มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

มธ. จัดเสวนาเลือก สว. “ปริญญา” แนะ กกต. แก้ระเบียบเลือกสว. เปิดให้สังเกตการณ์เพื่อความโปร่งใส ด้าน “พิชาย” คาใจสว.เลือกกันเอง เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างไร ขณะที่ “โอฬาร” อัดการได้มาซึ่งสว.ขัดหลักประชาธิปไตย พร้อมเห็นตรงกัน ยกร่างรธน.ใหม่ โล๊ะสว.ได้

17 พ.ค.2567 - เวลา 13.30 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 โดยมีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.นิติศาสตร์ มธ. นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อ.คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อ.รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นายวันวิชิต บุญโปร่ง อ.คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อ.คณะรัฐศาสตร์ มธ.

นายปริญญา กล่าวว่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ การเลือก สว. ที่จะมีขึ้น จะเป็นบันไดสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ห่วงระบบการเลือกมีปัญหา เพราะเป็นระบบที่มีปัญหามากที่สุด และกกต.ออกระเบียบที่ไม่เอื้อให้คนทั่วไปที่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีประโยชน์จูงใจคนอื่นมีโอกาสเป็นสว.ได้ แต่ยังมีเวลาที่จะสามารถแก้ระเบียบกกต. เกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์โดยกกต. ควรประกาศให้ชัดเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ และเห็นควรให้มีการบันทึกภาพหรือไลฟ์สด ทางออนไลน์เพื่อเห็นกระบวนการในการเลือก ให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและอยากให้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวเพิ่มเติม นอกเหนือจากแนะนำผ่าน กระดาษA4 เพราะเป็นการจำกัดสิทธิ

นายปริญญา กล่าวอีกว่า เชื่อว่าวันที่ 2 ก.ค. จะประกาศรายชื่อสว. 200 คนได้ยาก พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือก นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเชิญชวน ให้คนเข้ามาสมัคร สว. สามารถทำได้ แต่การจ่ายเงินให้ไปสมัครสว.เป็นสิ่งที่กกต. ชี้ว่าอาจฮั้วกัน และเห็นว่าการเชิญชวนให้เลือกใครโดยไม่ได้รับผลประโยชน์สามารถทำได้แต่กกต.ชี้ว่าทำไม่ได้

นายพิชาย กล่าวว่า การกำหนดให้เลือกกันเอง ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายและนักวิชาการเห็นว่า ต้องสมัครก่อน แล้วจึงเลือกกันเอง ประชาชนทั่วไปถ้าไม่สมัครไม่มีสิทธิ์เลือก คำถามคือ จะเรียกสว. ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้หรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าสส. และสว.คือผู้แทนปวงชนชาวไทย อย่างไรก็ตาม ตนได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่า วันที่ 2 ก.ค.นี้ เราจะได้สว. 200 คนแน่นอน

นายพิชาย กล่าวอีกว่า เราอาจไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีสว.ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเท่าที่มีสองสภา ประสิทธิภาพในการพิจารณากฎหมายก็ไม่ดี หากพูดว่าไทยไม่เคยมีระบบสภาเดียว ก็พูดไม่ถูก เพราะไทยมีสภาเดียวแบบครึ่งๆกับสองสภามาแล้ว ขณะนี้วุฒิสภาหมดหน้าที่หมดความชอบธรรม ไม่มีความจำเป็นใดๆ วุฒิสมาชิกมีความโน้มเอียงผูกติดอยู่กับผู้มีอำนาจในขณะนั้นเสมอ เหมือนเป็นการเพิ่มเสียงให้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม สว.ที่กำลังจะเลือกเชื่อว่าดีกว่าสว.ชุดคสช.คัดสรรแน่นอน

นายโอฬาร กล่าวว่า คนพฤกษภาทมิฬพยายามหาทางออก แต่สุดท้ายเรายังอยู่ในวงจรอุบาทว์เช่นเดิม ตอนนี้เราเห็นความขัดแย้ง เห็นสัญญาณรัฐประหาร และเสถียรภาพที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ การได้มาซึ่งสว. ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ทั้งในแง่การมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ยึดโยงจากกลุ่มอาชีพก็จริง แต่ออกแบบให้ซับซ้อนเพื่อให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกยากต่อการเข้าถึง เท่ากับเป็นการกีดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับคนที่พร้อมที่มีกลไกลได้สว.200 คน และ

ในแง่โอกาสและความเสมอภาค แต่ความจริงผู้สมัครที่จะได้สิทธิเลือกต้องจ่ายค่าสมัครก่อน 2,500 บาท ถามว่าทำไมไม่ 5 บาท 3บาท 7บาท รวมถึงในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รับรองตัวเองได้ แต่พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. กำหนดรับรองตัวเองไม่ได้ ถามว่าสิทธิ์ความเป็นคนอยู่ที่ใด

นายโอฬาร กล่าวต่อว่า การเลือกสว. เป็นโอกาสของกลุ่มคนมีเงิน มีชื่อเสียง และกลุ่มคนที่มีเครือข่าย ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ประชาชนทั่วไปที่อยากจะเข้าไปมีส่วนแบ่งในอำนาจในฐานะสว. ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ฐานที่มั่นสุดท้ายของขั้วอำนาจเก่า คือสว. เพราะถ้าหลุดจากสว.นี้ไปจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างใหญ่ๆ

นายวันวิชิต กล่าวว่า การเลือกสว.ครั้งนี้เป็นภาวะการเชื่อมจิตครั้งสุดท้ายกับคณะรัฐประหาร ที่พยายามทำให้เห็นว่ามีความพยายามรักษาอำนาจ สร้างความซับซ้อนสร้างเงื่อนไขและสร้างปริศนาทางความคิด ว่าการได้มาซึ่งสว. 200 คน ทั้งนี้ตกใจที่มีผู้สนใจสมัครน้อย ประชาชนยังไม่ตื่นตัว ส่วนข้อสงสัยว่ามีสว.ไว้ทำไม ส่วนตัวเห็นว่ามีสว.ไว้จอดรถทัวร์ สิ่งที่อยากเห็นหลังจากนี้ ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ ในแวดวงวิชาการแต่ต้องทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาของสว.ชุดนี้ คือความว่างเปล่า และเวลาพัฒนาประเทศ แต่ก็ขอบคุณที่ทำให้ประชาชนตื่นรู้ และมีคำตอบว่าสว.ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว

นายปุรวิชญ์ กล่าวถึงการเลือกสว. 20 กลุ่มอาชีพว่า ยัง หาเหตุผลรองรับไม่ได้ว่า ใช้เกณฑ์ใดในการแบ่ง ไทยถือเป็นประเทศแรกในโลก และส่วนตัวพยายามหาคำตอบว่าทำไมต้องใช้วิธีการเลือกกันเอง ซึ่งเชื่อว่าอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจประชาชนจึงมีกระบวนการซับซ้อนซ่อนเงื่อนใช้วิธีเลือกไขว้ เป็นการทำให้งงอย่างจงใจ สว.ชุดใหม่มีความสำคัญในการกำหนดและตัดสินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังเคยมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 26ครั้ง การเลือก สว. ครั้งนี้ จึงเป็นการเดิมพันมากที่สุดและเป็นเหตุผลที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากไทยจะมีสองสภา แต่อำนาจต้องไม่เยอะ หรือถ้าจะยกเลิกสภาสูงก็ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ ข้อมุลวิชาการพบว่าการร่างรัฐธรรมนูญ หมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของสภา เป็นหมวดที่ถกเถียงกันยาวนานมากที่สุด และทั่วโลกมี 78 ประเทศเป็นระบบสองสภา และอีก 112 ประเทศเป็นสภาเดียว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘กกต.’ ไม่หวั่นการเมืองหนุนผู้สมัคร อบจ. ชี้ทำบรรยากาศเข้มข้น ไร้สัญญาณรุนแรง

การเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นรากฐาน ของการพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ถ้าท้องถิ่นดีระดับชาติก็จะดีไปด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

'หัวหน้าปชน.' โต้ กกต. ฟัน สส.ชลบุรี ข้อหาเล็กน้อย สั่งทีม กม. สู้คดี

'ณัฐพงษ์' แจง กกต. สั่งดำเนินคดี 'สส.ชลบุรี' ยื่นบัญชีรายจ่ายเลือกตั้งเท็จ ชี้ ปชน. เตรียมทีมกฎหมายไว้แล้ว เชื่อ สังคมมองออก ข้อหาเล็กน้อย กลั่นแกล้งการเมืองหรือไม่

'ชัยศิริ' ยังขลัง! นั่งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ สมัยที่ 5 กวาด 9.5 หมื่นคะแนน

องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ รายงานผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ อย่างไม่เป็นทางการ (นับคะแนน 100%) ดังนี้ ผู้สมัครหมายเลข 1 นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา

‘สส.ชวาล’ ลั่นยินดีพิสูจน์ตัวเอง หลัง กกต.สั่งฟันคดีอาญา ยื่นบัญชีเลือกตั้งไม่ตรงความจริง

ผมยินดีพิสูจน์ต่อไปตามกระบวนการของศาล และจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปในฐานะผู้แทนราษฎรเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวชลบุรี