28 ต.ค.2566 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า แนวโน้มคำพิพากษาคดี 112 ที่เห็นได้ว่าช่วงนี้แต่ละเดือนมีกำหนดการพิพากษาทยอยออกมาเรื่อยๆ ผมลองนำคำพิพากษามาจัดกลุ่ม พบว่าแนวโน้มเป็นแบบนี้
- กลุ่มที่หนึ่ง ศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยไม่มีความผิด บ้างเพราะพยานหลักฐานไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บ้างเพราะข้อความที่เขียนหรือแสดงออกไม่เข้าข่ายความผิด สำรวจดูส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ การยกฟ้องมักเกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดอื่น ไม่ใช่ศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการก็มักอุทธรณ์ต่อ เลยต้องไปสู้คดีกันอีก
- กลุ่มที่สอง ศาลพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่
- กลุ่มที่สาม จำคุก ไม่รอลงอาญา แล้วไปลุ้นการประกันตัวว่าจะได้หรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งได้และไม่ได้
บรรยากาศเวลานี้ การสร้างบทสนทนาคดี 112 ไม่เกิดขึ้น
จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ผมให้ความเห็นไปแล้วหลายครั้ง ว่าสนับสนุนให้มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง นิรโทษกรรมให้หมดแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่
โดยความเห็นของผม คือรวมคดี 112 ด้วย เพราะ (1) การแสดงออกที่กลายมาเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ที่โดนคดีกันจำนวนมาก เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ ที่มีการชุมนุม และ (2) ในอดีตเรื่องนี้เคยทำมาแล้ว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีการเพิ่มอัตราโทษในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีคนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการนิรโทษกรรมเหมือนกัน
การนิรโทษกรรม จะเป็นการเปิดฉากสร้างบรรยากาศปรองดอง แต่ปัญหาคือจะนิรโทษกรรมกันอย่างไร ยิ่งในเวลานี้ แม้มีคนพูดแสดงความคิดขึ้นมา แต่ไม่มีบรรยากาศการสร้างบทสนทนา
ขณะที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ แต่ร่างที่พรรคก้าวไกลยื่นไม่ได้นิรโทษกรรมคดี 112 ตรงๆ เป็นการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง โดยให้มีคณะกรรมการที่สภาฯ ตั้งขึ้นเป็นคนวินิจฉัย
ดังนั้น เสนอร่างเข้าไปแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตกหรือเปล่า เดี๋ยวคนคงตั้งคำถามอีกว่ารวมคดี 112 ด้วยหรือไม่ ถ้ารวมก็อาจหาเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่ได้ ส่วนซีกคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีวี่แววว่าจะผลักดันเรื่องเหล่านี้
ถ้าลองดูว่า ระยะยาวมีความพยายามจะผลักดันเสนอแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ ในสภาชุดนี้ ปิดสมัยประชุมครั้งที่หนึ่งแล้ว ยังไม่มี สส. พรรคไหนเสนอร่างแก้ไข 112 และถามว่าถ้าเสนอไป โอกาสผ่านเป็นอย่างไร ก็คงจะยากเมื่อเทียบพลังทางการเมือง เพราะปีกเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรประกาศตลอดเวลาว่าเขาไม่แตะเรื่องนี้ หรือต่อให้มีปาฏิหาริย์ผ่านไปได้ ก็คงไปติดที่วุฒิสภาอีก
ในขณะที่คดีต่างๆ เดินหน้าไปเรื่อยๆ เป็นสภาวะการณ์ที่ไม่สามารถเดินหน้าเข้าสู่บรรยากาศการสร้างความสมานฉันท์ได้ เพราะมีคนที่แสดงออกทางการเมืองยังต้องติดคุก ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เส้นทางของการแก้ปัญหาระยะยาว คือการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 หรือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองผ่านการตรากฎหมายนั้น ดูแล้วยากเย็นแสนเข็ญพอสมควร แล้วจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้
ขอรัฐบาล พิจารณาใช้มาตรการทางบริหาร บรรเทาคดี 112
ผมคิดว่าสามารถแก้ปัญหาระยะสั้นไปพลางก่อนได้ ด้วยการใช้มาตรการทางบริหารหรือใช้การแก้กฎหมายมาตราอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง 112 เป็นวิธีการแก้ไขแบบละมุนละม่อม
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2554 เข้าใจว่านักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยหลายท่านเคยออกมาพูดในที่สาธารณะ ว่ามีวิธีมาตรการในทางบริหารที่สามารถทำให้คดีต่างๆ ช้าออกไปหน่อย ยังไม่ต้องรีบเร่งถึงขั้นสั่งฟ้อง แทนที่จะทำปุบปับเหมือนบุรุษไปรษณีย์ ที่มีใครก็ไม่รู้มาแจ้งความที่โรงพัก โรงพักเห็นคดี 112 ตกใจสั่งฟ้องเลย อัยการเดินหน้าต่อเลยทันที มันไม่จำเป็นต้องเร่งขนาดนั้น
ผมเสนอให้รัฐบาลช่วยนำไปพิจารณา ใช้อำนาจที่ท่านพอจะมี ในการออกมาตรการในทางบริหาร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ก่อนได้หรือไม่
ท่านรู้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ สามารถชะลอออกไปได้อยู่บ้าง
หรือในอนาคตหากต้องมีการแก้กฎหมาย โดยที่ไม่ต้องไปแตะ 112 เช่น แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งฟ้องข้ามพื้นที่ไปมา ประเภทรวมตัวกัน ศูนย์นั้นองค์กรนี้ เที่ยวไปดูว่าใครโพสต์อะไรแสดงความเห็นอะไร เสร็จแล้วก็เอาไปแจ้งความในที่ที่ห่างไกล เช่น บ้านเขาอยู่พะเยา แต่ไปแจ้งความที่สุไหงโกลก แล้วก็ต้องขึ้นศาลที่นราธิวาส เวลาติดคุกก็ต้องไปติดคุกในพื้นที่นั้น
หรือแก้กฎหมายป้องกันไม่ให้ใครก็ได้มาฟ้องกันมั่วๆ เช่น ตั้งองค์กรหรือหน่วยเฉพาะกิจหนึ่ง ขึ้นมารับหน้าที่ ริเริ่มร้องทุกข์กล่าวโทษคดี 112 โดยเฉพาะ
ส่วนท่านอัยการ ช่วยออกแนวปฏิบัติได้ไหมว่า ถ้าศาลชั้นต้นยกฟ้องคดี 112 แล้วว่าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่มีความผิด ท่านไม่อุทธรณ์ได้หรือไม่ ให้คดีถึงที่สุดไปเลย
ศาลที่เคารพช่วยกันได้หรือไม่ แนวทางการประกันตัวคดี 112 ให้ทำเหมือนคดีอื่น เลิกคิดว่าเป็นคดีพิเศษ เวลาพิจารณาคดีเรื่องการให้ประกันตัวก็ทำด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องส่งไปศาลอีกศาลหนึ่งให้เสียเวลา จนสุดท้ายต้องไปนอนคุกก่อน
ในเมื่อคนที่มีความผิดฐานคอร์รัปชันยังหลบหนีไปประเทศอื่น กลับมารายงานตัวพบพนักงานสอบสวนเสร็จ ก็ได้ประกันตัว หรือคดีฆ่าคนตายก็ได้ประกันตัว คดีอุกฉกรรจ์เต็มไปหมดก็ได้ประกันตัว ทำไมคดี 112 ไม่ให้ประกันตัวเหมือนคดีอื่นๆ หลักการก็เหมือนกัน ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ได้มาตรฐานเดียวกันได้หรือไม่
เช่น ทนายอานนท์ นำภา ผ่านไปหนึ่งเดือนยังไม่ได้ประกันตัว เขาเคยมีพฤติกรรมหลบหนีหรือไม่ เขาไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนที่เกาหลีใต้ ก็ยังกลับมาทั้งที่เขาจะไปไหนมาไหนก็ได้ พฤติการณ์ของเขาไม่คิดหนีคดีอยู่แล้ว ดังนั้น วางมาตรฐานให้เหมือนกับทุกคดี ให้เขาได้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ต้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว
หลายคนที่เป็นนักการเมืองอยู่ในวันนี้ เกิดวันดีคืนดีโดนคดี 112 ศาลตัดสินจำคุก ระหว่างรอประกัน ดันพิจารณาการประกันนานออกไป จะทำอย่างไร เข้าไปติดคุกวันสองวันได้ประกันตัว แต่ในทางรัฐธรรมนูญก็ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง
เรียกร้องรัฐบาล ปัญหาอยู่ตรงหน้า อย่าวางเฉยเหมือนมองไม่เห็น
ผมย้ำอีกครั้ง ว่าผมมีจุดยืนเรื่องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือปรับปรุงมาตรา 112 ยกเลิกมาตรา 112 นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง คดีการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งต้องรวมถึงเรื่อง 112 ด้วย
แต่ถ้าดูแล้วมันยาก สถานการณ์ความเป็นจริงทางการเมืองวันนี้ดูท่าจะไม่ผ่านสภาฯ ด้วยซ้ำ ปัญหาเฉพาะหน้าจะมีวิธีบรรเทาเบาบางเยียวยาไปได้ก่อนหรือไม่
จึงอยากเสนอไปยังเพื่อนพ้องน้องพี่ในรัฐบาลเวลานี้ ว่าท่านไม่ควรวางเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเข้าใจข้อจำกัดของการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ดี ที่ข้ามฝั่งไปตั้งกับพรรคอื่นๆ ที่เคยสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจข้อจำกัดของที่มาของรัฐบาลชุดนี้ดี ว่ามันเกิดจากอะไร ทำให้ต้องแบกรับเงื่อนไขเอาไว้จำนวนมาก
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธ หรือมองไม่เห็น หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นกับปัญหาคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กับการแสดงออกทางการเมือง อย่างไรมันก็กองอยู่ตรงหน้า จะทำเป็นปิดตาไม่เห็น ไม่สนใจ พูดแต่เรื่องเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต เน้นโรดโชว์ต่างประเทศ เป็นไปไม่ได้ คดีมันตัดสินทุกวัน
พรรคเพื่อไทยเองตอนรณรงค์หาเสียง พูดเรื่องพวกนี้ ช่วงแรกมีการยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ต่อมาบอกว่าจะเอาเข้าสภาให้ไปถกเถียงพูดคุย ต่อมามีการแสดงความคิดเห็น บอกว่าจริงๆ ไม่ต้องไปแก้หรอก ถ้าเข้าไปมีอำนาจเมื่อไร จะใช้มาตรการในทางฝ่ายบริหารที่ตัวเองมี เพื่อบรรเทาเยียวยาคดีเหล่านี้
ตอนนี้ผ่านมาแล้วหลายเดือน เริ่มคิดเริ่มอ่านทำสักหน่อย นึกถึงตอนที่ท่านรณรงค์หาเสียงสักหน่อย อะไรที่พอทำได้ ลองทดลองทำดู
ผมไม่เรียกร้องรัฐบาลถึงขั้นแก้ไข 112 หรือไฟเขียวนิรโทษกรรมคดี 112 เพราะดูแต่ละท่านก็ออกตัวมาแล้วว่าจะไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยระหว่างทาง ช่วยหาวิธี เพราะคดี 112 ตอนนี้ ไม่ใช่แค่กรณีเดิมที่ค้างอยู่ แต่ผมเห็นนิสิตนักศึกษาเยาวชนหลายคน ยังมีพนักงานสอบสวนส่งหมายใหม่ๆ ไปที่บ้าน ดังนั้นทำอย่างไรไม่ให้มีการเปิดช่องกลั่นแกล้งกัน
บทสรุปของเรื่องนี้ ทุกพรรคการเมือง นักการเมืองแต่ละท่าน เวลาเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็จะเจอข้อจำกัดของระบบ หรือสิ่งที่ท่านแบกไว้ก็ตาม แต่มันไม่ใช่ข้ออ้างในการบอกว่าเราจะไม่มองเห็นปัญหาเรื่องนี้ หรือจะไม่แตะปัญหาเรื่องนี้เลย ท่านเคยมีประสบการณ์ หลายเรื่องผมเชื่อว่าทำได้ขยับได้
ถ้าเราเริ่มต้นแบบนี้ อย่างน้อยจะเริ่มต้นการคลี่คลายปัญหาในทางการเมืองไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
ประธาน กกต. ไม่ฟังธง 'ทักษิณ' ช่วยหาเสียงชูนโยบายรัฐบาลเกินอำนาจ อบจ. ผิดหรือไม่
"อิทธิพร" เผยบัตรเลือกตั้งอบจ. เตรียมส่งถึงทั่วประเทศ เตือนผู้สมัคร หลีกเลี่ยงให้เงินแตะเอีย-สิ่งของในช่วงตรุษจีน
เอาแล้ว! อิทธิพรชี้พ่อนายกฯ ปราศรัยก้ำกึ่งผิดกฎหมาย
'ประธาน กกต.' ชี้ทักษิณ ปราศรัยช่วยอบจ. ยกนโยบายรัฐ ก้ำกึ่งผิดกม. ฝาก รมต.ช่วยหาเสียงจัดสรรอย่ากระทบเวลาทำงาน เผยยังไม่มีรายงานซุ้มมือปืน
'ทักษิณ' ลั่นยึดกลับมาให้หมด ศึกชิงนายกอบจ. เพื่อไทยต้องกลับมายิ่งใหญ่เหมือนยุคไทยรักไทย
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวกับ สส.พรรคเพื่อไทยที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ตอนหนึ่งว่า ยืนยันรัฐบาลอยู่ครบเทอม โดยจะมีการเลือกตั้งปี 2570