"ดิเรกฤทธิ์" มั่นใจ สว.เข้าชื่อเกิน ขอเปิดอภิปราย ม.153 ได้แน่ ชี้ความแตกต่างรัฐบาลประยุทธ์ เหตุรัฐบาลเศรษฐา มีพันธะสัญญาตามสิ่งที่หาเสียงไว้-ส่งผลต่อความคาดหวังปชช.
8 ม.ค. 2567 - ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า เป็นการอภิปรายเฉพาะเรื่อง เป็นสิทธิ และอำนาจของผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย สส. หรือ สว.ก็ตาม เพราะเป็นผู้แทนของประชาชน นอกจากนี้ เรายังมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย เราติดตามการบังคับใช้กฎหมาย การกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติของวุฒิสภา มีบทบัญญัติชัดเจนให้สามารถเชิญรัฐบาลมาสอบถาม และชี้แจง ถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ทำไป รวมถึงสามารถเสนอแนะให้กับรัฐบาล เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะหลายเรื่องที่ประชาชนข้างแคลงสงสัย ไม่มีพื้นที่รับฟังคำอธิบาย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สามารถใช้พื้นที่สภาฯ อธิบายผ่านวุฒิสภาสู่ประชาชน
เมื่อถามว่า สว.จะนำเรื่องใดขึ้นมาอภิปรายเป็นพิเศษหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ภาพกว้างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนโยบายจะแก้ไขทั้งฉบับ รวมถึงการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น เนื้อหา ขอบเขต ที่จะแก้ รวมถึงสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่มีความไม่โปร่งใส รวดเร็ว และยังไม่ได้อธิบาย เรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน
ทั้งนี้ สว. มี กมธ. 26 คณะ ซึ่งมีประชาชนมาร้องเรียนนำปัญหา และคำถามมาสะท้อนมากมาย นอกจากนั้น สว.ชุดปัจจุบัน ที่ยังทำหน้าที่อยู่ มีเรื่องที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปี คือเรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องที่สำคัญ การขับเคลื่อนผ่านรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่สำเร็จ อยากรู้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับทิศทาง และวิธีการเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า หลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา เวลามีกระทู้ถามด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือ รวมถึงหารือความเดือดร้อนของประชาชนไปยังฝ่ายบริหาร บางทีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ก็ไม่มาตอบ ตรงนี้เป็นผลเสียของรัฐบาลเองที่มีเวทีแล้วไม่มาชี้แจง เป็นผลเสียต่อประชาชนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญมาตรา 153 จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
เมื่อถามถึงกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใส สามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า มีหลายประเด็น ทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่มากมาย เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่อยู่ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย เราไม่ได้ก้าวล่วงดุลพินิจ แต่เราอยากสร้างความเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องหลายกรณีที่ประชาชนสนใจ
ส่วนหวังว่าจะให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อดีของมาตรานี้ คือกำหนดให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ สว. นอกรอบพบว่า คนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน
โดยในวันนี้จะมีการประชุม กมธ.การพัฒนาการเมือง ซึ่งเราเห็นพ้องกัน แต่จะมาดูญัตติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมตัวว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า หลายคนมองถึงความจำเป็น เป็นวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผิดกฎหมายฉบับไหนหรือไม่ สามารถดำเนินการได้หรือไม่ มีหลายแง่มุมที่ยังมีข้อถกเถียง
“ทำไมเราไม่ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง เพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงเหตุผลในการที่ตัดสินใจเปิดการอภิปรายแบบไม่ลงมติรัฐบาลชุดนี้ ที่เพิ่งทำงานได้ 4 เดือน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็มีการมารายงานทุก 3 เดือน ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกมธ. ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นก็แตกต่างกับรัฐบาลชุดนี้ ที่มาจากประชาชน พันธะกรณี ข้อผูกพัน กับสิ่งที่หาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธะสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อน และมีความคาดหวังจากประชาชน
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวย้ำว่า การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ในการอภิปราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปธ.วันนอร์' เปิดประชุมร่วมสองสภา ถก 'พิธีสาร-กม.ป.ป.ช.'
'ประธานวันนอร์' เผยถกวิป 3 ฝ่าย ก่อนประชุมร่วมรัฐสภา เลื่อนพิจารณาพิธีสาร-กฎหมายป.ป.ช. พร้อมวางกรอบเวลาอภิปราย
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ชัด 'ประชามติชั้นเดียว' แค่ยกแรก 'แก้รธน.ทั้งฉบับ' เจอด่านหิน-นโยบายขายฝัน!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ กลไกแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านด่านหินยาก แม้เพื่อไทยใช้เทคนิคช่องทางพ้น 180 วัน ผ่านร่าง พรบ.ประชามติ เป็นเพียงนโยบายในฝัน
มติ 153 สว. ยืนประชามติ 2 ชั้น! อบรม 'ไอติม' พูดได้ไงจะมีผู้รณรงค์ให้ปชช.นอนหลับทับสิทธิ์
สว. ยกมือพรึ่บ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น ก๊วนสว.พันธุ์ใหม่ โวยดัดจริต สองมาตรฐาน โธ่! "ไอติม" โชว์กึ๋นนักเรียนนอก บอกสองชั้นเปิดช่องรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ สว.สีน้ำเงิน สวนทันควันใครจะกล้าทำแบบนั้น
กกต. ยื้อเชือด 'หมอเกศ' สั่งสอบเพิ่มปมวุฒิการศึกษา
มีรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีวาระพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกรณีพญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา ถูกร้องว่ากระทำการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ
‘สว.เปรมศักดิ์’ โวย ‘รมต.’ เมินตอบกระทู้ ประชดต้องฟ้อง ‘รัฐมนเอก’ ปรับจาก ครม.
รัฐบาลน่าจะแสดงความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาตอบ ส่วนกระทู้สดไม่ได้ถามเลยแม้แต่กระทู้เดียวโดยรัฐบาลอ้างว่ามอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยมาตอบ แต่ทางรัฐมนตรีก็เลื่อนออกไปอีก
ดิเรกฤทธิ์ ชี้ปมชั้น 14 เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องถูกลงโทษ ทำผิดกฎหมาย
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย อดีต ส.ว. โพสต์ข้อความ