แก้รธน. เริ่มนับหนึ่ง! ‘ก้าวไกล-อนุคกก.’ เห็นร่วม ‘จำนวนครั้ง-ให้ความสำคัญตั้งคำถามหลักแรก’ ทำประชามติ ‘ชัยธวัช’ ย้ำ 3 ข้อเสนอ ควรมีคำถามพ่วง เพื่อสร้างฉันทามติใหม่ ‘นิกร’ ยัน ควรให้ ‘สสร. ‘ มาจากสัดส่วนอาชีพด้วย
14 พ.ย.2566 -เวลา 12.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ภายหลังการประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งมีนายนิกร จำนง เป็นประธานฯ และพรรคก้าวไกล โดยมี นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ร่วมหารือ รับฟังความเห็น เกี่ยวกับการจัดทำประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายชัยธวัช กล่าวว่า การรับฟังในวันนี้ เป็นไปได้ด้วยดี ได้มีการแลกเปลี่ยนกันในรายละเอียดหลายๆ เรื่อง เข้าใจเจตนา เนื้อหา ซึ่งกันและกัน ซึ่งข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ก็คงจะมีประโยชน์พอสมควรกับการทำงานของอนุกรรมการฯ และกรรมการชุดใหญ่หลังจากนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกล มี 3 ข้อเสนอหลัก คือ 1.กระบวนการจัดทำประชามติควรจะมีกี่ครั้ง 2.คำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร 3.ข้อเสนอในการแก้ไข
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอว่า ควรจะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งหลังให้เป็นไปตามกระบวนการตามธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของครั้งแรก ควรจะต้องมีการจัดทำประชามติก่อน ก่อนที่สภาฯ จะมีกระบวนการในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.เพื่อทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีความชอบธรรมทางการเมือง 2.เพื่อแก้ปัญหาการตีความตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เนื่องจากการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก 3.พรรคก้าวไกลคิดว่า การทำประชามติตั้งแต่แรก จะเป็นกลไกที่สำคัญ ทำให้เราสามารถหาข้อยุติในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยกระบวนการทางประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น ที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความราบรื่น และประสบความสำเร็จ
สำหรับคำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร จุดยืนของพรรคก้าวไกล เราเห็นว่าการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะทำใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความกังวล และมีความเห็นที่ยังแตกต่างกัน ทั้งจากฝั่งรัฐบาล จากฝั่ง สว.จากประชาชนหลายฝ่ายในบางประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องความคิดเห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะมีการแก้ไข หมวดหนึ่ง หมวดสองด้วยหรือไม่ หรือควรล็อคไว้ ไม่ให้มีการแก้ไขหรือแม้กระทั่งความเห็นที่แตกต่างว่า แม้จะเห็นด้วยว่า ควรจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร. แต่ สสร. ควรมาการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดหรือไม่
ดังนั้น ข้อเสนอทางเลือกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ สามารถที่จะกลายเป็นเวทีที่สำคัญ ที่ทำให้เราใช้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทยได้ แก้ไข คลี่คลาย ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราจึงคิดว่าควรจะออกแบบคำถาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น โดยที่ไม่ทำให้มีใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น และสามารถทำให้เกิดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เกิดการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในที่สุด แม้ว่าแต่ละฝ่ายไม่สามารถที่จะผลักดันเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ตามต้องการทั้งหมด
พรรคก้าวไกลจึงได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ว่า ควรจะออกแบบคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก โดยมีคำถามหลักหนึ่งคำถาม แล้วจึงมึคำถามพ่วงสองคำถาม ซึ่งคำถามหลักควรจะเป็นคำถามที่กว้างที่สุด และสามารถสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด คือ “เห็นชอบหรือไม่ที่ควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.” ซึ่งเราคิดว่านี่จะเป็นคำถามที่เราสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และไม่ทำให้มีเงื่อนไขปลีกย่อย ที่ทำให้เกิดการเห็นแตกต่างกัน ในการคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น ในส่วนของคำถามพ่วงอีกสองคำถาม คือ ”เห็นด้วยหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรม โดยคงไว้ในหมวดหนึ่งหมวดสอง” และคำถามพ่วงที่สองคือ “เห็นชอบหรือไม่ ที่จะให้ สสร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด”
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการตั้งคำถามจัดทำประชามติในครั้งแรก เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บรรลุผล และมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ส่วนข้อเสนอที่สาม ที่ฝ่ายรัฐบาลยังมีความกังวลในเงื่อนไข ตามหลักเสียงข้างมากสองขั้นตอน (double majority) ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการทำประชามติในปัจจุบัน ที่อาจไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการทำประชามติในครั้งนี้ แต่เป็นอุปสรรคของทุกๆ เรื่องในอนาคต เราจึงเห็นว่า หากมีความกังวลเรื่องนี้ ก็ควรจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในพ.ร.บ.ประชามติฯ อย่างรวดเร็วเร่งด่วน เพื่อยกเลิกเงื่อนไขในเรื่องที่รัฐบาลกังวลข้างต้น ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอด้วยว่า ควรให้คณะอนุกรรมการฯ และกรรมการชุดใหญ่ของรัฐบาล หาข้อยุติในประเด็นนี้ให้ได้ก่อน เพราะหากได้ได้ข้อยุติร่วมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล เราก็จะสามารถร่วมมือกัน เพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม ได้ทันทีหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ
ด้านนายนิกร กล่าวว่า ผลการหารือเป็นไปตามที่คาดหวัง ได้รับฟัง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จะยังมีประเด็นที่ยังเคลือบแคลงว่า ยังมีความเห็นต่าง แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการฯ ของรัฐบาล ก็ได้คลี่คลายหลักการกันเป็นที่เข้าใจ
สำหรับข้อเสนอ 3 ข้อ ของพรรคก้าวไกลนั้น ในเรื่องจำนวนครั้งของการทำประชามติ มีความเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการฯ โดยประชามติ 2 ครั้งท้าย มีสภาพบังคับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่การทำครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มนับหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายนิกร กล่าวต่อว่า คำถามประชามติเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีความรวบรัด ชัดเจน ไม่ซับซ้อน ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย อีกทั้ง รัฐบาลก็มีภารกิจกับคำแถลงของตัวเอง เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะหมวด 2 เป็นทั้งนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นมติ ครม.
สำหรับข้อเสนอเรื่องการคัดเลือก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 100% นั้น พรรคก้าวไกลยังมองต่างจากฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าควรมีสัดส่วนอาชีพอยู่บ้าง เช่น นักวิชาการ โดยอาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคงต้องพูดคุยกันต่อไปในรายละเอียด
ส่วนประเด็นหลักเกณฑ์การใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 ชั้นนั้น นายนิกร กล่าวว่า ยังมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ทาง คือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ยังคงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ คือ 26 ล้านเสียง ซึ่งทางพรรคก้าวไกลมองว่า ยังมากเกินไป และเสนอว่าลดให้เหลือเป็นผู้ใช้สิทธิต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือจำนวนประมาณร้อยละ 40
นายนิกร กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะอนุกรรมการฯ และพรรคก้าวไกลเห็นตรงกันว่า จำนวนผู้เห็นชอบควรต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ เนื่องจากเกรงว่าจำนวนผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิ จะมารวมกับจำนวนผู้ไม่เห็นชอบ จนเป็นผลให้เสียงข้างน้อยพลิกกลับมาชนะได้ โดยถ้าทำเรื่องนี้สำเร็จ จะได้กฎหมายดีๆ มา 2 ฉบับ จึงฝากนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้หารือกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน และตนเองจะหารือกับฝ่ายรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สว.พิสิษฐ์' เตรียมจัดเวทีชำแหละร่างแก้รธน. หั่นเสียงวุฒิสภา ขัดปชต.-การถ่วงดุล
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256
'วราวุธ' ย้ำแก้รธน. ไม่แตะหมวด 1,2 ตั้ง ส.ส.ร. ต้องสะท้อนถึงสังคมปัจจุบัน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคยังยืนยันจุดเดิมคือ การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. โดยเฉพาะหมวด 1 หมวด 2 ที่
'ธนกร' เห็นด้วยเลื่อนถกแก้รธน. ออกไป 1 เดือน แนะแก้ปัญหาประชาชนเป็นอันดับแรก
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า จากการประชุมของคณะกรรมการประสานงาน (วิป 3 ฝ่าย) มีมติให้เลื่อนการพิจารณา การประชุมร่วมรัฐสภา
'เพื่อไทย' ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ ประกบฉบับ 'พรรคประชาชน' 8 ม.ค.นี้
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 8 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต่อรัฐสภา จะเสนอประกบไปกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256
'อนุทิน' ย้ำจุดยืนตลอดกาล! แก้รธน. ไม่แตะหมวด 1-2 ท่าทีส.ส.ภูมิใจไทย ไม่เกี่ยวสว.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสัญญาณกา