'แสวง' ร่ายยาวยัน กกต.พร้อมจัดเลือก สว.ได้ทันตามไทมไลน์

กกต.-มท. ติวเข้มเตรียมพร้อมจัดเลือก สว. เลขา กกต.ยันได้ตามไทม์ไลน์ ตบปากนักวิชาการ-นักกฎหมาย จ้อผ่านสื่อไม่อ่าน กม. ทำสังคมสับสน เตือนฮั้วกันเองมีโทษตามกฎหมาย

16 พ.ค.2567 - ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผอ.สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ นายอำเภอ และผอ.สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติ และขั้นตอนกระบวนการเลือก สว. ภารกิจ บทบาท ของจังหวัด อำเภอ และเขต ถือเป็นการซักซ้อมร่วมกันในพื้นที่

นายแสวงกล่าวตอนหนึ่งว่า หน่วยงาน ของกระทรวงมหาดไทยเหมือนกระดูกสันหลังของการเลือก หรือเส้นเลือดใหญ่ของการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่ามีประสบการณ์ และให้ความร่วมมือในการจัดการเลือกตั้งต่างๆ ในช่วงที่ผ่านๆ มา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือก สว. ครั้งนี้ ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ แต่ข้อมูลจนถึงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีคนรับใบสมัครไปแล้วประมาณ 17,000 คน ดังนั้น ภาระงานของผู้ปฏิบัติงานหน้างานจะมีมาก นอกจากจัดการเลือก สว.แล้ว ยังมีหน้าที่ส่งศาลฎีกาเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ถือเป็นภาระหนักเพราะเวลามีจำกัด โดยได้กำชับสำนักงานฯ ให้สนับสนุนผู้ว่า ฯ นายอำเภอเต็มที่ ที่ไหนมีพนักงานเพียงพอก็ประกบทุกหน่วย ทั้งนี้ ในหน้างานปัญหาเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าด้วยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทยจะทำให้การเลือก สว.สำเร็จ เรียบร้อย

นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนที่เป็นประเด็นมาร่วม 2-3 เดือน ที่คนอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูล หรือรับแล้ว แต่เบี่ยงประเด็นให้คนในสังคมสับสน กกต.เจอสภาพนี้มาตลอด เช่น ที่มีนักวิชาการที่ไปให้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ก็ไม่อ่านกฎหมายสักตัว แล้วพูดไปทำให้สังคมเกิดความสับสน แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ กกต.ออกแบบนั้นเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราก็ต้องทำตามกฎหมาย หากหลุดออกจากกฎหมายก็เข้าคุก เข้าตะราง ทั้งนี้ แม้จะบอก สว.ให้เป็นกลาง แต่มันก็เป็นการเมืองอยู่ดี ดังนั้นเมื่อมีการแข่งขัน มักไม่ได้พูดถึงความถูกต้อง แต่พูดถึงใครได้ใครเสีย แต่สำหรับ กกต.จะต้องพูดถึงความถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่สังคมสับสน ส่วนหนึ่งคือบรรดานักวิชาการ นักกฎหมายที่ไปพูดผ่านสื่อ ไม่อ่านกฎหมายสักตัวแล้วพูดให้สังคมสับสน แต่ยอมรับว่า การเลือกสว.ครั้งนี้มีความซับซ้อน โดยหากพิจารณาและทำเป็นขั้นเป็นตอน ก็ถือว่าไม่ซับซ้อน

“สว.ครั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 107 ให้มาจากการเลือกกันเองจากผู้มีความรู้ประสบการณ์ ประวัติการทำงาน อ่านสองบรรทัดก็รู้แล้วว่าประชาชนไม่มีสิทธิ แต่การเลือก สว.นั้น ไม่ใช่การเลือกคนมาจากอนาคตเหมือนการเลือก สส. ที่อนุญาตให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ ว่าเมื่อเป็นแล้วจะทำอะไร แต่ สว.ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆ ต้องการคนดี ซึ่งดูจากประวัติที่ผ่านมา ไม่ใช่ดูจากคำพูดว่า เข้าไปแล้วจะไปทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ไม่ได้เลือกจากการแสดงวิสัยทัศน์ จุดยืนเหมือนนักการเมือง กกต.ก็ต้องมาออกแบบการเลือก ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด” นายแสวงกล่าว

ส่วนการแนะนำตัวของผู้สมัคร ขณะนี้ กกต.ได้แก้ไขระเบียบแนะนำตัวแล้ว สามารถแนะนำตัวผ่านสื่อโซเชียลทุกแพลตฟอร์มได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบแนะนำตัวตามแบบ สว.3 ขอให้ศึกษาระเบียบแนะนำตัวให้ชัดเจน ทั้งนี้ยอมรับว่าในการเลือก สว. ในครั้งนี้รู้สึกสบายใจ เพราะหลายคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และจะเข้าใจกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆจากการศึกษาเอง แต่รายละเอียดบางอย่างจะต้องมีการซักซ้อมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ภายหลังการบรรยาย​ นายแสวงให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการป้องกันการฮั้ว เพิ่มเติมจากกรณียกคำวินิจฉัยของศาล ว่าคงไม่เกี่ยวกับทางกระทรวงมหาดไทยหรือ กทม. เพราะเป็นเรื่องของการทำให้การเลือกไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ถือเป็นสำนวนเป็นคำร้อง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานในการที่จะป้องกัน การจัดตั้ง หรือการฮั้ว การออกเสียงเลือก สว.ก็ถือว่า เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่มาเล่าให้ที่ประชุมฟัง ก็เพื่อที่จะบอกว่า ไม่มีกระบวนการใด ที่จะหยุดยั้งให้เราไม่ได้ สว.200 คน ซึ่งความผิดดังกล่าวไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าในกระบวนการเลือก ทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผอ.เขต ดูแลอยู่แล้วและจะรับผิดชอบโดยตรง และต้องวินิจฉัย แต่การทำให้การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือการฮั้ว การซื้อเสียง ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นสำนวน อาจต้องใช้เวลา เพราะต้องสืบพยานบุคคล เพราะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่กระบวนการ ซึ่งเป็นวิธีการลงคะแนน วิธีการนับคะแนน ซึ่งเราจะวินิจฉัยทันที

เมื่อถามว่ามีประชาชนให้ความสนใจและมาขอรับใบสมัคร 17,000 คน สะท้อนอะไรหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เราเฝ้าดูอยู่ เพราะยังมีเวลาจนถึงวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งต้องดูว่าอีกประมาณกว่า 10 วันนี้ คนจะมาสมัครเพิ่มหรือไม่ ตอนนี้ยังคาดคะเนอะไรไม่ได้ ส่วนกรณีหากมีผู้มาสมัครน้อย ตามกฏหมายระบุว่า หากสมัครไม่ครบกลุ่ม ให้ดำเนินการเลือกตามมาตรา 19 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย สว. และถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น

ถามถึงกรณีกลุ่มผู้สมัคร สว. ไปยื่นศาลปกครองเรื่องระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. และเตรียมนัดพิพากษาในวันที่ 24 พ.ค.นี้ มีแผนรองรับอะไรหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ต้องดูว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร

เมื่อถามต่อว่าได้คาดการณ์หรือไม่ว่าหากระเบียบยังมีปัญหา ต้องแก้ไขอีกหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่าไม่อยากพูดเรื่องในอนาคต แต่ขอให้รอดูคำวินิจฉัย และยืนยันว่า ไม่มีอะไรหนักใจในการเลือกสว.ชุดนี้ เพียงแต่มีคนอื่นหนักใจแทนเรา

ถามว่าเรื่องการฮั้วหากมีข้อมูลเราสามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้หรือไม่ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า หากมีครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถวินิจฉัยได้เลย แต่เรื่องการฮั้ว ต้องอาศัยการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องกระบวนการ ก็จะเห็นทันที จะดำเนินการได้ง่ายกว่า ทั้งนี้เราอยากทำให้การสืบสวนสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นสำนวนในการทุจริต หรือกระบวนการ เราอยากทำให้เสร็จ เพื่อให้สะเด็ดน้ำในทุกอำเภอ เว้นแต่มีความซับซ้อน ในการหาพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และพยานบุคคล แต่ถ้ามีเพียงพอก็ดำเนินการได้เลย

นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17 พ.ค. กกต.จะจัดงาน คิ๊กอ็อฟ การเลือก สว.ที่จะเป็นการทำเอ็มโอยูร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ในการรณรงค์และให้ความรู้เรื่องการเลือก สว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' รีบปัดปมเลือก สว.บอกไม่รู้ขั้นตอน-ไม่ก้าวก่าย

นายกฯ ไม่ขอก้าวก่ายผลเลือก สว.หลังกลุ่มบ้านใหญ่ผ่านเพียบ บอกเป็นไปตามกลไกการตรวจสอบ หากมีการร้องเรียนในอนาคต - เชื่อระบบถูกคิดมาดีแล้ว

ประธาน กกต.มั่นใจวันนี้ได้สภาสูงครบ 200 คนแน่

'ประธาน กกต.' มั่นใจวันนี้ได้ สว. 200 คนแน่นอน ชี้จัดประชุมล็อบบี้ผู้สมัครไม่ผิด กม. แต่ต้องดูว่ามีการให้ผลประโยชน์ หากพบเบาะแสทำผิดแจ้ง กกต.ทันที สั่งเกาะติดผู้สมัครเข้าห้องน้ำ หวั่นเกิดทุจริต

เริ่มแล้วการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 200 คน

เปิดศึงชิงดำ สว.คึกคัก ผู้เข้ารอบเกือบ 3 พันคนทยอยเข้าพื้นที่ เมืองทองธานี กกต.จัดโมบายถ่ายบัตรประชาชนใหม่ รองรับคนขี้ลืม เอื้อไม่ต้องเสียสิทธิเลือก-ได้รับเลือก สว.

“อนุทิน” ย้ำ ห้าม กรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคภูมิใจไทยยุ่งเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวย้ำถึงการห้ามกรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคภูมิใจไทย