัน แต่หากย้อนไปดูในอดีต เราจะมีการประชุมสภาฯ

'เด็กก้าวไกล' ถาม 'ชาดา' ตอบปมต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี

'สส.ก้าวไกล' ข้องใจ รบ.เตรียมเปิดช่องให้ต่างชาติถือครองอสังหาฯ 99 ปี ซัดนายกฯ หวังช่วยกลุ่มทุน ด้าน 'ชาดา' ยอมรับ 'เศรษฐา' สั่งให้เร่งดำเนินการ แก้ กม.แจงต้องแก้เพื่อดึงเงินลงทุนต่างชาติ

ทันควัน! ก้าวไกลยื่นญัตติด่วนให้ทบทวนคำถามประชามติใหม่

ก้าวไกลยื่นญัตติด่วน หวังรัฐสภามีมติให้ ครม.ทบทวนคำถามประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญก่อนรัฐสภาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ 'พริษฐ์' ย้ำคำถามที่เปิดกว้างจะเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะสำเร็จ