"นิกร" กางไทม์ไลน์ รับฟังความเห็นตลอด พ.ย. เผยทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ มั่นใจ กก.ศึกษาฯแก้ไขรธน. ทันสิ้นปี ย้ำเริ่มทำประชามติไตรมาสแรกของปี 67
28 ต.ค.2566 - นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าในการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ว่า กรอบงานและแผนงานลงตัวหมดแล้ว มีปฏิทินแผนงาน ดังนี้ 1. วันที่ 30 ต.ค.ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของวุฒิสภา โดยจะไปรับฟังความคิดเห็น และร่วมกับกมธ. ออกแบบสอบถามกับสมาชิกสภาทั้งหมด ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติ และรัฐธรรมนูญ 2. วันที่ 2 พ.ย. ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะไปรับฟังความคิดเห็น และร่วมกับกมธ. ออกแบบสอบถามกับสมาชิกสภาทั้งหมด ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติ และรัฐธรรมนูญ 3. วันที่ 8 พ.ย. จะเปิดรับฟังความเห็นจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เยาวชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งก็จะเป็นการรับฟังความเห็นในลักษณะของโฟกัสกรุ๊ปเพื่อฟังความเห็นองค์รวม ที่ทำเนียบรัฐบาล
4. วันที่ 10 พ.ย. จะเป็นการรับฟังประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง ผู้ใช้แรงงงาน ทหาร ตำรวจ สื่อสารมวลชน สันนิบาตเทศบาล คนพิการ และกลุ่มความหลายกหลายทางเพศ นอกจากนั้นก็จะมีกลุ่มเอ็นจีโอต่าง ๆ อาทิ สมัชชาคนจน และไอลอว์ ที่ทำเนียบรัฐบาล 5. วันที่ 14 พ.ย. คณะอนุกรรมการชุดรับฟังฯ จะเดินทางไปรับฟังความเห็นต่างของพรรคก้าวไกล ที่ทำการพรรคก้าวไกล จาก กก.บห. พรรคและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่ามีข้อโต้แย้งอย่างไร 6. วันที่ 20 พ.ย.ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคอีสาน โดยมีตนเป็นแกนนำและคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นคณะทำงานเป็นผู้เดินทางไปรับฟังความเห็นของกลุ่มเกษตรกร สภาตำบล กลุ่มแม่บ้าน จ. สกลนคร
7. วันที่ 23 พ.ย.ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคกลาง โดยมี นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อนุกรรมการชุดรับฟังฯ เป็นแกนนำ ไปรับฟังความเห็นของประชาชนในกลุ่มอุตสาหกรรม แรงงาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะเป็นที่จ.ชลบุรี หรือฉะเชิงเทรา ส่วนที่ภาคเหนือก็จะเป็นอนุกรรมการชุดรับฟังฯ ที่อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ โดยจะรับฟังคนเหนือ พื้นที่ท่องเที่ยว และกลุ่มชาติพันธุ์ 8. วันที่ 7 ธ.ค. ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้ โดยมี นายเจือ ราชสีห์ และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท เป็นแกนนำคณะทำงาน รับฟังความเห็นพี่น้องชาวมุสลิม และพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ จ.สงขลา
นายนิกร กล่าวว่า เมื่อคณะอนุกรรมการชุดรับฟังฯ ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเปิดประชุมสภาฯ ในสมัยหน้า
เราต้องการสอบถามสมาชิกรัฐสภา 100% จากนั้นคงจะต้องใช้เวลาราว 1 สัปดาห์ เพื่อสอบถามความคิดเห็น เพราะสมาชิกรัฐสภาเป็นคนที่จะต้องลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค.และหลังจากนั้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธ.ค.ก่อนขึ้นปีใหม่ จะมีการเรียกจะประชุมคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการอีกชุด จะประชุมในวันที่ 8 พ.ย.จะประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพื่อสรุปเรื่องข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะฟังสักกี่ครั้ง จะแก้อย่างไร และค่าใช้จ่ายในการทำประชามติ เชิญกกต.มาว่าจะใช้เวลาเท่าใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งก็พยายามให้ประหยัดที่สุด ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปก็รอความคิดเห็นที่ไปรับฟังมาจากส่วนต่าง ๆ มาสรุปตั้งคำถามแล้วส่งมอบให้กับคณะรัฐมนตรีในช่วงต้นปี เพื่อให้ครม.สามารถออกเป็นคำถามในการทำประชามติต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นประเด็นที่จะหารือกับทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะมีเรื่องใดบ้าง นายนิกร กล่าวว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะไม่ลงในรายละเอียดเรื่องว่าจะแก้มาตราใด เพราะเราตั้งใจว่าจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉะนั้น เราจะรอให้ ส.ส.ร. เป็นคนถามประชาชนทั่วประเทศ ในตอนที่ยกร่างฯ แต่ทีนี้ก็ต้องถามคือเรื่องที่ยังมีความเห็นโต้แย้งกันอยู่ อาทิ การทำประชามติต้องทำกี่ครั้ง ซึ่งจะนำคำถามนี้ไปรับฟังความเห็นในการทำประชามติ
“ตอนไปคุยเป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการ แต่เราคิดว่าเรื่องนี้ใช้แต่ความเห็นของกรรมาธิการไม่ได้ ได้ระดับหนึ่ง เราก็เลยไปขอให้ทางกรรมาธิการทั้ง 2 สภา ช่วยเรา ร่วมกับเรา กำหนดเป็นคำถาม เพื่อถามสมาชิกรัฐสภา ทั้งวุฒิสมาชิก ละสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 100% ถามทุกคน ทีนี้ เราไม่ตั้งแบบสอบถามเองเองเราจะขอให้ กมธ.ของ 2 สภา ช่วยตั้งให้ ซึ่งคำถามอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ของ 2 สภา” นายนิกร กล่าว
เมื่อถามว่าจะไปรับฟังความเห็นในของพรรคก้าวไกลที่เห็นต่างในส่วนใด นายนิกร กล่าวว่า ที่เห็นชัดคือเรื่องของหมวด เพราะก้าวไกลต้องการจะแก้ทุกหมวด แต่ของรัฐบาลมีการยกเว้นยกเว้นหมวด 1 และ 2 และเรื่อง ส.ส.ร. ว่า ถ้ามี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแบบไหน อย่างไร พูดถึงที่มาของ ส.ส.ร. ตรงนี้ ทางเรามีความเห็นว่าที่มาของส.ส.ร. ในส่วนของที่มารายละเอียดน่าจะเป็นภารกิจคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่ตั้งขึ้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มากกว่า ไม่ใช่ในชั้นนี้
เมื่อถามว่า เป้าหมายการทำประชามติยังอยู่ในกรอบช่วงไตรมาสแรกปี 67 อยู่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ตรงนี้เป็นการสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ แล้วพอขึ้นปีใหม่มาเราก็ทำเป็นรายงานเสนอต่อครม.เลยว่าควรจะมีคำถามอย่างไร ออกเป็นประชามติเพื่อนำไปสู่การออกประชามติโดยคณะรัฐมนตรีต่อไป คิดว่าเราจะเปิดงานสิ้นปี เราปิดได้ ซึ่งคิดว่าน่าจะตั้งใจกันไว้ว่าประมาณไตรมาสแรก ของปี 67 ก็น่าจะได้เริ่มทำประชามติได้ ซึ่งเวลาการทำประชามติเป็นสภาพบังคับซึ่งจะคุยประมาณว่าไม่น้อยกว่า 90 วันและไม่มากกว่า 120 วัน มันเป็นสภาพบังคับตามกฎหมายการทำประชามติ
“ทุกส่วนที่ไปที่ประสานไปเขายินดีร่วมมือหมด ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไอลอว์ หรือพรรคฝ่ายค้าน ก็ร่วมมือ คือร่วมมือกันหมด พร้อมให้ความเห็นด้วยความตั้งใจกันทั้งหมด แต่ว่างานนี้เราถอดความเป็นพรรคการเมืองออก ถอดความเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านออกเพราะเป็นงานร่วมกัน ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ” นายนิกร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัดเจน! พท.โยนขี้พ้นตัว แก้รธน.ไม่ทันไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรค
“เพื่อไทย" ชงกมธ.ร่วมลดเกณฑ์ประชามติ อ้าง ถ้าแก้รธน.ไม่ทัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพรรค ชิ่งห้ามความคิดใครไม่ได้
เลิกคำ สั่งคสช.! มีบทเฉพาะกาล ให้ปชช.ฟ้องรัฐ
สส.พรรคประชาชนเผย กรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง คสช. มีมติให้มีบทเฉพาะกาลรองรับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ขณะที่
'พริษฐ์' หวั่นลากยาว กมธ.ร่วมประชามติ นัดถก 30 ต.ค. หาข้อสรุปเกณฑ์เสียงข้างมาก
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ.… ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ฯ นัดแรก
‘วรงค์’ เตือนสิ้นชาติ! ประชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว-แก้รธน.ทั้งฉบับ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภีกดี โพสต์เฟซบุ๊กว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองเป็นแค่เป้าหลอก
'นิกร' แจง รายงานมี 3 ข้อเสนอ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย นิรโทษกรรม ม.110 ม.112
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ
สว. ดักคอรัฐบาลอย่าหาข้ออ้างแก้รธน.ไม่ทัน แม้กฎหมายประชามติไม่ผ่าน ก็ยังใช้ฉบับเดิมได้
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)