โหมขายฝันชาวกรุง 'ชัชชาติ' ลั่นอากาศที่สะอาด คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

19 ธ.ค.2564 - นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความใน เฟซบุ๊ก ดังนี้

อากาศที่สะอาด คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพ แต่เนื่องจากลักษณะปัญหาฝุ่นมีลักษณะเป็นตามฤดูกาล คือ จะรุนแรงช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม พอฝุ่นมา ก็จะมีความตื่นตัว แข็งขัน หาทางแก้ปัญหา ทำอยู่สักสามเดือนฝุ่นเริ่มซา ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม วนเวียนแบบนี้ทุกปี ปีนี้ก็น่าจะเริ่มมาแล้ว

+++ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน+++

PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายในหลายๆด้าน

ต้นเหตุที่สำคัญของฝุ่น PM 2.5 คือ

1. ไอเสียจากรถยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล

2. ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม

3. การเผาชีวมวลทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด

4. ฝุ่นจากการก่อสร้าง (จริงๆแล้ว ฝุ่นจากการก่อสร้างเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ระดับ PM 10 แต่มีรายงานว่าอาจะมีการแตกตัวและเกิด PM 2.5 ได้)

+++สาเหตุที่สำคัญของการเกิดปัญหาฝุ่นในหน้าหนาวคือ+++

1. ปรากฎการณ์ Inversion ในประเทศไทย มีลักษณะการเกิดในช่วงฤดูหนาวในช่วงกลางดึกจนถึงรุ่งเช้า เนื่องจาก เวลากลางคืนในฤดูหนาวที่ลมสงบ ผิวดินเย็นลงอย่างรวดเร็วทำให้อุณหภูมิในบริเวณใกล้พื้นดิน เย็นกว่าอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นส่งผลให้อากาศไม่เกิดการถ่ายเท (โดยปกติอากาศร้อนที่อยู่ต่ำจะไหลขึ้น ซึ่งตอนเกิด Inversion อากาศร้อนดันอยู่สูงแทนที่จะอยู่ต่ำ) จึงเกิดการกักเก็บฝุ่นไว้ในพื้นที่ต่ำ คล้ายกับมีฝาชีครอบฝุ่นไว้ ไม่ให้ลอยสูงขึ้นและเจือจางลง

2. ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเผาชีวมวลตามฤดูกาลของการทำการเกษตร ดูได้จากจำนวนจุดความร้อน (Hot Spot) ของการเผานา ไร่ จากดาวเทียมของ GISTDA ทำให้ฝุ่นดังกล่าวเมือมีกระแสลมก็สามารถเข้ามาสะสมอยู่ในฝาชีที่ครอบบริเวณ กรุงเทพฯได้ ซึ่งเมื่อรวมกับฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ จากโรงงาน แล้ว ยิ่งทำให้สถานการณ์ฝุ่นรุนแรงขึ้น

+++แนวทางในการแก้ปัญหา+++

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องง่าย หน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพ มีหลายหน่วยงาน ทั้ง กทม. ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ แต่ กทม.ในฐานะเจ้าของบ้าน ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และต้องทำหน้าที่ดูแลคนที่อยู่ในกรุงเทพให้ดีที่สุด

แนวทางหลักในการแก้ปัญหา(Guiding Policy) มีสี่แนวทาง

1. "ป้องกัน" ประชาชนจากฝุ่นพิษ

2. "ติดตามและเตือนภัย" ให้เตรียมรับมือกับฝุ่น

3. "บรรเทา" ลดการปล่อยฝุ่นพิษในช่วงวิกฤต

4. "กำจัด" ต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษ

สำหรับพวกเราที่สนใจในรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

+++ แผนการดำเนินการ+++
“ป้องกัน” ประชาชนจากฝุ่นพิษ

1. พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ตั้งแต่ที่พักอาศัยถึงจุดหมายปลายทาง ผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยในการกรองฝุ่นสำหรับพื้นที่เปิด และ การเพิ่มเครื่องฟอกอากาศในพื้นที่ปิด เช่น รถโดยสารและสถานีรอรถ โรงเรียน โรงพยาบาล

2. ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ทั่ว กทม. เพื่อสร้างกำแพงกรองฝุ่นโดยเน้นในพื้นที่ที่มีกิจกรรมของประชาชนหนาแน่น จากข้อมูลการวัดฝุ่นในสวนสาธารณะหลายแห่งพบว่าปริมาณฝุ่นในพื้นที่ที่มีต้นไม้ล้อมรอบ จะต่ำกว่าพื้นที่ด้านนอก การปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมจะช่วยบรรเทาปัญหาของฝุ่น ส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนของ กทม.ปลูกและดูแลต้นไม้คนละ 3 ต้น โดยร่วมกับภาคเอกชนในการสนับสนุนกิจกรรมนี้ เพื่อปลูกฝังนิสัยรักต้นไม้ตั้งแต่เด็กๆ

3. จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น หน้ากาก เครื่องกรองอากาศ ให้กับกลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนป่วย คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย

“ติดตามและเตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับฝุ่น

1. เพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์ฝุ่นผ่านการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ เช่น ปรากฎการ Inversion โดยดูจากการพยากรณ์ความกดอากาศของกรมอุตุฯ ทิศทางลม การเผาในที่โล่งจากข้อมูล Hot Spot ของ GISTDA ข้อมูลฝุ่นปัจจุบันจากสถานีตรวจวัด แล้วนำข้อมูลประมวลกันเพื่อสร้างแบบจำลองในการพยากรณ์ความวิกฤตของฝุ่นล่วงหน้าและแจ้งเหตุให้ประชาชนได้ ซึ่งน่าจะสามารถทำได้ด้วยความแม่นยำที่สูง

2. ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นลงสู่ระดับแขวง ผ่านการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน IoT ใน Low Cost Sensor ขนาดย่อยภายในพื้นที่ กทม. ให้ครบ 1,000 จุด (เครื่องมือของทั้งรัฐและเอกชน) พร้อมกับขยายศักยภาพในการตรวจวัดมลพิษให้ครอบคลุมก๊าซพิษอื่น ๆ เช่น โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อเฝ้าระวังอัตรายจากมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยใช้รูปแบบการดำเนินการที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาไว้แล้ว เช่น เทคโนโลยีการเชื่อมโยงข้อมูล Sensor ของวิศวจุฬาฯ
3. มีระบบแจ้งเตือนภัยฝุ่น ในที่สาธารณะ สี่แยก ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนทราบสถานการณ์แบบ Real Time และ สามารถป้องกันตัวเองได้

“บรรเทา” ลดการปล่อยฝุ่นพิษในช่วงเวลาวิกฤต

1. ลดการชะลอตัวของการจราจรจากโครงการก่อสร้าง ผ่านการประสานงานกับรัฐและเอกชนเพื่อขอคืนพื้นผิวการจราจรและเพิ่มความคล่องตัวให้กับการสัญจรทางถนน

2. ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงวิกฤต โดยขอความร่วมมือกับเอกชนให้ทำงานจากบ้าน ใช้รถสาธารณะ หรือเหลื่อมเวลาการทำงาน สนับสนุน ห้างร้านในแต่ละย่านเพื่อออกส่วนลดหรือโปรโมชั่นให้แก่ผู้ที่เดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ สร้างให้เกิด Low Emission Zone (ย่านการปล่อยมลพิษต่ำ) โดยเฉพาะในเขตพื้นที่การค้าใจกลางเมือง เช่น ปทุมวัน ราชประสงค์ สุขุมวิท

3. ร่วมมือกับตำรวจจราจรและกรมการขนส่งทางบกในการกวดขันและคัดกรองรถที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ กทม. โดยนำเทคโนโลยี CCTV เข้ามาใช้ในการช่วยตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำโดยไม่ต้องตั้งด่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับและลดการเกิดรถติดจากการตั้งด่าน โดยใช้ภาพจากกล้อง CCTV ในการเรียกให้รถที่ปล่อยมลพิษเข้ามาตรวจสอบ หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งข้อมูลรถควันดำให้กับเจ้าหน้าที่

4. ร่วมมือกับสถาบันอาชีวะและภาคเอกชน ในการลดต้นทุนการตรวจเช็คระยะรถยนต์และการบำรุงรักษาตามระยะทาง โดยเฉพาะสำหรับรถบรรทุกเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพดี ปล่อยมลพิษต่ำ (ควันไม่ดำ)

5. สนับสนุนให้เกิด Ecosystem ของรถพลังงานไฟฟ้าโดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนติดตั้งจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ

“กำจัด” ต้นตอของแหล่งกำเนิด

1. จัดทีม "นักสืบฝุ่น" ร่วมกับสถาบันการศึกษาในการศึกษา วิจัยที่มาของฝุ่นใน กทม.ให้ชัดเจน ต่อเนื่อง โดยทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นเพื่อให้เข้าใจที่มาของฝุ่นอย่างถูกต้องและดำเนินการกับผู้ปล่อยมลพิษซ้ำซาก

2. เพิ่มการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในสถานประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่เข้าข่ายการถูกตรวจสอบโดยกรมโรงงาน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง พร้อมออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขในกรณีที่ปล่อยค่ามลพิษเกินมาตรฐาน

3. จัดเส้นทางและเวลาการวิ่งของรถบรรทุกที่เหมาะสม โดยพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางที่การจราจรแออัดและมีที่อยู่อาศัยหนาแน่น พร้อมกับประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลดจำนวนรถบรรทุกที่ต้องวิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เช่น การขนส่งทางรถไฟ ทางเรือ โครงการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น

4.ใช้อำนาจตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการสั่งให้ผู้ปล่อยมลพิษดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศที่ปล่อยให้ได้ตามมาตรฐานและหากยังไม่ดีขึ้นก็จะมีการเสนอให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องต่อไป (อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ)

5. สนับสนุนการสร้างและพัฒนา Co-Working Space ตาม พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ของเมือง (เช่น ห้องสมุดของ กทม. และพื้นที่เอกชน) เพื่อลดการเดินทางเข้าไปในเขตกรุงเทพชั้นใน และเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากการที่ต้อง Work From Home

การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องง่าย มีรายละเอียดหลากหลายและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน แต่ กทม.ในฐานะเจ้าบ้าน ต้องมีความเอาจริงเอาจังในการเร่งรัด ติดตาม ประสานงานกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้ได้อากาศที่ดีคืนมาให้คน กทม.ครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยากรณ์อากาศ 24 ชม. ‘เหนือ’ สัมผัสหนาวต่ำสุด 18 องศาฯ ‘กทม.’ 23 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ซุ้มประตู'มังกร' แลนด์มาร์กใหม่ไชน่าทาวน์

ซุ้มประตูจีน ถือเป็นแลนด์มาร์กแสดงอาณาเขตของไชน่าทาวน์หรือพื้นที่ของชุมชนชาวจีนทั่วโลก แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด