สส.ก้าวไกล ตอกรัฐบาลเพื่อไทยอยากย้อนกลับไปสู่ยุคควบคุมผู้ว่าแบงก์ชาติได้ง่าย

'ชัยวัฒน์' ตอก 'รัฐบาลเพื่อไทย' อาจอยากกลับสู่ยุคที่ 'ผู้ว่าฯ ธปท.' ปลดง่าย-คุมง่าย หลัง 'แพทองธาร' ปราศรัยกดดัน ทำต่างชาติเสียความเชื่อมั่น หวัง 'พิชัย' รมว.คลังใหม่ ประสานงานได้ดีกว่า 'เศรษฐา'

6 พ.ค.2567 นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ระหว่างฝ่ายการเมืองรัฐบาลกับ ธปท. ในขณะนี้ ว่า ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ความพยายามที่รัฐบาลจะแทรกแซงธนาคารกลางมีมาโดยตลอด ทั้งไทยหรือต่างประเทศ

โดยหลักสากลคือ ธนาคารกลางต้องมีความเป็นกลาง และดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร เพราะมีเป้าหมายต่างกัน เป้าหมายของฝ่ายบริหารคือ มองในระยะสั้น ทำอย่างไรให้ได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งเป็นหลัก ขณะที่เป้าหมายของธนาคารกลางคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ได้มุ่งสร้างความนิยม แต่ต้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาท

"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่เข้าใจหลักการนี้ ไม่เข้าใจเรื่องการมีโครงสร้างธรรมาภิบาลการบริหารที่ดี และดูเป็นประเด็นทางการเมืองที่พยายามโยนความผิดไปให้ทาง ธปท. มากกว่า" นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับผลกระทบจากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดบนเวที ‘งาน 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 ’ ในเชิงกดดัน ธปท. นั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ส่งผลแน่นอน อย่างน้อยข่าวที่ออกไปก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ จะมองว่ารัฐบาลไทยกำลังพยายามแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้ ธปท. ต้องยืนตรงในหลักการ และหนักแน่นว่าไม่ได้ถูกแทรกแซง ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียความเชื่อมั่น และทำให้คนตีความไปได้ว่ารัฐบาลไทยสามารถแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางได้ ซึ่งความจริงไม่ใช่วิธีการทำงานที่ดีหรือควรทำ

"รัฐบาลมอบหมายเป้าหมายให้ ธปท. ไปทำได้ ในเรื่องของกรอบเงินเฟ้อ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง หรือรักษาเสถียรภาพของเงินบาทและสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ ธปท. เมื่อรัฐบาลมอบเป้าหมายไปแล้ว ก็ไม่ควรไปแทรกแซงวิธีดำเนินงาน หากไม่บรรลุเป้าหมายก็ต้องเรียกมาชี้แจงหรือพูดคุยว่าเพราะอะไร"

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เรื่องเงินเฟ้อของประเทศไทยก็มีความซับซ้อนที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ คือนโยบายการอุ้มค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การแทรกแซงราคาค่าสินค้า ที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เพราะต้องการดูแลค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น จะไปโยนว่า ธปท. ไม่บรรลุกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นความผิดของ ธปท. อย่างเดียว ก็คงไม่ใช่ ควรมาดูรายละเอียดว่าไม่บรรลุเพราะอะไร

"แต่สิ่งที่ออกมาทำตอนนี้ ผมว่าเป็นประเด็นทางการเมืองที่ทาง ธปท. ดูจะแข็งขันในการไม่สนับสนุนการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลจึงอาจอยากกดดันเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงออกมาโจมตี ธปท. ในช่วงนี้หรือไม่" นายชัยวัฒน์ กล่าว

ส่วนจะมีความพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การเมืองเข้าแทรกแซง ธปท. ได้มากขึ้น หรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์ มองว่า อาจจะเป็นไปได้ หากดูจากน้ำเสียงของแกนนำพรรคเพื่อไทยตอนนี้ อาจมีความพยายามนำ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มาแก้ เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ ธปท.) มากเกินไป ทำให้ปลดยาก หากอยากจะปลดก็ต้องแก้กฎหมาย

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาในการขู่ หรือเจตนาจะทำอย่างนั้นจริงๆ แต่สาเหตุที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ว่าฯ ธปท. เพราะในอดีตก็เคยมีการแทรกแซงจากการเมืองมาหลายครั้ง และเป็นธรรมเนียมว่า หากมีการแทรกแซงทางการเมืองให้ผู้ว่าฯ ธปท. บังคับให้ทำสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ผู้ว่าฯ ธปท. ก็มักจะลาออก

"รัฐบาลอาจจะอยากกลับไปสู่ในยุคที่ควบคุมผู้ว่าฯ ธปท. ได้ง่าย ปลดง่าย ก็อาจจะทำให้เขาเล็งไปที่การแก้ไขกฎหมายได้" นายชัยวัฒน์ ระบุ

ขณะที่การปรับ นายพิชัย ชุณหวชิร มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จะทำให้การประสานงานกับ ผู้ว่าฯ ธปท. ดีขึ้นหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรการประสานระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. เป็นสิ่งที่ควรทำและหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ได้เชิญผู้ว่าฯ ธปท. มาพูดคุย และระบุว่า จะเชิญมาพูดคุยกันบ่อยขึ้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะก็มีการโพสต์ข้อความในเชิงตำหนิ ผู้ว่าฯ ธปท. อยู่บ่อยๆ แต่คิดว่าอย่างไร เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีมา ก็คาดหวังว่า จะมีวิธีการทำงานที่ประสานกันได้มากขึ้น

ส่วนแนวทางที่เป็นกลางเพื่อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ นายชัยวัฒน์ ระบุว่า แนวทางที่เป็นกลาง คือถ้าทุกฝ่ายโปร่งใส หากมีปัญหาหรือความเห็นต่างที่คุยกันได้ ก็เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ให้ประชาชนช่วยตรวจสอบ รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรที่ติดตามด้วยอยู่แล้ว ตลอดจนนักวิชาการสามารถแสดงความคิดเห็น และทำให้รู้ได้ว่าสิ่งที่ควรจะทำเป็นอย่างไร คงไม่ได้ต้องทำตามใจใครทั้งหมด ควรทำตามเหตุผลและข้อมูลที่มาสนับสนุนมากกว่า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองเลขาฯเพื่อไทย ฟาดกลับ 'ไอซ์ รักชนก' แซะแจกเงินหมื่นช่วงเลือกตั้งนายก อบจ.

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ใจเย็นๆ นิดนะคะ รัฐบาลตั้งใจส่งเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงมือกลุ่มเป้าหมายให้เร็วที่สุด

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

มองต่างมุม 'ดร.ณัฏฐ์' เชื่อศาลรธน.ตีตกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างฯ

สืบเนื่องจากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการก