'ก้าวไกล' เรียกร้องนายกฯ เปิดไฟเขียวร่างพรบ.ยุบ กอ.รมน. เข้าสภาฯ

"รังสิมันต์ โรม" ย้ำจุดยืนก้าวไกลเสนอร่างพรบ.ยุบ กอ.รมน. ชวนยกระดับบทบาท สมช. คุมความมั่นคงแทน เรียกร้องนายกฯ เปิดทางชงเข้าสภาฯ

3 พ.ย.2566 - เมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) กรณีข้อเสนอยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ร่างยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฏร

โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลขอยืนยันในข้อเสนอว่าด้วยการยุบ กอ.รมน. และความเห็นว่า กอ.รมน. ที่จัดตั้งขึ้นมา ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นองค์กรที่ล้าสมัย และไม่มีความเหมาะสมที่จะต้องมีต่อไป ซึ่งการยกเลิก กอ.รมน. ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง เพราะความมั่นคงในปัจจุบันมีความแตกต่างจากยุคสงครามเย็นมาก มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร สุขภาพ อาชญากรข้ามชาติ ภัยยาเสพติด ฯลฯ ซึ่ง กอ.รมน. ไม่มีความเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่รับมือภัยความมั่นคงเหล่านั้น

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กอ.รมน. ยังมีบทบาทในการสร้างความแตกแยกในสังคม ผ่านการสร้างภาพให้คนเห็นต่างทางการเมืองเป็นศัตรูของประเทศ มีการใช้งบประมาณไปในภารกิจเพื่อเป้าหมายในการจัดการผู้เห็นต่างเหล่านั้น ซึ่งผลที่ได้คือความแตกแยกของสังคม

ในส่วนโครงสร้าง กอ.รมน. ก็เป็นแนวคิดทหารนำการเมือง ผอ.รมน. แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่เป็นรอง ผอ.รมน. ก็คือ ผู้บังคับบัญชากองทัพบก (ผบ.ทบ.) เลขาธิการ กอ.รมน. ก็เป็น เสธ.ทบ. เฉพาะสองตำแหน่งนี้ ถ้าไปดูหนังสือย้อนหลังก็จะเห็นว่า มีบทบาทในการลงนามหลายเรื่อง ที่มีลักษณะไปสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นโครงสร้างที่ทำให้กองทัพสามารถแทรกซึมไปยังส่วนต่างๆ ของระบบราชการ แล้วเอาวิธีคิดความมั่นคงแบบการทหารเป็นตัวนำ ไปสั่งการระบบราชการได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะทำให้วิธีคิดด้านความมั่นคง ถูกจำกัดอยู่แต่ในแบบของกองทัพเท่านั้น

นายรังสิมันต์ ยังกล่าวด้วยว่า บทบาทของ กอ.รมน. ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน ไม่ว่าในด้านการทำงานมวลชนที่กลายมาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เช่น ในยุคที่มีการรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โฆษก กอ.รมน. ในเวลานั้น เคยให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยว่า มวลชนที่ กอ.รมน. ทำงานด้วยจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ

รวมถึงบทบาทในการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในเรื่องการรัฐประหาร บทบาทของกองทัพ และบทบาทของรัฐบาล และยังสร้างเว็บไซต์อย่าง pulony.blogspot เพื่อใส่ร้ายป้ายสีด้อยค่านักกิจกรรม พรรคการเมือง และประชาชนที่มีส่วนสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายรังสิมันต์ ได้อธิบายถึงปัญหาของ กอ.รมน. ในด้านงบประมาณด้วยว่า ปีล่าสุด กอ.รมน. ได้รับงบประมาณไปมากถึง 7.7 พันล้านบาท เป็นงบประมาณที่ใกล้เคียงกับกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม มากกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับงบประมาณเพียง 4 พันล้านบาทเท่านั้น และหากรวมระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา กอ.รมน. ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าแสนล้านบาท โดยมีงบประมาณ 4 พันล้านบาทจาก 7.7 พันล้านบาท ถูกใช้ไปในรายการอื่นที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เอาไปใช้อะไร แต่เมื่อสืบสวนลึกลงไปก็จะพบได้ว่า ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับคนของกองทัพที่เข้าไปทำงานใน กอ.รมน.

ในด้านภารกิจ มีการมอบหมายภารกิจจำนวนมากให้กับ กอ.รมน. ในงานความมั่นคงด้านอื่นๆ ที่ทับซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ตั้งแต่งานป้องกันปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน การค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้วันนี้ก็เป็นคำตอบอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ผลงานของ กอ.รมน. ในด้านเหล่านี้ล้มเหลวเพียงใด

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าประเทศกำลังเผชิญหน้าความมั่นคงรูปแบบต่างๆ ที่ต่างไปจากในอดีตมาก การอัดงบประมาณมากถึง 7.7 พันล้านบาทให้ กอ.รมน. ไม่สร้างประโยชน์อะไร แต่ควรมีองค์กรลักษณะอื่นมาทำหน้าที่โดยอาศัยความคิดพลเมืองนำในการรับมือภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งองค์กรที่พัฒนา และยกระดับศักยภาพได้ในลักษณะนั้นก็คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้งบประมาณเพียง 2 ร้อยกว่าล้านบาทต่อปีเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง สมช. ต้องดูภาพรวมภัยคุกคามทุกรูปแบบของประเทศ ทั้งนี้ สมช. เป็นองค์กรที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ทันสมัย มีแนวคิดความมั่นคงที่ไม่ผูกติดอยู่แต่กับเรื่องการทหาร พร้อมรับมือความมั่นคงในทุกรูปแบบได้

ทั้งนี้ ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ได้เคยพูดคุยในชั้นกรรมาธิการ ว่าควรมีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาประเด็นดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.ความมั่นคงฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคงแทนที่ รวมไปถึงการจัดทำรายงานเหตุผลที่นำไปสู่การยุบ กอ.รมน.

โดยรายงานที่จะทำขึ้นมา จะเป็นการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อนำเสนอสู่ชั้นกรรมาธิการ ก่อนส่งต่อให้สภาฯ พิจารณา ก่อนส่งต่อไปที่รัฐบาลตามลำดับต่อไป ซึ่งตนหวังว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว รัฐบาลเศรษฐาจะศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง

นายรังสิมันต์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้ครั้งหนึ่งพรรคก้าวไกลจะเคยมีข้อตกลงกับอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า การยุบ กอ.รมน. จะเป็นหนึ่งในพันธสัญญาที่รัฐบาลจะต้องทำให้ได้ แต่เสียดายที่วันนี้ นายกรัฐมนตรี ที่ได้เป็น ผอ.รมน. กลับไม่สนใจศึกษากรณีการยกเลิก กอ.รมน. ให้รอบด้านอีกต่อไป

แต่แม้รัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญแล้ว พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และจะนำเสนอเข้าสู่สภาฯ ให้ได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน จะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนถึงจะเข้าสู่สภาฯ ได้ พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับรอง เพื่อให้สภาฯ ได้มาอภิปรายพูดคุยกัน

“ถ้ามีเหตุผลในการยืนยันว่า กอ.รมน. ควรคงอยู่ ก็ควรมาคุยในสภาฯ ให้ร่างมีโอกาสเข้าสู่สภาฯ เพื่ออย่างน้อยให้ได้มีการนำเสนอต่อสภาฯ ต่อสังคม และต่อประชาชน ให้ได้รับรู้ทั้งแง่มุมที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการมี กอ.รมน. ต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือทำให้สังคมเข้าใจ เพื่อให้เป็นเสียงที่ดังขึ้น ส่งไปยังรัฐบาล เข้าใจถึงเหตุผลในการยุบกอ.รมน. ที่สุดแล้ว หากรัฐบาลไม่สนองต่อรายงานที่เราทำ ตนคงต้องเสนอต่อกมธ.ความมั่นคงฯ ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ในการจะเชิญตัวแทนจากรัฐบาล และ กอ.รมน. ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ มาพูดคุยว่า ทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามรายงาน

นายรังสิมันต์ ทิ้งท้ายว่า ดีไม่ดี ทำได้หรือทำไม่ได้ ก็จะเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาลในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนาคตไกล' รับซื้อ 'ปลาหมอคางดำ' 20 ตันเพื่อกำจัด อัด 'พิธา' ตรรกะวิบัติอ้างคนจะเพาะเลี้ยงมากขึ้น

“พรรคอนาคตไกล” บรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง รับซื้อปลาหมอคางดำ 20 ตันเพื่อกำจัด อัด "พิธา-ก้าวไกล ตรรกะวิบัติ" อ้างคนจะเพาะเลี้ยงมากขึ้น

'ก้าวไกล' เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. 'พิธา' อ้อนพี่น้องชาวลำพูนเชื่อในประชาธิปไตย

ก้าวไกลจัดสภากาแฟที่ลำพูน แลกเปลี่ยนปัญหาภาคเอกชน 'พิธา' ชี้เศรษฐกิจภาคเหนือมีแรงเฉื่อยลักษณะพิเศษโตช้า

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว

'รังสิมันต์-มาริษ'โต้เดือดปมธนาคารไทยมีเอี่ยวช่วยซื้ออาวุธให้รัฐบาลเมียนมา!

'โรม' จี้ถามจุดยืนประเทศ หลังมีแฉธนาคารในไทย เอี่ยวใช้ธุรกรรมการเงินฆ่าชาวเมียนมา ซัด รบ.ต้องชัดเจน ด้าน 'รมว.กต.'โต้ไม่พบหลักฐานธนาคาร-รัฐบาลไทยเข้าไปเอี่ยว รับการคว่ำบาตรเป็นเรื่องยาก

'รอมฎอน' ลุยสังเกตการณ์ไต่สวนคดีตากใบข้องใจท่าที อสส.

'รอมฎอน' ลุยสังเกตการณ์นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีตากใบ 19 ก.ค.นี้ รับกังวลหลัง 'อสส.' ขอญาติผู้สูญเสียยุติร้องเรียน ก่อนคดีหมดอายุความ