'ราเมศ' กรีด 'พิชิต' อย่ารีบลาออกรมต. ต้องต่อสู้พิสูจน์ถุงขนม 2 ล้านเป็นการกระทำซื่อสัตย์สุจริต

21 พ.ค.2567 - นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สว.ได้ยื่นคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน ว่าตั้งแต่วันแรกที่ทราบว่านายพิชิตเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ตนเป็นคนแรกที่ออกมาให้สัมภาษณ์ท้วงติงในคุณสมบัติว่าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ซึ่งมีหลักในรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ว่า คนที่จะเป็นรัฐมนตรี จะต้อง (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ เพราะนายกรัฐมนตรีก็ทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ถือได้ว่ามีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเหตุเพราะรู้ข้อเท็จจริงดีว่าคุณสมบัติของนายพิชิต ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

นายราเมศ กล่าวอีกว่า จากการที่อ้างว่าได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วนั้น ความจริงก็ปรากฏชัดว่าไม่ได้สอบถามในประเด็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและเรื่องจริยธรรม ซึ่งหลักการเรื่องนี้การใช้สามัญสำนึกของนายกรัฐมนตรีในเบื้องแรกสำคัญที่สุด วิญญูชนพึงคิดได้ว่าการกระทำของคนที่จะเสนอเป็นรัฐมนตรีมีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และท้ายที่สุดการวินิจฉัยคุณสมบัติของรัฐมนตรีก็จะเป็นหน้าที่โดยตรงของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นได้แต่ไม่ใช่คำวินิจฉัยถึงที่สุด ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไรขอทุกฝ่ายอย่าไปก้าวล่วง ว่าจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ให้เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

นายราเมศ กล่าวต่อว่า เมื่อ สว.ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ก็ต้องเคารพกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญที่มีดุลพินิจในการวินิจฉัยใครจะไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คืออยากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน และนายเศรษฐา ทวีสิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ที่ระบุไว้ชัดว่าเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วยหากเห็นว่ารัฐมนตรีมีคุณสมบัติขัดต่อ มาตรา 160 องค์กรของท่านต้องร่วมกันตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสสุจริตในบ้านเมือง เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักเกณฑ์ของบ้านเมืองด้วย

ทั้งนี้ นายราเมศได้ให้คำแนะนำว่า นายพิชิตไม่ควรลาออก และต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อสู้ให้เห็นว่าการกระทำของท่านรัฐมนตรีที่ศาลฎีกาเห็นว่า ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป และให้จำคุกด้วย ซึ่งนายพิชิตก็ต้องสู้ในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เห็นว่าทั้งหมดไม่เป็นความจริง และชี้ให้เห็นว่าการกระทำทั้งหมดถุงขนม 2 ล้านนั้นเป็นการกระทำที่ซื่อสัตย์สุจริต อยู่บนหลักของจริยธรรม พร้อมกับต้องสู้ให้นายกรัฐมนตรีว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีได้สอบถามไปยังกฤษฎีกาแล้ว

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า การที่ตนไม่อยากให้นายพิชิตลาออก เป็นเพราะอย่างน้อยคดีนี้จะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นในเรื่องสำคัญของคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี ในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต เรื่องนี้บ้านเมืองได้ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘กรณ์’ ชี้ ’ไบเดน’ ถอนตัว การตัดสินใจครั้งนี้ อยู่ในระดับเปลี่ยนเกมส์ได้เลย

ส่วนตัวผมไม่แปลกใจที่ไบเดนถอนตัว ก่อนหน้านี้ที่หลายคนลุ้นอยู่คือไบเดนจะแค่ถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร หรือจะถอยให้ Harris เป็นประธานาธิบดีด้วยเลย

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง

'ชัยธวัช' ลั่นทุกคนในพรรคนิ่ง ถ้ายุบจริงเราตกผลึกหมดแล้ว ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยไม่มีการไต่สวน

'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง