หัวหน้าก้าวไกล โทษรัฐไทยต้องมีปัญหาแน่ๆ ทำให้ 'ตะวัน' เป็นแบบนั้น

แฟ้มภาพ

14 ก.พ.2567 - เวลา 15.45 น. นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนได้ฟังเพื่อนสมาชิกอภิปรายแล้วมีความเห็นว่าจริงๆแล้วมีความเห็นร่วมหลายอย่าง ประการแรกตนคิดว่าที่เห็นตรงกันว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมือง หรือบุคคลสาธารณะที่สำคัญ นั้นเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องหลักปฏิบัติสากล ประการที่สองคือเราเห็นตรงกันว่าขบวนเสด็จฯของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร ประการที่สาม เราต่างเห็นตรงกันว่าเราไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ. เกิดขึ้นอีก และเมื่อนายเอกนัฏ อภิปรายเปิดญัตติเล่ายอมรับว่าตัวเองเกิดความรู้สึกโกรธในแว้บแรกที่ได้รับทราบเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้นสามารถสงบสติอารมณ์ได้ ในกรณีของนายเอกนัฏด้วยเหตุที่นึกถึงพระราชดำรัชว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ ก็คิดที่จะหาวิธี หรือเสนอวิธีที่จะบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในวันนั้นเกิดการบานปลาย นำไปสู่การปะทะขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า เราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้ได้อย่างไร ตนคิดว่าควรจะถกเถียงอภิปรายกันให้รอบด้าน ตนยังยืนยันว่าเมื่อเราพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัย ที่สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่เกิดขึ้น คือเราไม่สามารถพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น ตนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ที่กระทบกับการถวายความปลอดภัยต่อพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งคือเพื่อเป็นตัวอย่าง คือ เมื่อวันที่ 22 ก.ย 2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายในหลวงรัชการที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เสด็จไปด้วย ระหว่างที่พระราชดำเนินเสด็จพระราชดำเนินไปที่จัดหวัดยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสัปดาห์ก่อนหน้านี้หลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จฯ และเกิดการลอบวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์ นี่เป็นตัวอย่างว่าเหตุการณ์ในวันนั้นถ้าจะแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะกฎหมาย และแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัยเท่านั้น เพราะสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น ซึ่งเหตุการณ์เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยหลายครั้ง หลายกรณีจึงเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสียดายว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ใช้วิธีทางการเมืองจัดการแต่ผิดทาง เพราะหลังจากนั้นเกิดกลุ่มฝ่ายขวาคือ กลุ่มกระทิงแดงในขณะนั้นพยายามใช้กรณีที่เกิดขึ้น การลอบปลงพระชนม์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลา ปลุกปั่น กล่าวหา โจมตีว่ารัฐบาลขณะนั้นที่เป็นรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ ว่าไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นไม่กี่เดือน และกว่าประเทศจะฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ก็ใช้เวลาหลายปี

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า กรณีที่เราอภิปรายตนก็ยังยืนยันว่าเราทราบกันดีว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยอันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งต้องยอมรับตรงนี้ก่อนถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้าน ว่าเราจะจัดการบริหาร จัดการการถวายความปลอดภัย และการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร และแน่นอนว่าวันนี้ไม่ใช่วาระที่เราจะพูดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยละเอียด แต่ประเด็นหนึ่งที่เรียนรู้ได้จากรณีของน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอนที่รัฐไทยสามารถทำให้คนๆหนึ่ง ที่เขาแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองในส่วนของเขา ด้วยการถือกระดาษแผ่นนึง และผลักให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่คิดว่าคนไทยจำนวนมากไม่คิดว่าจะกล้าทำ และเมื่อประชาชนคนหนึ่งอยากจะพูดแต่เราไม่อยากฟังเพราะไม่น่าฟัง และไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน และเราพยายามไปปิดปากเขา สุดท้ายเขาก็เลือกที่ตัดสินใจที่จะตะโกน จึงนำมาสู่สถานการณ์ที่ไม่พึ่งปรารถนา

“ผมเรียนว่าบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่งที่เราควรจะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ในขณะเดียวกันผมคิดว่าคนที่กำลังตะโกนอยู่ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้น การตะโกนไม่มีใครฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึ่งปรารถนาเช่นกัน สุดท้ายไม่ว่าฝ่ายไหน ผมคิดว่าเราไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วกว่านี้ ถ้าถามว่าวันนี้ผมจะเสนออะไรไปยังฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐบาลจากญัตตินี้ นอกจากข้อเสนอเรื่องการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนต่างๆแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง ผมเองไม่สบายใจ ได้ยินสมาชิกฝ่ายรัฐบาลพูดกันถึงถ้าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่น หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง นี่ผมยังนึกว่าเราอยู่ในรัฐบาลจากการรัฐประหาร ผมคิดว่าเราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดี มาแบ่งแยกประชาชนสุดท้ายไม่ส่งผลดีกับใครเลย เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามาแล้วว่าสุดท้ายใช้กำลัง ใช้อาวุธร้ายแรง ยิงไปสู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ฆ่าเขาตายกลางเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ตอกอก หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนสุดท้ายเขาไม่มีทางเลือก และต้องเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆในป่า นี่ไม่ใช่ทางออก สุดท้ายเราก็ต้องจบด้วยการแก้ไขปัญหาทางการเมือง นิรโทษกรรม เปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย วนลูปอยู่แบบนี้ สุดท้ายหวังว่ารัฐบาลของเรา สส.ของเราจะมีสติ และระงับความโกรธอย่างเจ้าของญัตติได้เปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก และเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันสามารถที่จะเห็นจุดร่วมกันได้ เพื่อประเทศออกจากความขัดแย้ง”นายชัยธวัช กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช-ปชน.' ผิดหวังสภาคว่ำข้อสังเกตกมธ.นิรโทษฯ สะท้อนรัฐบาลขาดเอกภาพ

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นำโดย นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ นายชัย

รีรันคำวินิจฉัย 32 หน้า 'ก้าวไกล' ล้มล้างการปกครองฯ สู่ 7 สิงหายุบไม่ยุบพรรค!

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคําร้องกรณีมีหลักฐาน อันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติ

'ชัยธวัช' เคลียร์กระแส 'ถิ่นกาขาวชาววิไล' พรรคสำรองก้าวไกล

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวสส.พรรคก้าวไกล ย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้พูดกันได้ แต่เรื่องยังไม่เ

'พิธา' หวังได้รับความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการแถลงข่าวถึงแนวทางการต่อสู้คดีของพรรคก้าวไกล ถึงการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7