'โฆษกก้าวไกล' ชี้อภิปราย 'งบปี 67' มีโจทย์ 2 ข้อ อยากให้ประชาชนจับตาดู

"พริษฐ์" เชื่ออภิปรายจะทำให้ ปชช.เห็นชัดขึ้น "งบฯ ปี 67" ถูกจัดสรรในการแก้ไขวิกฤติประเทศ สมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน เผย ซักฟอก ม.152 อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย มั่นใจ ครอบคลุมทุกประเด็น-ไม่ซ้ำซ้อน หวัง ‘นายกฯ-รมต.‘ ไม่หนีตอบคำถาม

19 มี.ค.2567 - ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงวาระการประชุมของ สส.พรรคประจำสัปดาห์นี้ ว่า การประชุมในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับวาระการประชุมสภา ซึ่งเหลืออีกเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น ก็จะหมดสมัยการประชุม โดยคาดว่า ประเด็นเฉพาะหน้าในสัปดาห์นี้ คือเรื่องของการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 20-22 มี.ค.นี้

สัปดาห์ถัดไป จะเป็นวาระของการพิจารณากฎหมาย ซึ่งเข้าใจว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม น่าจะมีการพิจารณาเสร็จสิ้นในชั้นกรรมาธิการ และจะเข้าสู่ที่ประชุมสภา ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3

นอกจากนี้ ตนก็ได้ยินมาว่า อาจจะมีการเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ประธานสภาไม่ได้บรรจุลงในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งของพรรคเพื่อไทยที่เสนอไปเมื่อต้นปี และของพรรคก้าวไกล ก็อาจจะไม่ได้รับการบรรจุด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน

ส่วนสัปดาห์สุดท้าย จะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งถือว่าเป็นสามสัปดาห์ที่มีความสำคัญ

สำหรับการอภิปรายงบประมาณ ตนคิดว่า ทุกคนทราบดีว่างบประมาณ ปี 67 ถูกใช้ไปพลางไปก่อนแล้ว เพราะงบประมาณออกมาช้ากว่าปฏิทินงบประมาณทั่วไป ตนคิดว่า การที่ประชาชนได้เห็นการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 67 และการอภิปรายของ สส.ในสภา จะทำให้ประชาชนเห็นชัดขึ้นว่า งบประมาณ ปี 67 ถูกจัดสรรอย่างสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน ในการแก้ไขวิกฤติต่างๆ ของประเทศ

รวมถึงวาระต่างๆ ที่รัฐบาลอยากจะผลักดัน หากบอกว่าไม่สามารถจัดสรรงบประมาณ ปี 67 ได้อย่างชัดเจนเพียงพอ ก็ยังมีพื้นที่ที่สามารถตัดงบที่ไม่จำเป็นออกในชั้นกรรมาธิการฯ และแปลไปสู่งบส่วนอื่นตามโครงการที่รัฐบาลตั้งไว้ได้

เพราะฉะนั้น ตนคิดว่ามี 2 โจทย์ที่อยากเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนจับตาดู คือ 1.งบประมาณ ปี 67 ยังมีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ 2.รัฐบาลได้ทำเต็มที่หรือไม่ ในการจัดสรรงบประมาณผ่านกลไกกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะทำให้เป็นไปตาม หรือสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลนั้นมีวาระไว้

เมื่อถามถึงการวางตัวคนในการอภิปราย จะมีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ความจริงเข้มข้นทุกวาระอยู่แล้วแทบจะทุกสัปดาห์ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วจะมีกฎหมายของพรรคก้าวไกลเข้าสู่วาระที่ประชุมสภาเกือบทุกสัปดาห์ ทุกการประชุมจึงมีความสำคัญต่อการทำงานของพรรคก้าวไกล ส่วนการอภิปรายงบประมาณ และการอภิปรายทั่วไป เป็นปกติที่พรรคก้าวไกลได้วางไว้ คือมีกระบวนการให้ สส.ที่มีความประสงค์จะอภิปรายมาลงชื่อ แล้วจึงมีการคัดเลือก เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีการอภิปรายครอบคลุมทุกประเด็น และไม่ซ้ำซ้อนกันจนเกินไป เพราะทุกนาทีในสภามีความหมาย ถ้าสองคนพูดเรื่องเดียวกัน ก็เป็นการใช้เวลาที่ไม่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมื่อถามว่าขณะนี้มี สส.ลงชื่อมากน้อยแค่ไหนนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของการอภิปรายงบประมาณ ก็มีการลงชื่อพอสมควร เพราะส่วนใหญ่เป็น สส.ที่ทำงานโดยตรงกับเรื่องนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น สส.ที่ทำงานอยู่ในกรรมาธิการงบประมาณฯ โดยตรง หรือ สส.ที่ทำงานอยู่ในอนุกรรมาธิการงบประมาณฯ แต่ก็ยังมี สส.ทั่วไปที่มีความสนใจด้วย ตนคิดว่า ในมุมของ สส.ที่ได้อภิปรายในภาพรวมไปแล้วในวาระที่ 1 หากเห็นว่า มีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็อาจมีความต้องการลงลึกไปในบางส่วนตามมา

ส่วนจะฝากอะไรไปถึงรัฐบาล ในการวางแผนงบประมาณ ปี 67 ที่ต่อเนื่องไปสู่งบประมาณ ปี 68 บ้างนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า คู่ขนานไปกับการที่ สส.พรรคก้าวไกลมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณ ปี 67 ผ่านชั้นกรรมาธิการฯ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุธ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการคู่ขนาน เพื่อศึกษาการของบประมาณ ปี 68 ตั้งแต่ต้นน้ำ

เพราะที่ผ่านมา ครั้งแรกที่สภาจะได้มีโอกาสตรวจสอบงบประมาณ มักจะเป็นหลังจากที่งบประมาณ มีการจัดทำมา และเสนอเป็นร่างเข้าสู่สภาเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่นายณัฐพงษ์พยายามทำ คือการที่ทำให้ สส.มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบคำของบประมาณตั้งแต่ต้นทาง เพื่อจะได้เห็นว่า แต่ละหน่วยงานมีคำของบประมาณอะไรบ้าง และอาจมีการเสนอแนะไป หากเห็นว่าโครงการไหนดูจะตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์ เพื่อหวังที่จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหารว่า ควรอนุมัติคำของบประมาณอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า แม้จะมีการทำคู่ขนาน แต่รัฐบาลยังมีการจัดทำงบประมาณแบบเดิม จะมีประโยชน์อะไรหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่เราตัดสินใจทำเรื่องนี้ เพราะเราเข้าใจดีว่า ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศตามที่ประชาชนคาดหวัง ก็จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการในการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้น หากอยากให้ประชาชนหรือ สส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะรอเพียงแค่ร่างที่เคาะจากฝ่ายบริหารและเสนอเข้าสู่สภา ก็อาจจะไม่ทันต่อการให้คำแนะนำ หรือการให้ข้อเสนอแนะ

ดังนั้น การที่เราเปิดโอกาส และเพิ่มความโปร่งใส ให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการตัดสินใจก่อนหน้านั้น ก็จะเป็นส่วนสำคัญ หวังว่าความเห็นของ สส.ทุกพรรค จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตั้งงบประมาณ

ส่วนได้มีการตกผลึกแล้วหรือยัง ว่าจะมีประเด็นในการอภิปรายอะไรบ้าง นายพริษฐ์ กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการคัดเลือก ที่คณะกรรมการจะมีการคัดกรอง ซึ่งเมื่อกำหนดวันแล้ว ก็พอจะคำนวณได้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีเวลาในการอภิปรายเท่าไหร่ และด้วยเวลาจำกัดที่เรามีอยู่ จะแบ่งให้ผู้อภิปรายได้กี่คน และครอบคลุมได้กี่ประเด็น ยืนยันว่า ครอบคลุมทุกประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญแน่นอน รวมถึงนโยบายหลักของรัฐบาลที่ประชาชนคาดหวัง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ส่วนการแบ่งเวลาให้แต่ละพรรคนั้น ต้องยึดตามสิ่งที่เคยทำมาในอดีต ที่ต้องจัดสรรให้กับฝ่ายต่างๆ ซึ่งเวลาส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็คงมีการจัดสรรเวลาตามสัดส่วนของ สส.ที่แต่ละพรรคได้ เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของการทำงานในสภาอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจจะไม่มาตอบ สว.นั้น ในส่วนการอภิปรายของ สส.มีความคาดหวังต่อการมาตอบของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรบ้าง นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราคาดหวังให้ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร ให้ความสำคัญกับงานในสภาอยู่แล้ว แน่นอนการมาตอบคำถามของ สส.ในการเปิดอภิปราย เป็นความคาดหวังขั้นพื้นฐาน แต่เราไม่ได้คาดหวังแค่ตรงนั้น เราอยากให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญกับสภา ที่สุดแล้วเราอยู่ในระบบรัฐสภา ที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีความเชื่อมโยงกัน ฝ่ายบริหารเข้าสู่ตำแหน่งได้ก็เพราะได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีไม่เพียงแต่มาตอบคำถาม ในการอภิปราย แต่มาตอบในกระทู้ถามสด กระทู้ทั่วไป หรือแม้กระทั่งให้ความร่วมมือกับการเข้ามาตอบคำถามในชั้นกรรมาธิการ จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้ สส.สามารถทำงานได้เต็มที่ ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และถามคำถามแทนพี่น้องประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พริษฐ์' หวั่นลากยาว กมธ.ร่วมประชามติ นัดถก 30 ต.ค. หาข้อสรุปเกณฑ์เสียงข้างมาก

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ.… ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ฯ นัดแรก

ศาลรธน.ยืนยัน ‘อุดม’ ไม่เสียดสี แค่ตอบ ‘ข้อกม.’

ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือตอบกลับสภาผู้แทนฯ ยืนยัน "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาล รธน. แสดงความเห็นหลังยุบพรรคก้าวไกล "ยุบ 3 วันตั้งพรรค"

'ชัยธวัช' ยกอดีตมี 'นิรโทษกรรม ม.112' จี้พรรคการเมืองตกผลึกได้แล้ว

'ชัยธวัช' จี้ 'พรรคการเมือง' ควรรีบตกผลึก 'นิรโทษกรรม' เหตุ ปปช.รออยู่ ชี้ ในอดีตก็มี 'นิรโทษกรรม ม.112' มาแล้ว ไม่เกี่ยวกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี บอกของ กมธ. เป็นแค่รายงานศึกษา ขอ 'รัฐบาล' อย่ากังวลจนเกินไป

เจาะแพ็กเกจ แก้รธน. พริษฐ์ พรรคประชาชน กับด่านสำคัญที่รออยู่

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนตุลาคม ดูเหมือนจะคลายความร้อนแรงทางการเมืองไปพอสมควร หลัง"พรรคเพื่อไทย"