’วิโรจน์‘ ปิดทางร่วมงาน ’บิ๊กทิน‘ โวลั่นเจอซักฟอกแน่

25 ม.ค. 2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนคนที่ 1 เป็นประธาน วาระการพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพไปอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกอภิปรายสนับสนุน ว่า ธุรกิจกองทัพไม่ใช่หน้าที่ของทหาร และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นกลไกที่ทำให้กองทัพเข้ามาพัวพันกับการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ และเป็นแหล่งรายได้นอกระบบของนายพล เครือข่ายอุปถัมภ์ที่อยู่หลังม่านการเมือง กลายเป็นวัฒนธรรมสกปรกที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ขาดความโปร่งใส แม้แต่องค์กรอิสระก็น้ำท่วมปาก กองทัพระบุว่าตรวจสอบตัวเอง ซึ่งแท้จริงแล้วคำว่าตรวจสอบตัวเองมัน ก็คือการทำตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ โดยไม่มีการตรวจสอบอะไร ทหารมักจะเอาความมั่นคงของประเทศมาเป็นข้ออ้าง ตนยืนยันว่า ประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับโลก เราอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคง และธุรกิจกองทัพเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศเสียเอง

นายวิโรจน์ ยกดัชนี Government Defence Integrity Index 2020 หรือดัชนี GDI ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้วักคอร์รัปชันกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง แต่ผลการประเมินปี 2020 กลับงามไส้ ประเทศไทยถูกประเมินอยู่ในระดับเสี่ยงมาก ประชาชนเข้าไม่ถึงงบประมาณของกองทัพ สะท้อนว่า กองทัพในปัจจุบันขาดสำนึกว่าเงินที่ใช้จ่ายอยู่ในทุกวันนี้เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน

“นอกจากนี้ กองทัพและกระทรวงกลาโหมไม่เคยให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือกรรมาธิการการทหาร ที่ผมเป็นประธาน เดี๋ยวท่านประธานจะรู้ว่าประธานที่ชื่อวิโรจน์ จะจัดการกับรัฐมนตรีที่ชื่อสุทินอย่างไร” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า หลายครั้งที่หน่วยงานกองทัพไม่ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการการทหาร หน้าดื้อตาใส ซึ่งเราไม่ยอม มีการทำหนังสือทวงถามกับกระทรวง 3 ครั้ง

“จะมีหนังสือจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ส่งโดยตรงถึงนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ขอให้ท่านเร่งสั่งการให้ส่งข้อมูลมาโดยพลัน และมีเส้นตายสุดท้ายจริงๆ เพื่อยืนยันว่าถ้ายังไม่ส่งมา ก็ไม่ใช่แค่หน่วยงานในสังกัดเท่านั้นที่ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ แต่แม้แต่รัฐมนตรีที่ชื่อสุทิน คลังแสง ก็มีเจตนาไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ต้องห่วงครับท่านประธาน เจอผมอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า งบกลาโหมถูกยกเว้นการรายงานอย่างที่ควรจะเป็นตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ต่างจากกระทรวงอื่น “โอ้โฮ ได้อภิสิทธิ์อีก” ซึ่งประชาชนไม่รู้ว่าธุรกิจกองทัพมีรายได้เท่าไหร่ และเรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เคยทราบหรือเคยใส่ใจหรือไม่

“หรือพอทราบแล้วก็อุทานว่า อุ๊ย ผมรับไม่ได้ ประชาชนเขารับไม่ได้มาตั้งนานแล้วท่านนายกฯ ฝากท่านประธานไปด้วย” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ตนและเพื่อน สส.พรรคก้าวไกล ได้ยื่นแก้ไข พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง เพราะกองทัพได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง ในการจัดทำเงินนอกงบประมาณเอง ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้

“หลายวันก่อนก็มีนักข่าวถามว่าไปทำงานร่วมกันกับคุณสุทิน คลังแสง หรือไม่ ผมก็ตอบนักข่าวว่าไปร่วมคงร่วมไม่ได้ แต่ถ้าไปแทนเนี่ยแน่นอน ผมบอกไว้ตรงนี้ว่าผมสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางในการคืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล รวมทั้งให้จัดการเงินนอกงบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ปล่อยให้เสนาพาณิชย์กลายเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ” นายวิโรจน์ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท   

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

'อิ๊งค์-อ้วน' ยัน MOU44 สำคัญ ไทยต้องคุยกัมพูชาชัดเรื่องเขตแดนภายใต้ JTC แล้วนำเข้ารัฐสภา

นายกฯ ยัน MOU44 สำคัญ ย้ำไม่ยกเลิกฝ่ายเดียวจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ไทยต้องคุยกับกัมพูชาชัดเรื่องเขตแดน ภายใต้คกก. JTC เพื่อเป็นหลักฐานการคุย คาดตั้งเสร็จกลาง พ.ย.นี้ ลั่นผลประโยชน์ใต้ทะเลยังไม่คุยจนกว่าจะชัดเจนและนำเข้ารัฐสภา ยอมรับกัมพูชาถามคืบหน้า