ผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ยันไม่ขอให้ศาลรธน.ยุบพรรคก้าวไกล  แค่ขอให้หยุดจาบจ้วง

ผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ยันไม่มีขอให้ศาลรธน.สั่งยุบพรรคก้าวไกล  แค่ขอให้หยุดจาบจ้วง-กลั่นเซาะบ่อนทำลายสถาบันฯ ลั่นพุธนี้ เจอกันแน่ ไม่หวั่นด้อมส้ม มาเพียบ  

28 ม.ค. 2567 จากกรณีวันพุธที่ 31 มกราคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกลางคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ หรือคดีที่มีการร้องว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ตามลำดับ มีการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ และนำนโยบายแก้ไข 112 ไปหาเสียงเลือกตั้ง เป็นพฤติการณ์ที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ด้านนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ในฐานะผู้ร้องคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า จะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 31 มกราคมนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร เพราะอยากไปฟังคำชี้แนะต่างๆ จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในเรื่องการเมืองการปกครองไทยต่อไป ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรที่อาจจะต้องเจอกับ กองเชียร์ของพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญ และอยากบอกว่า พรรคก้าวไกลมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคฉบับล่าสุด มีการเขียนเรื่องภราดรภาพไว้ในข้อบังคับพรรคก้าวไกลด้วย ซึ่งคำว่า ภราดรภาพ ก็มีหลักสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น สมาชิกพรรคก้าวไกล ผู้นิยมชมชอบในตัวพรรคก้าวไกลต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย 

นายธีรยุทธ เปิดเผยถึงกระบวนการไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาว่า ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีกำลังดำเนินไป ศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือ มีหมาย ไปตามหน่วยงานราชการต่างๆ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำร้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจน สำนักงานศาลยุติธรรม โดยในส่วนของ ศาลยุติธรรม ทางศาลรัฐธรรมนูญ ก็สอบถามไปว่า ในเรื่องมาตรา 112 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ในชั้นศาลอย่างไรบ้าง มีใครเป็นโจทก์ -จำเลย ในช่วงไต่สวนคดีบ้าง และคดีมาตรา 112 ที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลทั่วประเทศ คดีอยู่ที่ศาลจังหวัดใดบ้าง ทางสำนักงานศาลยุติธรรม ก็รวบรวมส่งข้อมูลไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีการส่งข้อมูลไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าคดีเกี่ยวกับมาตรา 112ที่อยู่ในส่วนของตำรวจเป็นอย่างไรบ้าง ขณะที่สำนักงานกกต. ก็มีการให้ข้อมูลว่าตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทางพรรคก้าวไกล ได้อธิบายถึงนโยบายการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 กับกกต.ไว้อย่างไร และกกต.มีความเห็นอย่างไรบ้าง ขณะที่ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีทำหนังสือกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าเรื่องคดี 112 ในส่วนของอัยการ จากการตรวจสอบเป็นอย่างไร 

ผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ดังกล่าว ให้ความเห็นว่า  กระบวนการไต่สวนคดีของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือการที่ศาลเปิดรับข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดมิติต่างๆ รอบด้าน เพราะองค์คณะในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อวางบรรทัดฐานคำวินิจฉัยให้รอบด้านครบถ้วน

นายธีรยุทธ ย้ำว่า คำร้องที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว  ไม่ได้มีการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด โดยในคำร้องได้สรุปไว้ในบรรทัดท้ายว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง (นายพิธา และพรรคก้าวไกล) หยุดที่จะนำนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 มาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และขอให้หยุดในการสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่อง 112 ไม่ว่าจะต่อสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

“พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือขอให้หยุดเถอะ อย่าก้าวล่วงสถาบันฯเลย เพราะแม้จะไม่ได้ถึงกับออกปากก้าวล่วง แต่สิ่งที่ดำเนินการทำอยู่ มันจะเป็นการเปิดช่องเปิดโอกาสให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ในการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ขอให้หยุดเสียเถอะ”นายธีรยุทธกล่าว 

เมื่อถามว่า หากในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 มกราคม มีการระบุว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสอง ไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์  ต่อระบอบการปกครองฯ ตรงนี้บางฝ่ายสามารถที่จะนำไปยื่นกกต.ให้เอาผิดผู้ถูกร้อง ตามพรบ.พรรคการเมืองฯ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่าสำหรับผม ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ก็เลยอาจจะยังตอบไม่ได้ และไม่ได้อยากจะไปพิฆาตฟาดฟันอะไร เพียงแต่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของพสกนิกรชาวไทย จึงขอให้เขาหยุด ให้ฟังเสียงคนอื่นบ้าง 

นายธีรยุทธกล่าวว่าสำหรับที่มาที่ไปของการยื่นคำร้องดังกล่าวสรุปว่า สาเหตุที่ได้มีการยื่นคำร้องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ ในช่วงสภาฯสมัยที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในคณะกรรมาธิการฯบางชุดของสภาฯ ก็เลยได้มีโอกาสเห็น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ส.ส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อกันเสนอสภาฯ สมัยที่แล้ว พออ่านดูก็รู้สึกตกใจ เพราะเห็นว่า ไม่ใช่การเสนอร่างแก้ไขตามปกติ แต่เป็นลักษณะการเสนอให้ยกเลิก แต่ทางพรรคก้าวไกลอ้างว่า ไม่ได้เป็นการยกเลิก แค่เป็นการย้ายหมวด ซึ่งการย้ายหมวดดังกล่าว จากมาตรา  112 พอย้ายหมวดออกไป ก็จะกลายเป็นมาตราอื่น จนกลายเป็นลักษณะความผิดที่สามารถยอมความได้ และร่างแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ก็กำหนดให้ผู้เสียหายที่จะไปแจ้งความดำเนินคดี ก็ให้เพียงแค่”สำนักพระราชวัง”เพียงหน่วยเดียว อันเป็นการทำให้สถาบันฯ ต้องเข้ามามีข้อพิพาทกับราษฎร ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง และต่อมาเมื่อมีการออกมาให้ความเห็นจากหลายฝ่ายเช่นสื่อมวลชนอาวุโส นักกฎหมาย ที่ออกมาให้ความเห็นถึงการเสนอร่างแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ผมก็เห็นว่า ลักษณะการแก้ไขดังกล่าวมันไปตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยคำร้องก่อนหน้านี้ (คำร้องโดยนายณฐพร โตประยูร)ที่เคยไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง(ม็อบสามนิ้ว)ไปเปิดเวทีปราศรัยและประกาศ 10 ข้อเรียกร้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ที่มีเรื่องของการให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือน และส่งผลอันเป็นการกลั่นเซาะ บ่อนทำลาย ที่แม้ตอนนี้จะยังไม่เกิด แต่การกลั่นเซาะ บ่อนทำลายดังกล่าว จะทำให้วันหน้าเกิดขึ้นแน่ ซึ่งวิญญูชนหรือประชาชนทั่วไป ย่อมเล็งเห็นได้ว่ามันต้องเกิดขึ้นแน่ 

นายธีรยุทธกล่าวต่อไปว่า ต่อมาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ผมก็ไปดูว่าตอนหาเสียง พรรคการเมืองดังกล่าว(พรรคก้าวไกล) พูดถึงเรื่อง นโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างไร มีการให้สัญญาไว้อย่างไร ก็ไปปรากฏชัดในวันที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบมไปขึ้นเวทีหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ชลบุรี ที่ตอนนั้นนายพิธา ไปเปิดเวทีปราศรัย เขาก็พูดชัดว่า เขาเห็นด้วยกับการแก้ 112 แต่ว่าต้องเข้าไปแก้ในสภาฯก่อน แต่หากเขาไม่ให้แก้ แล้วเราค่อยลงถนนด้วยกัน คำพูดดังกล่าว ไม่ใช่คำพูดของบุคคลทั่วไป แต่เป็นคำพูดของนักการเมือง แต่เป็นคำพูดของหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ตัวเองก็รู้ว่ากำลังเป็นพรรคที่มีคะแนนนิยมตอนหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต่อไป พรรคการเมืองของเขาต่อไปจะเข้าไปใช้อำนาจ เป็นผู้มีอำนาจ จะเข้าไปเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน จึงควรต้องตระหนัก ดังนั้นสิ่งที่เขานำเสนอออกมา จะเป็นเพราะขาดความตระหนัก หรือเล็งเห็นอะไรหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยที่เราก็รอฟังอยู่ 

“จากพฤติการณ์หลายอย่างที่เราเห็น บวกกับ ความเห็นของนักวิชาการ สื่อมวลชนอาวุโสหลายคนที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ ผมก็เชื่อว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้ทรงภูมิความรู้อยู่แล้ว จะวางบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความสงบสุขในการเมืองการปกครองของบ้านเราไปถึงภายภาคหน้า ที่ก็จะส่งผลไปถึงสิ่งที่ผมคาดหวังมากกว่านั้นก็คือว่า หากต่อไปนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ หรือพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่ หากคิดจะกระทำการหรือคิดวางนโยบาย หรือพูดจาในสิ่งใดๆ มันอาจจะกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาทหรือจาบจ้วงหรือกลั่นเซาะบ่อนทำลาย หรือไปเปิดช่องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันหลักของชาติอื่นๆ ก็ขอให้ดูบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวางไว้ในคดีนี้ เพื่อให้เกิดความตระหนักเพิ่มขึ้น จะได้หลีกเลี่ยง หรืองดการกระทำเสีย เพื่อที่ต่อไปภายภาคหน้าจะไม่เกิดเรื่องราวแบบนี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วกับคำร้องคดีนี้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคาดหวังไว้เท่านั้นเอง”นายธีรยุทธกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิธา มั่นใจ ก้าวไกล ไม่ถูกยุบ แต่เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์

'พิธา' มองบวก 'ก้าวไกล' ยังมีโอกาสรอดสูง พร้อมเตรียมแผนรับรองทุกกรณี ลั่น ถึงไม่สมบูรณ์แบบ แต่การมีอยู่ของพวกผม จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง

'ชัยธวัช' ลั่นทุกคนในพรรคนิ่ง ถ้ายุบจริงเราตกผลึกหมดแล้ว ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยไม่มีการไต่สวน

'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง