ก้าวไกลโหมหนัก การเมืองบทใหม่ ฉันทามติระหว่างชนชั้นนำ กับปชช.

ก้าวไกลประกาศเป็นสะพานเชื่อมแห่งยุคสมัย “ชัยธวัช’ ยก ปรากฏการณ์ ‘เลือกตั้ง 66’ เป็นข้อบ่งชี้ ไทยกำลังเดินเข้าสู่บทที่สิ่งเก่ากำลังจะตาย-สิ่งใหม่กำลังจะเกิด

19 พ.ค.2567 – ที่ ภิรัช ฮอลล์ ไบเทคบางนา พรรคก้าวไกล จัดงานมหกรรมนโยบายพรรคก้าวไกล Policy Fest ครั้งที่ 1 ‘ก้าวไกล Big Bang’ โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ ‘อนาคตการเมืองไทย‘ ตอนหนึ่งว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเข้าร่วมกิจกรรมที่สำคัญมาก ในฐานะที่เราวางเป้าหมายว่า เราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง วันที่ 22 ส.ค. 66 เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับเป็นหมุดหมายใหม่ของการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และ 2557 สำหรับตนเอง นั่นคือวันสิ้นสุดการเมืองแบบเหลืองแดงอย่างเป็นทางการ ชนชั้นนำของสองสีเสื้อดูเหมือนจับมือเป็นพันธมิตรกันได้ชั่วคราว พลังสีเหลือง และพลังสีแดงไม่ได้หายไป

นายชัยธวัช กล่าวถึงการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยว่า แค่การเลือกตั้งไม่เพียงพอ เพราะยังต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ รวมถึงปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบันฯ ปฏิรูปตุลาการ เพื่อให้อำนาจของประชาชน ที่เราบอกว่าเป็นอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏขึ้นเป็นจริง และสำหรับกลุ่มคนเสื้อเหลืองจำนวนมาก มีบทเรียนแล้วว่าการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งนั้น ไม่มีจริง และการเมืองในระบบเลือกตั้ง ที่หลายคนไม่เชื่อมั่นศรัทธา สามารถพัฒนายกระดับได้ การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้น เป็นไปได้ และอาจเป็นทางที่ดีที่สุดที่เรามี

“ประชาชนที่เคยสังกัดสีเสื้อคนละสี เริ่มเห็นแล้วว่าปัญหาสังคมการเมืองไทยที่แต่ละฝ่ายต่างให้ความสำคัญคนละมุม แท้จริงแล้ว อาจมีรากฐานมาจากโครงสร้างสังคมแบบเดียวกัน โดยเปรียบเทียบว่า ต่างฝ่ายต่างก็รู้จักช้างกันคนละแบบ อาจรู้จักจากหาง จากงา จางงวง แต่สุดท้ายแล้ว ก็คือช้างตัวเดียวกัน การเมืองไทยที่มีการแบ่งฝ่าย แบ่งสี เกือบสองทศวรรษได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการเมืองไทยระหว่างการเมืองชนชั้นนำเพื่อชนชั้นนำกับการเมืองของประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลในชุดปัจจุบัน เป็นการสะท้อนถึงการจัดตั้งรัฐบาลของชนชั้นนำอย่างโจ่งแจ้งล่อนจ้อน เมื่อเป็นการเมืองของชนชั้นนำ สิทธิของแต่ละคนย่อมลดหลั่นกันไปตามสถานภาพทางสังคม การพิจารณาว่าผู้ต้องขังในเรือนจำคนไหนป่วยหรือไม่ ป่วยมากหรือน้อย จะได้สิทธิ์ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องของการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่สิทธิ์ที่ทุกคนพึงมีเสมอภาคกัน แต่เป็นสถานภาพทางสังคม ซึ่งย่อมไม่ใช่เจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างล้นหลามในวันที่ 14 พ.ค. 66” นายชัยธวัช ระบุ  

นายชัยธวัช ระบุว่า เพราะเมื่อประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ผิดพลาด ผิดน้อย ควรได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวหรือไม่ หรือจะได้รับโอกาสในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องของหลักนิติรัฐ ไม่ใช่เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฏหมาย และไม่ใช่เรื่องสิทธิที่ประชาชนทุกคนมี แต่เป็นเรื่องของสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละคน ในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่ต้องดูว่าคุณมีข้อพิพาทกับใครทึ่เป็นคนระดับไหน

“บ่อยครั้งที่ระบบกฎหมายหรือนิติรัฐแบบไทยๆ ได้กลายเป็นกลไกในการโบยตีประชาชนให้หลาบจำ เพื่อให้สำเร็จว่าบุญบารมี หรือลำดับชั้นต่ำสูงของคนเรานั้นมันไม่เท่ากัน การเมืองแบบชนชั้นนำ มีเป้าหมายระบอบกฎหมาย ไม่ใช่การคุ้มครองร่างกาย หรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี แต่คือการปกป้องคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ หรืออภิสิทธิ์ชน นี่จึงไม่ใช่เจตจำนงของประชาชนที่ออกมาเลือกตั้ง“ นายชัยธวัช ระบุ

นายชัยธวัช ระบุด้วยว่า ดังนั้น เมื่อเป็นการเมืองชนชั้นนำ โอกาสที่ผู้ต้องหา หรือนักโทษคดีการเมือง จะได้รับการนิรโทษกรรมอย่างถ้วนหน้าหรือไม่ จึงไม่ได้พิจารณาจากเป้าหมายในการที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่เคยมีความคิด ความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน และไม่ได้พิจารณาจากเป้าหมาย เพื่อที่จะคืนความยุติธรรมให้แก่ทุกคน แต่จะพิจารณาจากความพึงพอใจหรือ ความมีเมตตากรุณาต่อประชาชนเบื้องล่าง ซึ่งประชาชนต้องรอคอยว่า วันนี้ชนชั้นนำจะแสดงพระเดชหรือพระคุณ เพราะการเมืองของชนชั้นนำ ทำให้กลไกของรัฐไทย ตอบสนองต่อนายตนเอง มากกว่าตอบสนองกับประชาชน

“ปัจจุบันรัฐไทยมีกำลังพลราว 3.2 ล้านคน ขณะที่ประชากรไทยมี 66 ล้านคน จึงหมายความว่า ถ้านำมาหารกันแล้ว เรามีเจ้าหน้าที่ 1 คนดูแลประชาชน 20 คน คำถามคือเรารู้สึกว่าได้รับการดูแลจากรัฐหรือไม่ ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เด็กเกิดใหม่น้อยลงอย่างรวดเร็ว แต่รัฐไทยมีกำลังพลเพิ่ม 5 แสนคน ทำให้งบประมาณของรัฐร้อยละ 40 เป็นรายจ่ายของบุคคลากรภาครัฐ หากเราไม่ปฏิรูปไทยให้เล็กลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงปรับใหญ่ระบบงบประมาณอย่างจริงจัง คิดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐไทยจะมีหน้าตาแบบไหน” นายชัยธวัช ระบุ

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ชนชั้นนำพยายามทำให้เราเชื่อว่า เมื่อประเทศเกิดวิกฤติ เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และต่อให้สุดท้ายการเมืองไทยจะไม่สามารถปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งได้ พวกเขาก็พยายามจะออกแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่ยอมให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นอันขาด ไม่ยอมปลดล็อคประเทศ ถอยออกจากโครงสร้างรัฐซ้อน รัฐกองทัพอยู่เหนือพลเรือน รวมทั้งระบบบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่สืบทอดมากกว่า 100 ปี

“การเมืองแบบชนชั้นนำ ชอบสงเคราะห์ประชาชน กดให้จนแล้วขนมาแจก ชีวิตของเกษตรกรไทยในชนบทที่เราอยากหลุดพ้น กลายเป็นภาพสวยงามโรแมนติกสำหรับคนข้างบน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน กลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย สำหรับประเทศแบบไทยๆ ระบบเศรษฐกิจของชนชั้นนำ แข่งขันกันด้วยเส้นสาย ไม่ใช่ความสามารถ หรือนวัตกรรม โอกาสและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ และแบ่งปันอย่างเท่าเทียม” นายชัยธวัช ระบุ  

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า รวมถึงการทำงานที่มีคุณภาพ และค่าแรงสอดคล้องกับค่าครองชีพ ก็มักจะถูกชนชั้นนำออกมาเตือนให้ระวังว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงควรขึ้นค่าแรงเฉพาะแรงงานที่มีมีทักษะที่ดีแล้ว แต่ปัญหาคือภาคเอกชนไทยอาจจะต้องจ่ายเงินสำหรับการวิจัย และพัฒนา น้อยกว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะ ส่วนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ที่คาดหวังว่า จะยกระดับทักษะความสามารถของพวกเราทุกคนแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็ล้าหลังเต็มที ไม่สามารถตอบโจทย์การแข่งขันในปัจจุบันได้ 

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ชนชั้นนำแต่ละกลุ่มไม่ได้รักกันเสมอไป ต่างก็ต่อสู้กันว่ากลุ่มไหนจะสามารถครองอำนาจนำเหนือกลุ่มอื่น กลุ่มนึงเข้าสู้อำนาจแบบรูปธรรม ส่วนบางกลุ่มเข้าสวมอำนาจด้วยการบอกว่าเป็นคนดี แต่การต่อสู้กัน ของชนชั้นนำแต่ละกลุ่ม ก็มีเอกภาพร่วมกันคือการพยายามรักษาเอกภาพและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม ที่สิทธิและโอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของแต่ละคนมีลำดับชั้นต่ำสูงลดหลั่นกันไป ใครขึ้นมามีอำนาจ ก็ผลัดกันกินรวบผูกชาดการเมืองและเศรษฐกิจได้ นี่คือจุดร่วมของการเมืองแบบชนชั้นนำ

นายชัยธวัช ชี้ว่า การเมืองชนชั้นนำมองยุคสมัยที่เปลี่ยนไปว่า ทำร้ายความดีในอดีต ทำร้ายความรู้สึกนึกคิดของประชาชนแบบใหม่ๆ ตามยุคสมัยว่า เป็นภัยคุกคาม ไม่ได้มองประชาชนว่า เป็นเจ้าของประเทศ แต่มองเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจตลอดเวลา ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่รู้คุณแผ่นดิน ไม่รักชาติ หรือไม่ก็ไม่มีการศึกษา จึงพยายามกดทับการเมืองของประชาชนเอาไว้ ไม่ให้เติบโต แม้จะทุบทำลายให้สิ้นซากไม่ได้ แต่ก็ต้องทำให้อยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ ชนชั้นนำมองการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยต่ำไป เขาไม่เข้าใจว่า สภาพพื้นฐานทางสังคมของไทย เปลี่ยนไปมากแค่ไหน จนไม่อาจย้อนกลับได้อีก ความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ๆ กำลังไหลมา 

“การเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 66 เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่บ่งชี้ข้อเท็จจริงอันนี้ การเมืองไทยจึงกำลังเดินเข้าสู่บทใหม่ ที่สิ่งเก่ากำลังจะตาย และสิ่งใหม่กำลังจะเกิด สุดท้ายสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับดุลยภาพใหม่ หรือฉันทามติใหม่ ระหว่างการเมืองของชนชั้นนำกับการเมืองของประชาชน ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญนี้” นายชัยธวัช ระบุ

นายชัยธวัช ระบุว่า การเมืองแบบชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนล้วนมองว่า การเมืองแบบพรรคก้าวไกลเป็นภัยคุกคามต่อตนเองทั้งสิ้น แต่พวกเราพรรคก้าวไกลจะเป็นสะพานเชื่อมแห่งยุคสมัย เชื่อมสังคมไทยแบบเก่ากับสังคมไทยแบบใหม่ และเชื่อมความฝัน ความหวัง กับความเป็นจริง คือภารกิจของพรรคก้าวไกลในสถานการณ์ปัจจุบัน

”วันนี้พวกเราพร้อมแล้ว ที่จะก้าวไกลไปกับทุกคน สถาปนาการเมืองของประชาชน เพื่อประชาชน พวกเราไม่ได้ดีพร้อมทุกเรื่องตั้งแต่วันแรก วันนี้ก็อาจจะยังไม่ดีอย่างที่เราอยากเห็น เราเดินเข้าสู่การเมืองด้วยความหวัง ด้วยความฝัน และอุดมการณ์ ที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น มีอนาคตที่ดีกว่านี้ เราเรียนรู้และเติบโตขึ้นทุกวัน แม้เราจะไม่ได้ดีพร้อมตั้งแต่วันแรก แต่เราก็เรียนรู้ เติบโตขึ้นทุกวันทุกปี เราใช้เวลาทำงานอย่างเต็มที่ ในรัฐสภาเพื่อเข้าใจระบบงบประมาณ กฎหมาย กลไกการบริหาร เพื่อเตรียมพร้อมเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดของประชาชนให้ได้“

นายชัยธวัช ย้ำว่า ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีความหมายต่อพรรคก้าวไกลมาก ต้องขอบคุณทุกคนอีกครั้ง ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันสร้างวันประวัติศาสตร์ให้กับการเมืองไทย แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่เสียงของพี่น้องประชาชนได้เปล่งออกมาอย่างชัดเจนว่า เพดานทางการเมืองแบบเดิมของไทยนั้น ได้พังทลายลงจนหมดแล้ว และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ผ่านระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเป็นไปได้ ถ้าเราร่วมมือกัน 

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเราพรรคก้าวไกล จะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก และสร้างการระเบิดครั้งใหญ่ ในการปลดปล่อยศักยภาพของสังคมไทยออกมาให้ได้ ปลดปล่อยความรู้สึกนึกคิด และความปรารถนาแบบใหม่ๆ ของประชาชน ปล่อยการเมืองออกจากการเมืองของคนชั้นนำ และพัฒนาการเมืองของประชาชน แสวงหาฉันทามติใหม่ เพื่อเชื่อมต่อสังคมไทยแบบเก่า ก้าวสู่สังคมไทยแบบใหม่” นายชัยธวัช ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง