“เลขาฯกฤษฎีกา” ชี้ ผลศึกษาแจกเงินดิจิทัล ป.ป.ช. รบ.สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจได้ จะได้รอบคอบขึ้น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจฟัง “สภาพัฒน์-คลัง-ธปท.” เป็นหลัก ไม่ทราบกระแสข่าวไม่ต่อวาระให้ แต่ไม่กังวล
16 ม.ค. 2566 – เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ให้รัฐบาลรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผลการศึกษาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ว่า ยังไม่เห็นผลการศึกษาของ ป.ป.ช.เลย แต่ใครเสนออะไรมาก็ควรจะฟังประกอบการพิจารณา จะได้รอบคอบ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหน่วยงานไหนหรือไม่ ที่รัฐบาลจะต้องฟัง โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าตัวเลขทางเศรษฐกิจก็มีหน่วยงาน อย่างเช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คงเป็นหลัก เมื่อถามว่า ส่วนหน่วยงานอื่น เป็นความเห็นที่รับฟังไว้เฉยๆ ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว หลักคือ รับฟังความคิดเห็นเอามาประกอบการตัดสินใจ ยิ่งได้ข้อมูลมากก็เอามาประกอบการตัดสินใจได้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น เมื่อถามว่า สำหรับผลการศึกษาของ ป.ป.ช. มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน นายปกรณ์ กล่าวว่า ก็ควรจะรับฟัง เพราะในแง่ของการที่ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ มีข้อสังเกตมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ควรจะประกอบการพิจารณาด้วย
เมื่อถามถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในปีนี้ นายปกรณ์ กล่าวว่า “ไม่รู้” เมื่อถามย้ำว่า กังวลหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า “ไม่มีอะไรกังวลครับ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"