'วันนอร์' แนะเดินตามแนวรบ.ทำประชามติ3รอบก่อนแก้รธน. จะปลอดภัย แม้เสียเวลา-งบฯ

'วันนอร์' แนะเดินตามแนว รัฐบาล ชงทำประชามติ3รอบก่อนแก้รธน. เป็นทางปลอดภัย แม้เสียเวลา-งบประมาณ แต่ถ้า2รอบอาจขัดคำวินิจฉัยศาลฯ หวั่นแก้ไขไปก่อนถูกตีตก แย้มถกร่างแก้ไขฯได้ในสมัยวิสามัญได้ ชี้หากเสนอใหม่ สาระ-สถานการณ์จะเปลี่ยน

19 เม.ย. 2567 - ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่ไม่รับคำร้องที่สมาชิกรัฐสภาลงมติเสียงข้างมากให้ตนส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้น และเป็นเพียงข้อสงสัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน และส่งไทม์ไลน์เวลาการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนและรัฐสภาประกอบคำวินิจฉัย อย่างชัดเจนว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทังฉบับ รัฐสภาสามารถแก้ไขได้แต่ต้องทำประชามติก่อน

“หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะแก้ มาตรา256 ที่มีบทกำหนด อาทิเกี่ยวกับอำนาจศาล องค์กรอิสระ หรือบางข้อต้องนำไปทำประชามติก่อน ดังนั้นต้องปฏิบัติตาม” ประธานรัฐสภา กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปลอดภัย เป็นไปตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องดำเนินการ ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชน 3 รอบ ที่จะปลอดภัย แต่เสียเวลาและงบประมาณ แต่หากทำ2รอบ อาจจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

“เมื่อชัดเจนแล้ว อย่าทำอะไรตามคิดเอง เพราะมีกรอบคำวิจิจฉัยและรัฐธรรมนูญกำหนด และศาลรัฐธรรมนูญให้ไทม์ไลน์ เส้นทางแก้รัฐธรรมนูญต้องทำอะไรก่อนหลัง หากทำโดยไม่ตรงกับคำวินิจฉัย จะเสียเวลา ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตก หากมีเวลาทำให้ดีที่สุด เพราะประชาชน อยากให้แก้ไข และเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมือง แต่ทำให้ถูกต้อง อาจจะไม่พอใจแต่ต้องเลือกเส้นทางที่เดินไปได้ หากไม่ทำประชามติก่อน แล้วมีคนส่งไปตีความอีกจะเสียเวลา” ประธานรัฐสภา กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ทบทวนการบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องมีคนเสนอร่างแก้ไขฯเข้ามา หากเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทำประชามติต้องทำประชามติก่อน แต่หากมีเนื้อหาที่ไม่ต้องทำประชามติก่อน สามารถดำเนินการได้ แต่ที่เสนอมาก่อนหน้านี้นั้นเป็นร่างที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งเคยตีตกแล้ว แต่จะเสนอกลับมาได้ เพราะเป็นคนละสมัยประชุม เช่น กรณีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สภาฯต้องพิจารณาว่าบรรจุได้หรือไม่

“จะบรรจุหรือไม่ ผมพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่าเป็นร่างที่เหมือนเดิม หรือร่างที่ปรับปรุง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณา ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากจะถามผมตอนนี้ว่าทบทวนหรือไม่ ยังพูดไม่ได้ สถานการณ์ต้องเปลี่ยนไป” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' รับลูก 'เศรษฐา' ดึงเจ้าสัวช่วยซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่าย

“ภูมิธรรม”รับลูก “เศรษฐา” ดึงเจ้าสัว ปตท. ซีพี ไทยเบฟ ห้าง ปั๊มน้ำมัน ช่วยซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่ายหรือนำไปทำตลาด เพื่อดูแลเกษตรกร 

ทันควัน! ก้าวไกลยื่นญัตติด่วนให้ทบทวนคำถามประชามติใหม่

ก้าวไกลยื่นญัตติด่วน หวังรัฐสภามีมติให้ ครม.ทบทวนคำถามประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญก่อนรัฐสภาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ 'พริษฐ์' ย้ำคำถามที่เปิดกว้างจะเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะสำเร็จ