'หมอระวี' ข้องใจ 'เพื่อไทย' จ่อตั้งคกก.ศึกษานิรโทษกรรม เตะถ่วงรอนักโทษชั้น 14

‘หมอระวี‘ ชี้ ’ก้าวไกล’ ควรเป็นเชื้อไฟ เสนอญัตติด่วน นำ ‘ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม’ เข้าสภา เชื่อมีอีกหลายพรรคยื่นเพิ่ม-จบในเดือนเดียว สงสัย ’พท.’ จ่อตั้ง คกก.ศึกษาฯ เพื่อเตะถ่วงรอ ’คนชั้น 14‘ หรือไม่

29 ม.ค. 2567 - ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ และเครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะสภาที่ 3 เรื่อง ‘ข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง’ โดยมี คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงาน

ผู้ร่วมอภิปรายโต๊ะกลม ได้แก่ ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คณะหลอมรวมประชาชน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

พร้อมด้วยผู้แทนพรรคการเมือง อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ พรรคก้าวไกล ซึ่งมี นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยนพ.ระวี กล่าวว่า การนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง ถ้าไม่ใช่การนิรโทษประชาชน ก็ไม่ใช่การสมานฉันท์ที่แท้จริง การที่พรรคเพื่อไทย และกลุ่มรัฐบาลเดิมมารวมกัน จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลปรองดองหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่รัฐบาลประสานผลประโยชน์หรือไม่ หากมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด ถึงจะเป็นการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง

จากการพูดคุยกับประชาชน ซึ่งมีคำถามว่า ’จะนิรโทษกรรมไปทำไม‘ นั้น ตนขอกล่าวถึง 2 ประเด็น คือ 1. ในส่วนของร่างกฎหมาย พัฒนาการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมในประเทศไทยที่เกิดขึ้น ครั้งที่ได้ผลดีมากที่สุดคือ สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สามารถยุติสงครามทางการเมือง การต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าถ้านิรโทษกรรมถูกที่ถูกเวลา จะทำให้เป็นผลต่อประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจทางการเมืองของประเทศไทย

ส่วนครั้งที่รุนแรงที่สุด คือการนิรโทษกรรมสุดซอยในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งรวมคดีทุจริต คอรัปชัน ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน และเกิดการรัฐประหารตามมา

โดยหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจจนถึงปัจจุบัน ก็มีความพยายามหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 62 แต่ในขณะนั้น การร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องนำเสนอต่อผู้มีอำนาจ และแม้ผู้มีอำนาจจะบอก ว่าทำได้ และเห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรม แต่ในที่สุดผู้นำก็ตีตกไป โดยบอก ว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย ทำตามกฏหมายบ้านเมืองดีที่สุด

“การที่พรรคเพื่อไทย จะตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทางการเมือง ผมไม่รู้ว่าคิดอย่างนั้นจริงๆ หรือต้องการเตะถ่วงรอคนชั้น 14 ไม่รู้จะรออะไร ไม่รู้จะต้องตั้งคณะกรรมการศึกษาไปทำไม ตั้งมาก็เหมือนเดิม” นพ.ระวี กล่าว

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า การที่ตนยื่นร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสังคมสันติสุข ในช่วงกลาง ปี 65 นั้น ได้มีการหารือกับแกนนำฝ่ายอื่นๆ รวมถึงพรรคการเมืองด้วย แม้จะเป็นชื่อตนที่เซ็น แต่เป็นร่างรวมของหลายฝ่าย และไม่ได้ใช้ชื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เปลี่ยนเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข แต่ในเนื้อหามีความจำเป็นทางกฎหมาย ต้องระบุว่าเป็นการนิรโทษกรรมในกรณีใดบ้าง

ซึ่งขณะที่ยื่นนั้น ก็คาดว่าจะเข้าทัน แต่ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและประชาชนก่อน เป็นเวลากว่าสองเดือน ทำให้ร่างที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว บรรจุเข้าวาระเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดการยุบสภาไปก่อน จึงไม่สามารถเสนอในสภาสมัยที่แล้วได้

2.ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งในและนอกสภา ในส่วนสภา ร่างของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยมาก แต่ขณะนี้ก็ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และพร้อมบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม หากสภาเห็นด้วยกับการยื่นญัตติเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นญัตติด่วนได้ ก็อยู่ขึ้นอยู่กับ สส. ทั้งหมดว่าพร้อมจะโหวตหรือไม่

ในส่วนของพรรคครูไทย ที่ใช้ร่างเดิมของตนยื่นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะเสร็จในปลายเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งนำเอา พ.ร.บ.ของตนเป็นต้นแบบ และนำมาเพิ่มข้อความ ในประเด็นปีกย่อยที่แตกต่างกัน แต่มีเนื้อหาหลักเหมือนกัน ก็กำลังจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความเห็น ซึ่งจะใช้เวลาอีกสองเดือน

จึงคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม หากกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น ก็จะมี 3 ร่าง ที่จะถูกบรรจุเข้าวาระการประชุม ถ้ามี สส.คนใดคนหนึ่งยื่นญัตติกลางสภา นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสนอเป็นวาระด่วน หากสภาเห็นด้วย ร่างของพรรคครูไทย และร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะถูกยกเลิกการรับฟังความเห็น และนำขึ้นมาพิจารณาพร้อมกันได้ทันที เชื่อว่าภายในเวลาไม่กี่วัน จะมีร่างของพรรคอื่นขึ้นมาอีก เพราะพรรคอื่นไม่อยากตกขบวน ซึ่งทุกร่างจะถูกนำมาพิจารณารวมกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภา ว่าจะเลือกให้ร่างของพรรคผ่านหรือไม่ผ่าน และร่างที่ผ่านทั้งหมด จะถูกนำไปเป็นกรอบอภิปรายในวาระที่สอง

“ณ ตอนนี้การที่ร่างของพรรคก้าวไกลผ่านแล้ว เรียกว่าเป็นเชื้อไฟที่สามารถยื่นร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาได้แล้ว ถ้า สส.วิปรัฐบาล และ สส.วิปฝ่ายค้านทำร่วมกันได้ ผ่านกระบวนการญัตติด่วน หากไม่ทำเช่นนั้น อาจจะต้องรอคิวถึง 1 ปี“ นพ.ระวี กล่าว

สำหรับการเจรจานอกรอบกับพรรคการเมืองต่างๆ นั้น เกือบทุกพรรคที่ได้หารือ ล้วนเห็นด้วยกับการให้มีการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น ยังไม่มีพรรคใดปฏิเสธ ว่าไม่เห็นด้วย แต่จะกล้าออกมาแสดงตัว หรือกล้าร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาหรือไม่

”อาจจะต้องรอดู ว่าหากพรรคร่วมฝ่ายค้านตกลงก็ได้ ก็ค่อยร่างเข้ามา เพียงแต่เมื่อไหร่ผู้นำจะยอม หากตัดสินใจได้ก่อนปิดสมัยประชุมสภา ให้มีการเสนอเป็นญัตติเพื่ออภิปราย และโหวตในวาระที่หนึ่ง จากนั้นจึงตั้งคณะกรรมาธิการ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่โครงการแลนด์บริดจ์ เดือนเดียวก็จบ สามารถทำทัน ถ้าผู้มีอำนาจปัจจุบันนี้ตัดสินใจ ก็จะทันวันที่ 9 เม.ย. คนที่รอมา 31 ปี ฝันจะได้เป็นจริงสักที แต่หากผู้นำยังขวางอยู่ อาจจะอีก 3 ปีหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ” นพ.ระวี กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า

'เพื่อไทย' เดินหน้าเต็มสูบ 'นิรโทษกรรม' งัดข้อประชามติชั้นเดียว

'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' จ่อเข็น 'กม.นิรโทษฯ' ถกพร้อมร่างอื่น พ่วงเดินหน้า 'กม.ประชามติ' แนะ 'ประธานสภาฯ-วิป' เร่งหารือแนวทาง 'แก้ รธน.' เหตุ อาจเสียเวลาเปล่า

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท