“นิกร” เผย อนุกรรมฯ ชงกรรมการชุด “ภูมิธรรม” 25 ธ.ค. นี้ ทำประชามติ 3 ครั้ง เผยแนวคำถาม 2 รูปแบบ ขณะที่ สสร.100 คน เลือกตรง 77 จังหวัด และทางอ้อม 23 คนภาคประชาชน และ ผู้เชี่ยวชาญ
22 ธ.ค.2566 - เมื่อเวลา 15.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสรุปของอนุกรรมการฯ ที่เตรียมเสนอ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์เป็นประธาน ในวันที่ 25 ธ.ค.
โดยข้อสรุปที่เราจะเสนอคือ คณะอนุกรรมการเสนอให้มีการทำประชามติทั้งสิ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 1 ก่อนเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ภายหลังแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่เปิดช่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำประชามติ และครั้งที่ 3 หลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ก่อนนำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯก็จะทำประชามติ โดยการทำแต่ละครั้งจะมีค่าใช่จ่ายประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่ต้องไปดูว่าจะมีวิธีการที่ประหยัดได้หรือไม่เช่นทำพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆอาทิการเลือกตั้นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการทำประชามติ 3 ครั้งนี้สอดรับกับคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานอีกด้วย นอกจากนี้ทางอนุกรรมาธิการยังจะเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์สะดวกขึ้น
นายนิกร กล่าวอีกว่าคณะอนุกรรมาธิการ ยังมีความเห็นเกี่ยวกับคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติครั้งแรก แบ่งเป็น2 แนวทาง คือแนวทางที่1 จะเป็นคำถามเดียวโดยมีการเสนอ 2 คำถาม ให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ประกอบด้วยคำถามที่ 1 คือ จะตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสสร. โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 บททั่วไป และหมาด 2 พระมหากษัตริย์” คำถามที่ 2 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.”
นายนิกร กล่าวอีกว่า แนวทางที่ 2 ในการตั้งคำถามประชามติคือ จะถามเป็น 2 คำถาม โดยแนวคำถามที่ 1 จะถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และ หมวด 2” และอีกคำถามคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ สสร. เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แนวคำถามที่ 2 ประกอบด้วยคำถามที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.” และคำถามที่ 2 คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สสร.เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
นายนิกร กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นจำนวนที่มาของ สสร. จากการรับฟังความคิดเห็นจะให้มีสสร. 100 คน เลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงจากประชาชนจังหวัดละ 1 คน ร่วม 77 คน ส่วนที่เหลือจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านรัฐสภา 23 คน แบ่งเป็น องค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน ที่เหลืออีก 13 คน จะมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ จำนวน 4 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญจำนวนอีก 4 คน พร้อมกันนี้คณะอนุกรรมการยังเสนอให้นำความคิดเห็นของประชาชนที่แตกต่างและหลากหลายโดยรวบรวมเพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป อย่างไรก็ตามข้อสรุปที่กล่าวมานี้จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการชุดพิจารณาจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้ายว่าแนวทางการทำประชามติจะเป็นอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' เมินเสียงต้าน 'กิตติรัตน์' นั่งประธานบอร์ด ธปท. ไม่ขาดคุณสมบัติก็เป็นได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสต้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.คลัง สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่งตำแหน่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเกรงว่าการเมืองจะเข้ามาแทรกการทำงานของธปท
'ภูมิธรรม' แจง MOU ปี 44 ไม่เกี่ยวเกาะกูด เป็นของไทย 100% เอาให้ชัดจะให้ยกเลิกอะไร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่าในที่ประชุมจะมีการหยิบยกประเด็นการยกเลิกเอ็มโอยู 44 ที่เคยทำในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีพิจารณาหรือไม่
ชัดเจน! พท.โยนขี้พ้นตัว แก้รธน.ไม่ทันไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรค
“เพื่อไทย" ชงกมธ.ร่วมลดเกณฑ์ประชามติ อ้าง ถ้าแก้รธน.ไม่ทัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพรรค ชิ่งห้ามความคิดใครไม่ได้
สอน 'เพื่อไทย' หัดเอาอย่าง 'อภิสิทธิ์' นักการเมืองรักษาสัจวาจา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทย ไม่นิรโทษ มาตรา 112 ไม่แคร์มวลชน แต่แคร์พรรคร่วม
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
'ภูมิธรรม' เชื่อไม่เสียมวลชน เพื่อไทยไม่แตะคดี 112 เสนอร่างนิรโทษกรรม
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ไม่แตะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112