'ชัยธวัช' รับไม่ได้กลุ่ม ศปปส. ใช้ความรุนแรง ชี้สังคมมีความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา

ที่มาภาพเฟซบุ๊ก ชัยธวัช ตุลาธน – Chaithawat Tulathon

11 ก.พ. 2567 – นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงกลางดึกของวานนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2567)

จากกรณีที่หลายฝ่ายมีความเห็นในหลากหลายทิศทาง ต่อการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มกิจกรรมทะลุวัง ที่กำลังเป็นประเด็นขณะนี้ ผมมีความเห็นว่า อันดับแรก เราต้องหันกลับมาทบทวนหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือธรรมชาติของทุกสังคมย่อมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องความเห็นต่อบ้านเมือง แต่ความเห็นที่แตกต่างกันเหล่านั้น ต้องไม่ถูกจัดการด้วยการใช้กำลัง การล่าแม่มด หรือการผลักไสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป ซึ่งจะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีความคิดความเชื่อต่างกันให้มากขึ้น แต่ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อลดช่องว่างทางความเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ในกรณีกลุ่มทะลุวัง ผมเข้าใจดีถึงความคับข้องใจที่พวกเขาแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าพวกเราทราบดี ว่าเนื้อหาสาระกับวิธีการแสดงออก เป็นสองสิ่งที่สำคัญควบคู่กัน การเลือกวิธีแสดงออกแบบใดแบบหนึ่ง ย่อมมีทั้งฝ่ายที่พอใจ/ไม่พอใจ เข้าใจ/ไม่เข้าใจ จึงพึงพิจารณาว่าการแสดงออกทางการเมืองเช่นนั้น สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและเหตุผลภายในใจไปยังประชาชนกลุ่มอื่นในสังคม ให้รับรู้และเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของผู้แสดงออกได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวิธีการที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายเลือกใช้คืออะไร เส้นที่เรา “ต้อง” ไม่ข้ามไป คือการใช้ความรุนแรงตอบโต้ หรือเจตนาทำลายล้างคนที่คิดไม่เหมือนตนให้หมดไปจากสังคม การกระทำของกลุ่ม ศปปส. ที่สยามพารากอนในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมเห็นว่าสังคมไทยทุกฝ่ายต้องเรียนรู้จากความรุนแรงทางการเมืองในอดีต การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังจนนำมาสู่การใช้ความรุนแรง ไม่อาจคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน มีแต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันในสังคม ให้ยากจะหันหน้ามาคุยกันได้ เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ การมีกระบวนการที่โอบรับทุกฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อพูดคุยและพร้อมรับฟังกันและกันอย่างเปิดใจ คือหนทางเดียวที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งนี้

ผมเชื่อว่าเรายังพอมีความหวัง สัญญาณของการพาสังคมออกจากความขัดแย้งยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อยผมเห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการพูดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในหนทางเพียงไม่กี่อย่าง ที่จะสร้างพื้นที่ให้เราหันหน้ามาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ รับฟังกันอย่างมีเหตุผลและอย่างจริงใจ ผมเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการ “เจาะหนอง” ระบายความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรัง ให้ทุกฝ่ายเย็นลงมากพอที่จะมานั่งคุยกัน หาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมายาวนาน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานประชาชนรัฐสภา เครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน จะมีการจัดพื้นที่พูดคุยเพื่อนำไปสู่การลดความขัดแย้งของสังคม ผมจะเข้าร่วมกิจกรรมด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายลองเริ่มต้นมาพูดคุย เปิดใจรับฟังเสียงของกันและกันครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พิธา’อ้อนให้รอ9ปี พร้อมเป็นนายกฯดีกว่าเดิม/‘พท.’มั่นใจ‘ทักษิณ’ยังขายได้

"แกนนำพรรคส้ม" เดินสายหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ ต่อเนื่อง "ชัยธวัช" ลั่นนโยบายที่ท้องถิ่นในอดีตไม่พร้อมทำ "ปชน." พร้อมทำให้ดู 

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

'พิธา-ชัยธวัช' ตามหลังทักษิณ เขย่าหนักใครจะสู้เพื่อคนอุดรฯ มากกว่า

'พิธา-ชัยธวัช' เดินสายหาเสียงเลือกตั้ง 'นายก อบจ.อุดรฯ' ต่อเนื่อง ชี้ ความสำเร็จงานท้องถิ่น หากใครทำไม่ได้ 'ปชน.' พร้อมทำให้ดู ย้ำ ความต่าง 'คณิศร' พร้อมสู้เพื่อครอบครัวชาวอุดรฯ ทุกคน ไม่ใช่ครอบครัวคนอื่น