'ไอติม' รอ 6 เดือน ประเมินผลงานรัฐบาล จับตาแก้ 5 โจทย์ใหญ่

‘ไอติม’ ชี้ผลงาน 60 วัน ‘เศรษฐา’ ประเมินยาก รอหลัง 6 เดือน บทพิสูจน์จริง จับตาแก้ 5 โจทย์ใหญ่ยั่งยืนหรือไม่ นโยบายหลักจะออกมาอย่างไร

10 พ.ย. 2566 – นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแถลงผลงานรอบ 60 วัน ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ว่า นายศรษฐาสรุปสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการตั้งแต่ตั้งรัฐบาลเสร็จ แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลได้ออกหลายมาตรการในลักษณะ “quick wins” ที่หวังผลระยะสั้นทันที แต่ในภาพรวมเรายังคงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ผลงานของรัฐบาลในห้วง 60 วันที่ผ่านมา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และอย่างยั่งยืน ตามที่ประชาชนคาดหวังได้จริงหรือไม่ ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะทำไม่ได้ หรือไม่พยายามทำ เพียงแต่ว่า 60 วันที่ผ่านมา อาจยังพิสูจน์อะไรได้ยาก เนื่องจากบทพิสูจน์ที่แท้จริง น่าจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า หรือคือช่วง ธ.ค. 66 – พ.ค. 67 ที่ตนอยากชวนประชาชนทุกคนร่วมกันจับตามอง

1.มาตรการ “quick wins” ของรัฐบาล ที่เป็นการลดค่าครองชีพ จะถูกพิสูจน์ว่ามีความยั่งยืนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น “ค่าไฟ” ที่ลดไปได้ด้วยการยืดหนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีความเสี่ยงจะเด้งกลับขึ้นมา หากไม่มีปรับโครงสร้างราคา-ตลาด หรือ “ค่าน้ำมัน” ที่ลดไปได้ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต จะเจอแรงกดดันหลายทางจากรายได้รัฐที่หายไปและราคาน้ำมันที่อยู่ในขาขึ้น หรือ “ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ที่ทำสำเร็จในสายสีม่วงกับสีแดง จะถูกพิสูจน์ว่า สามารถขยายไปสู่สายที่มีผู้โดยสารใช้เยอะที่สุด เช่น สายสีเขียว ได้หรือไม่

2.นโยบายเรือธงที่เดิมพันสูงอย่าง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” จะเริ่มดำเนินการ และเริ่มเห็นผลลัพธ์เบื้องต้น รายละเอียดทั้งหมดของโครงการจะถูกเคาะ เช่น เงื่อนไขการใช้จ่ายของประชาชน เงื่อนไขการแปลงเป็นเงินสดของร้านค้า เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่จะใช้ โดยหลายส่วนน่าจะรวมอยู่ในแถลงบ่ายวันนี้ ซึ่งจะทำให้การประเมินข้อดี-ข้อเสียนโยบาย ทำได้บนข้อมูลที่ครบถ้วน ในส่วนของผลประโยชน์ หากเริ่มแจกได้จริงในไตรมาส 1 ของปี 2567 ตามที่เคยสัญญา เราจะเริ่มเห็นถึงผลกระทบเบื้องต้นต่อการใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ขณะที่ในส่วนของต้นทุน หากยังเป็นการให้ประชาชนทุกคน 10,000 บาท ตามที่เคยสัญญา เราจะเห็นว่างบประมาณ 560,000 ล้านบาทที่ต้องใช้ จะมาจากช่องทางไหน และแลกมาด้วยอะไร เช่น การปรับลดงบส่วนอื่น รวมถึงผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง

3.นโยบายหลักด้านการเมือง จะเจอ “เส้นตาย” ที่ทำให้เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ภายใน ม.ค. 67 รัฐบาลจะต้องมีข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า จะเดินหน้าต่อเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่ ด้วยคำถามแบบไหน และรัฐบาลคาดว่าประเทศจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเมื่อไร ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหาร ภายใน เม.ย. 67 เราจะเห็นว่าประเทศจะยังมีเยาวชนกี่คนที่ถูกบังคับไปเป็นทหารโดยที่ไม่อยากเป็น ซึ่งจะแปรผันตามเจตจำนงของรัฐบาลในการลดหรือเลิกการเกณฑ์ทหาร

4.กฎหมายกว่า 30 ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะเรียงกันเข้าสภาฯ มาเป็น “คลื่น” ที่ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะมีจุดยืนอย่างไร ในหลายประเด็นที่รัฐบาลยังไม่แสดงออก เช่น จะเห็นด้วยกับร่างของก้าวไกล หรือจะเสนอร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เอง ที่แตกต่างออกไปในรายละเอียด หรือจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด ยกตัวอย่าง เมื่อร่างกฎหมายของก้าวไกลเข้าสภาฯ ไม่ว่าจะเป็น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผน และขั้นตอนกระจายอำนาจฯ ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินรวมแปลง ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบราชการกลาโหม เราจะเห็นทิศทาง และจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องต่างๆ ทั้งการกระจายอำนาจ การป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างรัฐที่โปร่งใส และการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

5.ปฏิทินการเมือง จะมีหมุดหมายสำคัญหลายเหตุการณ์ ที่เป็นบทพิสูจน์เสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ เหตุการณ์แรก การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ในสภาฯ ช่วง ม.ค.-เม.ย. 67 จะเป็นบทพิสูจน์ว่า งบประมาณจะถูกจัดสรรให้กับนโยบายของทุกพรรคร่วมรัฐบาล อย่างเป็นธรรม และเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกพรรคหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขว่า งบประมาณจำนวนมากต้องใช้ไปกับนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคแกนนำรัฐบาล

เหตุการณ์ที่สอง คือการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่เป็นการซักถาม-เสนอแนะ หรือ มาตรา 151 ที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดปีแรกของการประชุมสภาฯ หรือ เม.ย. 67 และจะเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ และเหตุการณ์ที่สาม คือการหมดอายุลงของบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ในเดือน พ.ค. 67 รวมถึงอำนาจ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 จะทำให้เงื่อนไขสำคัญที่พรรคแกนนำเคยอ้างว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องรวมตัวกับพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง หรือจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันในอดีตหายจากสมการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ลั่นหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ขอตรวจสอบปมซื้อขายบัตรผู้ติดตามในทำเนียบฯ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการซื้อขายตำแหน่งคณะผู้ติดตามภายในทำเนียบรัฐบาล ว่า ไม่เคยได้รับทราบข่าวนี้เลย เมื่อถามอีกว่าตรงนี้นายกฯจะมีการกำชับอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า อันนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว

'เศรษฐา' ต่อสายหารือนายกฯลาว ยืนยันร่วมมือแก้ปัญหายาเสพติดแนวชายแดน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายสอนไซ สีพันดอน (H.E. Sonexay Siphandone) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

นายกฯ สั่งหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ให้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในหลวง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน.(วาระพิเศษ) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก