นายกฯ ฉุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กี่บาท 3 จังหวัดใต้ซื้อไข่ลูกเดียวยังไม่ได้

9 ธ.ค.2566 - ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการไตรภาคีมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก และขึ้นมาน้อยมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน โดยรัฐบาลพยายามทำหลายวิธีที่จะให้ลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร และอีกหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ของประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ รัฐบาลพยายามทำอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ก็สำคัญ โดยประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัด ขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้นซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับ ให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น
 
นายกฯกล่าวว่า ตนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องขอวิงวอนและขออ้อนวอนว่า พี่น้องแรงงาน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น อีกทางหนึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกทาง แต่การขึ้นรายได้ ผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้พัฒนากิจการของตัวเองเลย ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันนายจ้างก็ได้ประโยชน์ จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน และอีกหลายอย่างตามมาตรการของรัฐบาล
 
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เราจะยอมให้แรงงานประชาชนคนไทยต่ำติดดินแบบนี้หรือ ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยเช่น สิงคโปร์หรือเกาหลี สิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการก็ควรที่จะทำไปพร้อมๆกัน ถ้าทำเพียงฝ่ายเดียวเป็นไปไม่ได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าในเรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ เดี๋ยวจะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสม เพราะเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีการเพิ่มรายได้เปิดตลาดที่มากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว ถึงเวลาต้องคืนให้กับคนที่เป็นกำลังสำคัญในภาคผลิตด้วยหรือเปล่า พอพ้นจากวันหยุดก็จะมีการเรียกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกคนมีความกังวลหมด ขอให้คิดถึงใจเขาใจเรา
 
เมื่อถามย้ำว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้รับการปรับขึ้นมานาน แต่ขณะนี้ปรับเพียงแค่ 2 บาท จะมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้พูดคุยกันเรื่องนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาท่องเที่ยว การเปิดด่านสะเดา มีการลงทุนสร้างสะพานไปยังมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงขึ้นแค่ 2-3 บาท ยอมรับว่าตนไม่สบายใจ ถึงอยากใช้เวทีนี้สื่อสารไปถึง และขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่อย่างนั้นจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งกับไตรภาคี และในครม.เพราะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรมควรจะอยู่ที่ตัวเลขเท่าไหร่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ โดยจะต้องฟังเหตุผลของเขาเหมือนกัน อย่างที่บอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าผู้ประกอบการจะอ้างเรื่องผลประกอบการไม่ดีเพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นายกกล่าวว่า รัฐบาลก็พยายามช่วยอยู่ โดยเฉพาะการลดค่าไฟที่ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์ จากที่ 4.50 บาทต่อหน่วย ลดมาเหลือ 3.99 ดังนั้นขอให้คืนกับประชาชนบ้าง ขอย้ำว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่แล้ว
 
เมื่อถามว่าหากมีการปรับเพิ่มขึ้นจำนวนมากอาจจะมีปัญหาเรื่องของการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีหรอกครับอันนี้เป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้น จาก 300 เป็น 400 บาทไม่มีหรอก รัฐบาลยังมี มาตรการส่งเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี สถานศึกษาก็ดี โครงสร้างพื้นฐานและสนามบินก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็มี ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศก็ได้เซ็น MOU กับหลายบริษัทใหญ่ๆ ทั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ถ้าผู้ประกอบการไม่ช่วยกันก็ไปลำบาก
 
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาทตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่าสิ่งต่างๆที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้และยังอำนวยความสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ
 
เมื่อถามว่านายกฯจะสื่อสารไปยังผู้ใช้แรงงานอย่างไรเพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ขอให้ผู้ใช้แรงงาน ดูการกระทำว่าตนมีความจริงใจขนาดไหนอย่างไร เราให้ความสำคัญสูงสุด การที่ตนไปพูดที่หอการค้าไทย ขอให้ฟังดูว่าเขาดีใจหรือไม่ที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรม รัฐบาลพยายามสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และเข้ามาอยู่ในประเทศไทยง่ายและปลอดภัยขึ้น ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจ
 
" วันนี้ผมไม่ได้มาหาเสียง เพราะการหาเสียงจบไปแล้ว แต่เราพูดถึงความเป็นจริงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องได้รับการดูแลควบคู่กันไปด้วย ขออ้อนวอนไปถึงนายจ้างให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานด้วย"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. จะพิจารณาอย่างไร นายกฯกล่าวว่า ต้องดูว่ามีความจำเป็นว่าจะเสนอเข้ามาหรือไม่ ถ้าเสนอเข้ามา ตนไม่ยินยอมไม่เห็นด้วยแน่นอน ตนเชื่อว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำเราดูที่ความเหมาะสม เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ หลายประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำเขามากกว่านี้ วันนี้เราชนะสิงคโปร์ในแง่ดึงดูดนักลงทุน บริษัทใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center เป็นนิมิตรหมายอันดีว่าประเทศเรามีศักยภาพสูง แต่ทำไมจึงไปกดผู้ใช้แรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศ
 
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรี รู้สึกเหมือนมีความฉุนเฉียวที่พูดถึงเรื่องนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับฉุน เพราะการที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องดูแลประชาชน 60 ล้านคน ไม่ใช่ดูแลแค่มาเอาคะแนนเสียงกับผู้ใช้แรงงานอย่างเดียว แต่นายจ้างและผู้ประกอบการก็ไปรับฟังความเห็นตลอด และพร้อมจะช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว
 
 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมว. พิพัฒน์ มอบ เลขา อารี ลงพื้นที่ จ.ระยอง เปิดอาคาร สปส. สาขาปลวกแดง สร้างความเชื่อมั่น พร้อมยกระดับการให้บริการ

ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

”พิพัฒน์“ เปลี่ยนกระทรวงสู่ยุคAI สร้างทักษะการใช้ AI บริการหางาน พัฒนาฝีมือ แจ้งข้อร้องเรียน รับสิทธิประกันสังคม ให้สะดวก รวดเร็วขึ้น .

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในงานการประชาสัมพันธ์ด้านปัญญาประดิษฐ์และการนำไปใช้สำหรับบุคลากรภาครัฐ (Kick off Artificial Intelligence Literacy for Government officer)

"พิพัฒน์" รมว. แรงงาน มอบ "มารศรี" เลขาธิการ สปส. รุดตรวจสอบ พร้อมให้การช่วยเหลือลูกจ้างประสบเหตุถังแก๊สระเบิดโรงงานเหล็ก จังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 67 เวลาประมาณ 09.40 น. เกิดเหตุการณ์ถังแก๊สระเบิด และเกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตเหล็ก ของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย

“พิพัฒน์” นำกระทรวงแรงงาน Roadshow Matching งานให้คนไทย เพิ่มโอกาสทำงานต่างประเทศ เปิดที่แรกกรุงโตเกียว

วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

“พิพัฒน์” เยือนญี่ปุ่น ถกรัฐมนตรีแรงงาน นายจ้างญี่ปุ่นต้องการแรงงานทักษะ16 สาขา 820,000คน ที่แรกกรุงโตเกียว

วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบเข้าพบ Mr. Takamaro FUKUOKA

“พิพัฒน์” พบ รมว.แรงงาน ญี่ปุ่น ถกเพิ่มอัตราจ้างคนไทยดูแลผู้สูงอายุ พร้อมหนุนองค์กรรับส่งแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี