
“ทีมไรท์”ยื่นจดหมายแสดงเจตจำนงผ่าน “นิกร” ย้ำการแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 พร้อมตั้งคำถามใช้งบดำเนินการ 4,000 – 6,000 ล้านคุ้มค่าภาษีของประชาชนหรือไม่
10 ธ.ค.2566 – ที่รัฐสภา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี นายฤกษ์อารี นานา น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ และ ประชาชนจิตอาสา ในนาม “ทีมไรท์” เป็นตัวแทนยื่นจดหมายรวบรวมรายชื่อประชาชนที่แสดงเจตจำนงค์หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ต้องไม่แก้ไข หมวด 1 และ หมวด 2 หมวด” โดยยื่นให้แก่นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ทั้งนี้ หลังจากยื่นจดหมายแสดงเจตจำนงแล้ว “ทีมไรท์”ได้เข้าร่วมรับฟังเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” ที่นายนิกร จำนง เป็นผู้ร่วมเสวนา ร่วมกับ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่ม iLaw, รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นการเสวนาทีมไรท์ได้รวมตัวกันจัด “Perspective coffee chat แลกเปลี่ยนมุมมอง” เป็นการพูดคุย ถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ได้รับฟังจากเวทีเสวนา “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” ระหว่างสมาชิกทีมไรท์ เยาวชน และประชาชนที่ได้มาร่วมฟังการเสนวนาด้วย
นายฤกษ์อารี นานา หนึ่งในแกนนำของทีมไรท์ และเป็นทายาทของ นายไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองไทย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2475 ที่คณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
นายฤกษ์อารี กล่าวด้วยว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ การเมืองการปกครองถูกเปลี่ยนผ่านมาขั้วอำนาจมาหลายทศวรรษ จนมาถึงคณะรัฐมนตรีไทยที่ 63 ในปัจจุบัน ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ยังถูกตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และถูกเรียกร้องให้มีการทำประชามติจากประชาชน โดยใช้งบประมาณ 4,000 – 6,000 ล้านบาทในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย
“ พวกเราทีมไรท์ตั้งคำถามในความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเราต้องการแสดงจุดยืนว่าหากจำเป็นจะต้องแก้จริงๆ ต้องคงไว้ซึ่งหมวด 1 และ 2 ที่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีความคุ้มค่ามากเพียงใดเทียบกับงบประมาณที่จะต้องเสียไป การกระทำเช่นนี้แทนที่จะเป็นการส่งเสริมความสมานฉันท์ แต่จะกลับเป็นการทวีความแตกแยกในสังคมไทยหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ใช่พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรให้มีประสิทธิภาพ ให้คุ้มค่าต่อภาษีของประชาชนอย่างแท้จริง” นายฤกษ์อารี กล่าว
ด้าน น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ หนึ่งแกนนำของทีมไรท์ กล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญนั้นมีส่วนช่วยในการวางกรอบการปกครอง กำหนดสิทธิและเสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การตั้งคำถาม และขอบเขตเหล่านั้นเพียงพอหรือไม่ ชอบธรรมหรือไม่ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติในระยะยาวหรือไม่ การเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้เป็นฉบับใหม่ จะใช้กระบวนการอะไร ผู้ร่างมีความชำนาญการเพียงพอไหม ทั้งหมดประชาชนยังต้องการคำตอบ
สำหรับ “ทีมไรท์” คือการรวมตัวกันของกลุ่มนักคิดและนักปฏิบัติ ทั้งภาคการเมือง ภาควิชาการ และภาคประชาชน ภายใต้สโลแกน ‘ทำที่ใช่ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง’ ซึ่งในครั้งนี้ได้ใช้ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย รวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อแสดงความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน โดยทีมไรท์มีจุดยืนในสาระสำคัญที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ต้องไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป ชาติ รูปแบบการปกครอง หมวด 2 หมวด สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเด็ดขาด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภท.' เอาด้วยส่งศาลตีความประชามติ ชี้คนละเรื่องกับรอบก่อน
'โฆษกภท.' เผยมติพรรค หนุนญัตติส่งศาล รธน.ตีความ แก้ รธน.ก่อนประชามติ บอกไม่ย้อนแย้งรอบที่แล้ว เหตุเป็นคนละประเด็น
'เปรมศักดิ์' เดินหน้าเสนอญัติติส่งศาลรธน. เชื่อมีเจตนาเดียวกับพท.
"เปรมศักดิ์” เดินหน้าต่อ ลุยเสนอญัตติส่ง ศาลรธน. เชื่อองค์ประชุมไม่ล่มซ้ำรอยเดิม หวังว่าทุกฝ่ายจะดำเนินการตามข้อเสนอเชื่อมีเจตนาเดียวกับเพื่อไทย
แก้รธน. ส่อระอุอีก 'สว.' บี้ 'ศาลรธน.' ไม่มีเหตุไม่รับคำร้อง ตีความประชามติ
จี้ให้ส่งคำตอบโดยเร็วภายในหนึ่งสัปดาห์ หากจันทร์นี้ รัฐสภาลงมติส่งคำร้องให้ศาลรธน.ตอบมาให้ชัด แก้ 256 ตั้งสภาร่างรธน. โดยไม่ต้องทำประชามติก่อนได้หรือไม่
'รทสช.' มีมติหนุนส่งศาลตีความ ปมอำนาจสภาแก้รธน.
'รทสช.' มีมติเห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปมอำนาจสภาแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำเรื่องใหญ่ ทำประชามติใช้งบ 4 พันล้าน จำเป็นต้องรอบคอบชัดเจน
สว.สีน้ำเงินถล่ม 'ยุติธรรม-ดีเอสไอ' ปูด ทฤษฎี 0 มีค่ามากกว่า 1 หวังยึดสภาสูงแก้รธน.
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติเรื่องขอเสนอ
'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' ร้าวลึก! ใกล้จุดแตกหักเปลี่ยนขั้วการเมือง
รอยร้าวทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) กับ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีการขบเหลี่ยมกันอย่างต่อเนื่อง และกำลังจะถึงจุดแตกหัก