'สามารถ' แนะแนวทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสำหรับ 'ผู้ว่าฯ กทม.'

19 ธ.ค. 2564 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ Dr.Samart Ratchapolsitte ในหัวข้อ ‘ผู้ว่าฯ กทม. กับรถไฟฟ้า’

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครรับเลือกตั้งมักชู “รถไฟฟ้า” มาหาเสียง แต่ผู้ว่าฯ กทม. จะขับเคลื่อนรถไฟฟ้าได้มากเพียงใด ชาวกรุงเทพฯ คงได้ประจักษ์มาแล้วจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายซึ่ง กทม. ยังไม่มีเงินไปใช้หนี้ BTS ที่ถึงวันนี้มีหนี้อ่วมเกือบ 4 หมื่นล้านบาท !

1 รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ

รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน กทม. เป็นเจ้าของโครงการ โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้รับสัมปทานเป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปี 2572 BTS เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานออกแบบ ก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ รวมทั้งซ่อมบำรุงรักษา จากการที่ BTS เป็นผู้รับสัมปทาน ทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ถูกเรียกว่ารถไฟฟ้า BTS

2 รถไฟฟ้าใต้ดินช่วยยกระดับระบบรางของไทย

2.1 รถไฟฟ้าใต้ดินเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ครม. มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้รถไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนกลาง 25 ตารางกิโลเมตร “ต้อง” สร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน และพื้นที่ภายในวงแหวนรอบในหรือถนนรัชดาภิเษก 87 ตารางกิโลเมตร “ควร” สร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตัดสินใจสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน นั่นหมายความว่าได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินก่อน ครม. มีมติให้ก่อสร้างในปี 2537 มานานแล้วหลายปี

หลายคนคงสงสัยว่าแนวเส้นทางของรถไฟฟ้า BTS ก็อยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง แต่ทำไม กทม. จึงไม่กำหนดให้สร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ? ตอบได้ว่า (1) กทม. ลงนามในสัญญาสัมปทานกับ BTS ก่อนที่ ครม. มีมติกำหนดพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และ (2) หากก่อสร้างรถไฟฟ้า BTS เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ค่าก่อสร้างจะแพงขึ้นอีกมาก ไม่มีเอกชนรายใดสนใจจะลงทุนเองทั้งหมด 100%

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าแนวคิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินมีมานานแล้ว

2.2 ใครเป็นผู้ออกแบบ และใครเป็นผู้ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ?

รถไฟฟ้าใต้ดินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อได้รับการออกแบบ “เบื้องต้น” โดยบริษัท Halcrow Asia จำกัด (ออกแบบช่วงหัวลำโพง-ห้วยขวาง) และบริษัท Dorsch Consult จำกัด (ออกแบบช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ) และได้รับการออกแบบ “รายละเอียด” พร้อมทำการ “ก่อสร้าง” โดยกลุ่มบริษัท BCKT (ช่วงหัวลำโพง-ห้วยขวาง) และกลุ่มบริษัท ION (ช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ)รฟม. ได้เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้หรือที่เรียกกันติดปากว่า MRT ที่สถานีบ่อนไก่ (สถานีคลองเตย) เป็นสถานีแรก ในปี 2540 และได้ก่อสร้างตลอดระยะทางแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2547 ทั้งนี้ การออกแบบและก่อสร้างมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก อีกทั้งยังมีนิสิต นักศึกษามาฝึกงาน หรือมาเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยรวมอยู่ด้วย

3 รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา

หลายคนคงไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาคือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้รับการออกแบบ “เบื้องต้น” โดยกลุ่มบริษัท บีเอ็มทีซี (BMTC) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ก่อสร้างได้ และออกแบบ “รายละเอียด” โดยบริษัท AECOM หรือเออีคอม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นแบบที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562

ทั้งนี้ การออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ “เบื้องต้น” หรือออกแบบ “รายละเอียด” จะต้องใช้ผู้ออกแบบหรือวิศวกรหลายคนและหลายสาขา พูดได้ว่ามีผู้เกี่ยวข้องมากมาย วิศวกรคนเดียวไม่สามารถออกแบบได้

4. หน่วยงานใดกำกับดูแลรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มากที่สุด ?

ถึงเวลานี้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีรถไฟฟ้าใช้เป็นระยะทาง 209 กิโลเมตร ภายใต้การกำกับดูแลของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย รฟม. รฟท. และ กทม.

รฟม. กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 48 กิโลเมตร และสายสีม่วง 23 กิโลเมตร รวมเป็น 71 กิโลเมตร

รฟท. กำกับดูแลรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 28.5 กิโลเมตร และรถไฟฟ้าสายสีแดง 41 กิโลเมตร รวมเป็น 69.5 กิโลเมตร

กทม. กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียว 66.7 กิโลเมตร และรถไฟฟ้าสายสีทอง 1.8 กิโลเมตร รวมเป็น 68.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ แผนแม่บทรถไฟฟ้ามีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวทั้งหมดประมาณ 560 กิโลเมตร ดังนั้น ยังเหลือรถไฟฟ้าที่จะต้องก่อสร้างอีกประมาณ 351 กม. เมื่อพิจารณาหน่วยงานที่กำกับดูแลโครงข่ายรถไฟฟ้าในแผนแม่บทฯ พบว่า รฟม. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้ามากที่สุด

5 . ผู้ว่าฯ กทม. ควรขับเคลื่อนรถไฟฟ้าอย่างไร ?

5.1 กทม. ควรลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหลักหรือไม่ ?

หากรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินในการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ กทม. นับเป็นเรื่องยากที่ กทม. จะลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหลักซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังตัวอย่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต ที่ กทม. เป็นหนี้ BTS ถึงเวลานี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท หนี้ก้อนใหญ่นี้เป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา หนี้ค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ค่าติดตั้งอาณัติสัญญาณ สื่อสาร และระบบตั๋ว

อีกทั้ง กทม. จะต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เวลานี้จนถึงปี 2572 รวมทั้งค่าดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2572 และค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) อีกประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารของส่วนต่อขยายมีไม่พอ เพราะขาดทุน

ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงไม่ควรลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายหลักหากไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

5.2 กทม. ควรลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าประเภทใด ?

กทม. ควรหันมาลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายรองทำหน้าที่ขนผู้โดยสารมาป้อน (Feeder) ให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีทองที่ขนผู้โดยสารบริเวณคลองสานมาป้อนให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงสะพานตากสิน-บางหว้าที่สถานีกรุงธนบุรี เป็นต้น
รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตโดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางระหว่างล้อซ้ายขวาเพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก ใช้เงินลงทุนต่ำกว่ารถไฟฟ้าสายหลัก สำหรับกรณีรถไฟฟ้าสายสีทองนั้นมีเอกชนมาร่วมลงทุนด้วย กทม. ควรใช้รูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีทองในการก่อสร้าง APM ขนผู้โดยสารป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลักสีต่างๆ ต่อไป

5.3 กทม. ควรทำอย่างไร เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ?

กทม. ควรเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างหรือปรับปรุงจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Intermodal Station) ซึ่งเป็นจุดรวมของยานพาหนะหลากหลายประเภท เช่นรถไฟฟ้า รถเมล์ รถตู้ รถสองแถว รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถส่วนตัว และเรือ ให้มีที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่รอรถ และทางเดินที่มีหลังคากันแดดกันฝน เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารในการเปลี่ยนใช้ยานพาหนะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

สรุป

กทม. มีภาระหน้าที่มากมายภายใต้งบประมาณจำกัด ไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหาจราจรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงควรเลือกลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ใช้เงินน้อยกว่าหรือรถไฟฟ้าสายรองในระยะทางสั้นๆ ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับหรือ APM ที่ทำหน้าที่ขนผู้โดยสารมาป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าได้รับความสะดวก สบาย และรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

นั่นคือบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าในความเห็นของผม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็ก ปชป.ซัดขาประจำวิจารณ์พรรคหัดคิดบวกอย่าทำตัวเป็นมลพิษไปวันๆ

'ศักดิ์สิทธิ์' เตือนขาประจำวิจารณ์ ปชป. เปิดใจ คิดบวกมองเรื่องสร้างสรรค์ อย่าเป็นตัวมลพิษทำลายสุขภาวะบ้านเมือง

ดร.สามารถ : เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อ