25 ต.ค.2566 - ที่รัฐสภา สส.พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค พท. แถลงภายหลังสภาฯ มีมติไม่เห็นชอบญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ
นายอดิศร กล่าวว่า ญัตตินี้วิปรัฐบาลประชุมกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก มองว่าจะนำญัตติอื่นมาพิจารณาแทน ไม่ให้โอกาสฝ่ายค้านได้อภิปรายในสภาหมือนเช่นวันนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิปรัฐบาลได้ประชุมกันอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ หลังการประชุมกันยาวนานถึง 4 ชั่วโมง ได้เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ อาจจะสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนถึงการมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจต่อการทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลจึงมีมติให้นำญัตติดังกล่าวเข้าไปสู่การพิจารณา
นายอดิศร กล่าวว่า สำหรับญัตติของพรรค ก.ก. นั้น ยังเห็นทางที่จะประสานกันได้ เพราะคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติ ได้ยื่นมือไปหาพรรค ก.ก.แล้ว ซึ่งทางพรรค ก.ก.ก็รับปากว่าจะไปแสดงความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการ จึงกล่าวได้ว่า ความคิดเห็นก็ไปถึงคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว
ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามตินั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติขึ้นมา ทั้งได้มีคณะอนุกรรมการ 2 ชุด สำหรับศึกษาจำนวนครั้งการจัดทำประชามติ และกระบวนการหลังทำประชามติด้วย
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวมีหลักประกันว่ารัฐบาลจะทำจริง เพราะรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบาย และเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ทางวิปรัฐบาลจึงเห็นว่ากระบวนการนี้จะได้เดินหน้าต่อไป ส่วนญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำเสนอ จะว่าไปแล้วก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะอ้างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มาตรา 9 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบเหมือนสภาผู้แทนราษฎร ก็ไปสู่รัฐบาลไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลยังยินดีรับฟังเต็มที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามและรับฟังความเห็นจากส่วนต่างๆ จึงยังสามารถส่งความเห็นไปให้รัฐบาลได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า วิปรัฐบาลยังเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่มองว่าการทำประชามติ หากดำเนินการโดยรัฐบาลก็จะมีโอกาสสำเร็จ เพราะที่ผ่านมา หากรัฐบาลและวุฒิสภาไม่เห็นด้วย การทำประชามติก็จะไม่สำเร็จ ทั้งนี้ มีความเห็นขัดแย้งกันมากที่สุด คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับมีความหมายอย่างไร โดยพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่แก้ หมวด 1 และหมวด 2 ดังนั้น ส่งให้รัฐบาลไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะยังเป็นความเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันมานานแล้ว จึงเห็นว่าควรให้รัฐบาลทำหน้าที่ไป และหวังว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม
ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า การลงมติในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเราพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะกอดรัดอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ พวกเราเห็นควรว่าต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
นายภราดร กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไม่เห็นด้วยมีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ 1.ขณะนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมาจากทุกพรรคการเมือง นอกจากฝ่ายการเมือง ยังมีฝ่ายวิชาการเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้
2.ในส่วนของเนื้อหาสาระของคำถามที่จะส่งให้รัฐบาล พรรคก้าวไกลเสนอจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ว่า พวกเราจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่หนึ่งและหมวดที่สอง แต่ญัตติของนายพริษฐ์จะให้แก้ไขทั้งระบบ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพวกเรา ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะไม่มีการแก้ เพื่อไม่ให้ขัดต่อเสียงของประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่เห็นด้วย
3.การตั้ง สสร. พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายมหาชนที่จะเกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ
“ไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ว่า สสร.จากการเลือกตั้งจะมาจากทุกสาขาอาชีพและคนที่หลากหลาย เราไม่แน่ใจว่าจะมีกลุ่ม LGBT เข้ามาเป็นตัวแทน เราไม่แน่ใจว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอาชีพเข้ามาหรือไม่” นายภราดร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
รทสช.ขยับทันควัน! หลังสื่อทำเนียบตั้งฉายา ‘พีระพัง‘
จากกรณี ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่
‘อดีต สว.สมชาย’ ซัดเปิดบ่อนคาสิโน นโยบายสิ้นคิด แบ่งใบอนุญาตโควตาการเมือง
สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดบ่อนคาสิโน แบ่งใบอนุญาตโควตาการเมือง ขายมัดจำ
เรือลำเดียวกัน! ชื่นมื่น 'ทักษิณ-อนุทิน' ตีกอล์ฟสยบรอยร้าวรัฐบาลแตก
ชื่นมื่น “ทักษิณ - “อนุทิน” ร่วมวงตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาลแตก หลังฟาดปม“อีแอบ" ยันสัมพันธ์ยังอยู่ในเรือลำเดียวกัน
เกิดขึ้นจริงๆ ‘วรงค์’ โชว์ป้ายเมื่อสามปีที่แล้ว ‘โจรปล้นชาติจะกลับมา’
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์รูปภาพและข้อความในเฟซบุ๊กว่า #ป้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว