‘วิโรจน์’ ชี้กองทัพเรือไม่ผิด ’สุทิน’ อย่าไปรับจบเรือดำน้ำให้ไทยเสียเปรียบ แนะเลิกสัญญา

12 พ.ค.2567-นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก “Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เรื่อง “กรณีเรือดำน้ำ กองทัพเรือไม่ได้ผิดสัญญา อย่าไปรับจบให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ควรยกเลิกสัญญา แล้วเสนองบเข้ามาใหม่ พร้อม Offset Policy“ ระบุว่า จากกรณีที่คุณสุทิน รมว.กลาโหม ได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ถึงการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำ และเปรยมาว่า ทางจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่เดินทางมาไทยภายในเดือน พ.ค. 67 นี้ เพื่อเจรจาหาข้อยุติสุดท้าย

สิ่งที่ผมกังวลมาก ก็คือ คุณสุทินจะไปรับจบ ในแบบที่ประเทศไทยถูกเอาเปรียบ เพราะถ้าหากจำกันได้ในการอภิปรายงบ 67 วาระที่ 1 คุณสุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้เคยพูดในสภาในทำนองว่า ทั้งกองทัพเรือ และบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co.,Ltd (CSOC) ต่างฝ่ายต่างก็เคยผิดสัญญาซึ่งกันและกัน โดย กองทัพเรือก็เคยผิดสัญญา จ่ายเงินล่าช้าในช่วงโควิด ซึ่งประเด็นนี้ ได้รับการยืนยันจากสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้วว่า “กองทัพเรือจ่ายเงินให้กับ CSOC ตรงตามสัญญาตลอด ไม่เคยผิดสัญญา” การที่คุณสุทินจะไปเจรจา โดยคิดไปเองว่ากองทัพเรือก็เคยผิดสัญญา โดยที่กองทัพเรือไม่เคยผิดสัญญาเลบ เป็นท่าทีที่ใช้ไม่ได้เลย

ถ้าจะมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็น CSOC ที่ผิดสัญญากับกองทัพเรือเพราะ การที่สัญญาระบุเลขรุ่นเอาไว้อย่างชัดเจนว่า 16V396SE84-GB31L ซึ่งจะเป็นเลขรุ่นของเครื่องยนต์อื่นไม่ได้ นอกจากจะเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดพลังงานไฟฟ้า MTU396 เท่านั้น ซึ่งสำนักงบประมาณกลาโหม ก็เคยมาชี้แจงยืนยันใน กมธ.ทหาร เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566  มาแล้ว CSOC จะอ้างว่า การที่ตนจัดซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ไม่ได้ นั้นเป็นเหตุสุดวิสัย นั้นเป็นเหตุผลที่ยอมรับไม่ได้เลย เพราะเครื่องยนต์ MTU396 นั้นเป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ และทางการทหาร (Dual Use) ดังนั้นก่อนที่ CSOC จะทำสัญญาต่อเรือดำน้ำขายให้กับกองทัพเรือประเทศไทย CSOC ควรต้องสอบถามจากทางเยอรมนีก่อนว่าจะขายเครื่องยนต์รุ่นนี้ให้ได้หรือไม่ จะคิดไปเองว่า เคยซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาต่อเรือดำน้ำเพื่อใช้ในประเทศจีนเองแล้ว ถ้าจะซื้อมาต่อเรือดำน้ำขายให้กับประเทศอื่น เยอรมนีก็ต้องยอมขายให้ คิดแบบนี้ไม่ได้ จะสังเกตได้ว่าที่ผ่านมา CSOC ไม่เคยอ้างสัญญา หรือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ ว่าได้รับความยินยอมจากเยอรมนีว่าจะขายเครื่องยนต์ MTU396 ให้เลย ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นความหละหลวมของ CSOC เองทั้งสิ้น จะอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้

ต่อมาเมื่อกองทัพเรือทราบว่า CSOC ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ได้ กองทัพเรือจึงได้ทักท้วงไปว่า การจ่ายเงินในงวดที่ 2 ตามสัญญาที่กองทัพเรือได้จ่ายชำระไปแล้ว ตามสัญญา CSOC ต้องระบุรายการการสั่งซื้ออะไหล่อุปกรณ์ในการประกอบเรือดำน้ำ ซึ่งเครื่องยนต์ MTU396 ก็เป็นหนึ่งในรายการอะไหล่อุปกรณ์ที่ทาง CSOC จัดซื้อ กองทัพเรือจึงได้ทวงถามจาก CSOC ให้ส่งหลักฐานการสั่งซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาให้แก่กองทัพเรือ ซึ่ง CSOC  ได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 โดยแนบหลักฐานมาเพียง Email 2 ฉบับ โดย Email ฉบับแรก เป็น Email ที่ขอ Quotation ของเครื่องยนต์ MTU396 ไปยังเยอรมนี โดยเป็น Email ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันที่หลังจากที่กองทัพเรือได้ชำระเงินงวดที่ 2 ให้กับทาง CSOC ไปแล้ว 4 วัน (กองทัพเรือชำระเงินงวดที่ 2 ให้กับ CSOC เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561) และเป็นการชอ Quotation หลังจากที่กองทัพเรือลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือดำน้ำไปแล้วถึง 598 วัน ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่า CSOC เรียกรับชำระเงินจากกองทัพเรือ โดยที่ยังไม่ได้จัดซื้อเครื่องยนต์ MTU396 เลย ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายการผิดสัญญา

Email อีกฉบับเป็นการติดตามเรื่อง แต่ทางเยอรมนีแจ้งว่ายังไม่อนุมัติ จึงเป็นเหตุให้ CSOC ต้องเสนอเครื่องยนต์ CHD620 ที่ผลิตภายในประเทศจีน มาแทนเครื่องยนต์ MTU396 พร้อมเสนอค่าชดเชยให้กับกองทัพเรือเป็นมูลค่า ประมาณ 200 ล้านบาท โดยเป็นส่วนลด 128 ล้านบาท และเป็นการฝึกอบรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 70 ล้านบาท

คำถามก็คือ ประเทศไทยคุ้มเสี่ยงหรือไม่ ที่จะรับเอาเรือดำน้ำที่ จะต้องติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดพลังงานไฟฟ้า CHD620 ที่พัฒนามาจากเครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือผิวน้ำ ที่แม้แต่ประเทศจีนเองก็ยังไม่เคยใช้ (เพราะเรือดำน้ำจีนใช้เครื่องยนต์ MTU396) เข้าใจว่าปัจจุบันเรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ CHD620 น่าจะเพิ่งมีแค่ที่ประเทศปากีสถานเพียง 1 ลำ เท่านั้น แม้ว่าเครื่องยนต์ CHD620 จะผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการจาก Lloyds มาแล้ว แต่เข้าใจว่ากองทัพเรือก็ยังไม่เห็นการทดสอบการใช้งานเครื่องยนต์ CHD620 จริงในทะเล และปัจจุบันจำนวนชั่วโมงการใช้งานจริงของเครื่องยนต์ CHD620 ก็ถือว่าน้อยมากๆ ต่างจากเครื่องยนต์ MTU396 ที่มีการใช้งานจริงมาแล้วถึง 250 เครื่อง คิดเป็นชั่วโมงการทำงานกว่า 310,000 ชั่วโมง

เข้าใจว่ากองทัพเรือ ได้เคยไปดูการทดสอบเครื่องยนต์ CHD620 มาแล้วครั้งหนึ่ง และเพื่อความโปร่งใสกองทัพเรือจึงได้ประสานไปยัง CSOC เพื่อขอให้กองทัพเรือได้พาผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ไปร่วมดูการทดสอบเครื่องยนต์ CHD620 อีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ 2 แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากทาง CSOC โดยมีการระบุข้อความที่สะท้อนการไม่ให้ความร่วมมือเลยว่า “เสียเวลา (Waste of time)” เครื่องยนต์ตัวนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะมีหน้าที่ปั่นไฟเพื่อชาร์ตแบตเตอร์รี่ให้เรือดำน้ำทำงานได้ ถ้าเครื่องยนต์ทำงานผิดพลาด ก็อาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงได้ และที่ผ่านมาก็เคยมีรายงานที่น่าจะเชื่อมโยงถึง เครื่องยนต์เรือดำน้ำมาแล้ว โดยเกิดปัญหาขึ้นกับเรือดำน้ำชั้น Ming หมายเลข 361 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 2546 โดยเครื่องยนต์ชาร์ตไฟเต็มแล้วไม่หยุดทำงาน และดูดออกซิเจนทั้งหมดจากเรือดำน้ำ จนลูกเรือหมดสติเฉียบพลัน มีลูกเรือเสียชีวิตทั้งสิ้น 70 นาย โดยเครื่องยนต์ที่ใช้ ณ ขณะนั้น คือ เครื่องยนต์ Shaanxi 6E 390 ZC1 ที่ผลิตในจีน

สำหรับค่าชดเชยที่คิดเป็นมูลค่าน้อยนิดเพียง 200 ล้านบาท คิดอย่างไร ก็เป็นค่าชดเชยที่เสียเปรียบมาก กองทัพเรือจ่ายชำระเงินค่าเรือดำน้ำไปแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท และมีการก่อสร้างท่าจอดเรือ ระบบสื่อสาร และโรงเก็บต่าง ๆ อีกราว 2,000 ล้านบาท รวมแล้ว 10,000 ล้านบาท จากเดิมที่กองทัพเรือจะต้องได้เรือดำน้ำลำแรกในปี 2566 จะต้องขยายเวลาไปอีกกว่า 1,200 วัน หรืออีก 4 ปี โดยจะได้รับในปี 2570 หากคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นภาระทางงบประมาณของรัฐบาลไทย อย่างน้อย ค่าชดเชยที่กองทัพเรือต้องได้รับจาก CSOC ควรจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ 200 ล้านบาท ตามที่ CSOC เสนอ

ประกอบกับ ปัจจุบันกองทัพเรือมีแนวคิดที่จะใช้ Link Y ซึ่งอ้างอิงมาตรฐาน Link 11 และ Link 22 ของ NATO เป็น Datalink กลางของกองทัพเรือ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่สามารถเชื่อมต่อการสื่อสารข้อมูลกับเรือดำน้ำจีนไม่ได้ ดังนั้น การสื่อสารกับเรือดำน้ำจะเป็นการสื่อสารด้วยเสียงผ่านวิทยุเท่านั้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างมาก ในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือเอง และการปฏิบัติภารกิจร่วมระหว่างเหล่าทัพ เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ถึงประเด็นการผิดสัญญา ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ความคุ้มค่าของการชดเชย ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจทางการทหาร ตลอดจนความจำเป็นของเรือดำน้ำ ผมจึงเสนอทางออกที่คิดว่าเป็นผลดีต่อประเทศที่สุด 2 ข้อ ดังนี้

1) ควรยกเลิกสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำกับทาง CSOC สำหรับเงินที่จ่ายไปแล้ว ถ้าคืนเป็นเงินไม่ได้ ก็เจรจาให้คืนเป็นของ  โดยต้องกระทบกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยให้น้อยที่สุด เช่น ถ้าคืนเป็นเรือ ก็ต้องไม่คืนเป็นเรือฟริเกตเพราะกองทัพเรือมีโครงการต่อเรือฟริเกตในประเทศอยู่แล้ว อาจจะคืนเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) หรือเรือคอร์เว็ต หรือคืนเป็นเรือเปล่า แล้วให้กองทัพเรือเสนอของบประมาณเพื่อติดอาวุธเอง เพราะในปัจจุบันระบบอาวุธใหม่ของจีนนั้น ไม่สามารถเข้ากับมาตรฐานอาวุธของกองทัพเรือ และตามสมุดปกขาวของกองทัพเรือ ก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า จะจัดหาระบบอาวุธที่เข้ากันได้กับอาวุธที่มีอยู่ของกองทัพเรือ

2) สำหรับเรือดำน้ำ หากพิจารณาจากเหตุผลของกองทัพเรือ ที่ระบุว่าปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ไม่มีเรือดำน้ำประจำการ และแผนการใช้เรือดำน้ำ ก็เป็นแผนที่ถูกร่างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็น ถ้าจำเป็นเช่นนั้น ก็ให้กองทัพเรือเสนอคำของบประมาณเข้ามาใหม่ ในปี 69 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy พ่วงมาด้วย อาทิ การจ้างอู่ต่อเรือในประเทศร่วมผลิต เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาอุตสาหกรรมการต่อเรือ ที่ซบเซามาหลายปีจากการที่กองทัพเรือไม่ต่อเรือในประเทศไทย ซึ่ง Offset Policy นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทำกันจนเป็นเรื่องปกติแล้ว

มาเลเซีย จัดซื้อเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซลชั้น Scorpène-class จากฝรั่งเศส โดยมีการชำระเงินบางส่วนเป็นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนมีการจัดตั้งการร่วมทุนระหว่าง DCNS ที่เป็นบริษัทผู้ผลิต และ Atlas Electronik ที่เชี่ยวชาญด้านโซนาร์จากเยอรมนี กับบริษัท Boustead Heavy Industry ของมาเลเซีย เป็นบริษัทร่วมทุนชื่อ Boustead DCNS Naval Corporation เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและการผลิตอะไหล่ของเรือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สนับสนุนการใช้งานเรือดำน้ำทั้งสองลำ

สิงคโปร์ จัดซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี โดยวางแผนล่วงหน้าให้ ThyssenKrupp Marine Systems (TKMS) ของเยอรมนีร่วมมือกับบริษัท ST Electronics ในเครือ ST Engineering ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอาวุธหลักของสิงคโปร์ และ Atlas Electronik ของเยอรมนี ในการร่วมพัฒนาระบบอำนวยการในสนามรบแบบที่ออกแบบเฉพาะมาเพื่อกองทัพเรือสิงคโปร์ (tailor-made combat management system)

อินโดนีเซีย จัดซื้อเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้ ในปี 2554 จาก Daewoo Shipbuilding and Marine Engineering เป็นเรือดำน้ำ Type 209 ที่ได้รับใบอนุญาตการต่อเรือมาจากเยอรมนีอีกทีหนึ่ง สัญญาการจัดหานี้ เรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ แบ่งเป็น 2 ลำแรก ต่อเรือดำน้ำในเกาหลีใต้ และมีวิศวกรและช่างของอินโดนีเซียกว่า 200 ชีวิตที่ถูกส่งไปประจำการที่เกาหลีใต้ ได้รับการฝึกสอนการต่อเรือ ทั้งทางด้านการบริหารโครงการ เทคโนโลยีเรือดำน้ำ เทคนิคการผลิต การควบคุมคุณภาพ และวัสดุศาสตร์ เมื่อ 2 ลำแรกต่อเสร็จ ลำที่ 3 จะถูกต่อโดยรัฐวิสาหกิจด้านการต่อเรือ PT PAL ของอินโดนีเซีย โดยวิศวกร และช่างชาวอินโดนีเซียทั้งหมด

สุดท้ายผมอยากจะย้ำกับคุณสุทินว่า กองทัพเรือ ไม่เคยทำผิดสัญญากับ CSOC ดังนั้นคุณสุทินในฐานะ รมว.กลาโหม ต้องห้ามไปเองว่ากองทัพเรือของเราผิดสัญญา แล้วไปเจรจาให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ถ้าเรือดำน้ำจำเป็นก็ไม่ว่ากัน ก็ให้กองทัพเรือเสนองบประมาณเข้ามาใหม่ แล้วมี Offset Policy ที่เป็นประโยชนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพ่วงมาด้วย ผมว่าประชาชนรับได้ ไม่ใช่จะตะบี้ตะบัน จะเอาเงินภาษีของประชาชนไปแลกเรือดำน้ำแบบได้ไม่คุ้มเสียให้ได้

สิ่งที่ผมเสนอทั้งหมดครบถ้วนแล้ว และทำได้จริง หวังว่าคุณสุทินจะพิจารณาครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุ่มประมง แจ้งความเอาผิดกลุ่มทหารเรือเกือบ 10 นาย รุมทำร้ายร่างกาย

ที่เกิดเหตุบริเวณชายหาด ตรงข้ามหน้าโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ หมู่ที่ 1 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ผู้เสียหายคือ นายอนันต์ นรินทร อายุ 43 ปี

กมธ.ทหาร ถกที่ตั้งค่ายทหาร มทบ.26 ทับที่ชาวบ้าน รองผบ.ฯ รับมีคลาดเคลื่อน

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กรณีการตั้งค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26

'ภูมิธรรม' ดึงเกม 'เรือดำน้ำ' ลั่นตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ขอศึกษาก่อน สรุปเสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเรือดำน้ำ ภายหลัง พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ รอง ผบ.ทร. เข้าพบวานนี้ (26พ.ย.) จะนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณาการแก้สัญญาเมื่อใด

'ภูมิธรรม' ไม่ขีดเส้นตาย 'ทัพเรือ' ชี้แจงเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็นของจีน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเรือดำน้ำ หลังสั่งการให้กองทัพเรือไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ CHD620 ของจีน และการขยายสัญญา 1,217 วัน