'หมอวรงค์' ยื่นผู้ตรวจฯส่งศาลปกครอง ล้มแจกเงินดิจิทัล หวั่นทำระบบเศรษฐกิจชาติเสียหาย เปิดช่องรายใหญ่ฟอกเงินสีเทา เชื่อคนรวยได้ประโยชน์แต่อ้างคนจนบังหน้า
18 ต.ค.2566 - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล
โดยนพ.วรงค์ กล่าวว่า การมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ตั้งเป้า 2 ประเด็น คือต้องการขอให้ระงับยับยั้งโครงการนี้ เพราะหากยังเดินหน้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลปกครองพิจารณา และยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
นพ.วรงค์ ยังกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลได้หาเสียงประกาศที่จะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทกับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน โดยจะใช้วงเงินราวกว่า 5 แสนล้านบาท มีข้อกังวลใจว่าถ้าต้องการช่วยเหลือคนจนทำไมถึงต้องแจกให้กับคนรวยด้วย เอาง่ายๆ คือ สส.1 คน มีผู้ช่วย 8 คน เฉพาะ สส.รวมครอบครัวก็จะได้ประมาณ 8 แสนบาท หรือครอบครัวของนายกรัฐมนตรีก็จะได้ 4-5 หมื่นบาท และที่เป็นข้อกังขาคือทำไมแจกเป็นเงินดิจิทัล หรือโทเคน ซึ่งมีความซับซ้อน เพราะต้องมีการแลกเปลี่ยนจากเงินสดเป็นโทเคน และโทเคนเป็นเงินสด โดยเฉพาะเงื่อนไขของการจ่ายเงินโทเคนที่ระบุว่าต้อง 6 เดือนขึ้นไปถึงจะแลกเป็นเงินสดได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนยากจน เพราะผู้ค้ารายย่อยเขาต้องหมุนเงินทุกวันซึ่งจะเป็นอุปสรรค ทำให้โทเคนไปกองอยู่ที่นักธุรกิจรายใหญ่ อีกทั้งคนยากจนต้องการเงินสดไม่ได้ต้องการเงินโทเคน ซึ่งจะนำไปสู่การฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ในการรับซื้อโทเคนจากคนยากจนที่เขาต้องการเงินสด อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจะนำเงินจากไหนมาทำโครงการนี้ จึงกังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การทุจริตกระจายไปทั้งแผ่นดิน
“กังวลว่าโครงการนี้ไม่ได้ช่วยคนจน แต่ช่วยคนรวยโดยเอาคนจนมาบังหน้า และสิ่งที่กระทำทั้งหมดจะนำไปสู่การขัดต่อกฎหมายหลายมาตราทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 162, 164 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เพราโครงการนี้เป็นการใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลเพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมือง และการนำโทเคนมาใช้จ่ายแทนธนบัตรเสี่ยงขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา 2501 มาตรา 6 มาตรา 9 จึงต้องการบอกประชาชนว่าอย่าให้เขาหลอก เขาไม่ได้ต้องการช่วยคนจนแต่ต้องการช่วยคนรวยโดยเอาคนจนมาบังหน้า” นพ.วรงค์กล่าวและว่า ได้รวบรวมข้อเท็จจริง ความเห็นจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรมว.คลังมาเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลปกครองพิจารณาเพื่อยับยั้งโครงการดังกล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ตนไม่ไปยื่นต่อศาลปกครองโดยตรงเนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มต้น มาตรการทางปกครองจึงไม่ได้เกิด แต่นโยบายดังกล่าวแถลงต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่อยากให้เกิดความเสียหายเหมือนโครงการจำนำข้าว จึงทำเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหายก่อนซึ่งมีช่องทางเดียวคือยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังศาลปกครอง ยกเว้นถ้ามีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการดำเนินโครงการนี้ ก็จะถือว่ามาตรการทางปกครองเกิดขึ้นแล้วสามารถที่จะยื่นตรงต่อศาลปกครองได้ ส่วนอีกข้อห่วงใยคือถ้ามีการดำเนินโครงการ และมีการแจกโทเคนซึ่งจะขึ้นเป็นเงินสดได้ต้องผ่านไปแล้ว 6 เดือน หากในช่วงเวลานั้นเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เช่นมีการยุบสภา เงินนี้ใครจะรับผิดชอบ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็จะไม่รับผิดชอบจะต้องบอกว่าให้ไปขึ้นเงินกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็จะเป็นข้อกังขาเกิดขึ้น เกิดความวุ่นวายเกิดการผูกคอตายของพ่อค้ารายย่อย
นพ.วรงค์ ยังกล่าวว่าเหตุที่ไม่ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่เกิดขึ้นมาตรการทางปกครองยังไม่เกิดขึ้น แต่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นก่อน เหมือนโครงการรับจำนำข้าว ตนไม่ได้ใจจืดใจดำอยากให้นักการเมืองต้องติดคุกหนีไปต่างประเทศ เรื่องนี้เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้นการที่จะไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย มีช่องทางเดียวเท่านั้น คือต้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกเว้นถ้ามีการสะดุจในขั้นตอนนี้ เมื่อมีมติ ครม. มาตรการทางปกครองเกิดขึ้น ค่อยยื่นต่อศาลปกครองได้ และอีกประเด็นถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง มีการแจกโทเคนจริง โทเคนต้องรอ 6 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายน ถ้ามีการสะดุจทางการเมืองขึ้นมา มีการยุบสภาขึ้นมา เงินนี้ใครจะรับผิดชอบ ตนเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็ประกาศไม่รับผิดชอบ ต้องให้ไปเบิกกับรัฐบาลนายเศรษฐา ก็จะเป็นข้อกังขาเกิดขึ้น เกิดความวุ่นวายปั่นป่วน เกิดการฆ่าตัวตายของผู้ค้ารายย่อย ไม่ใช่ชาวนา
เมื่อถามว่าเมื่อเหตุยังเกิดการไปร้องศาลปกครอง อาจะไม่รับคำร้อง นพ.วรงค์ ย้ำว่าต ไม่ต้องการให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย แต่สิ่งนี้มีการแถลงต่อรัฐสภาเป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว มีความตั้งใจกระทำให้เกิดขึ้น การกระทำที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น หากมีการวิเคราะห์จะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยกเว้นมีมติ ครม.ดำเนินการแล้ว เสียหายแล้ว เราสามารถร้องตรงไปยังศาลปกครองและ ป.ป.ช.ได้ เรายังใจดีกับรัฐบาล เราไม่อยากเห็นนายกฯหนีหรืออยู่ในคุก
เมื่อถามว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่างจากโครงการจำนำข้าวอย่างไร นพ.วรงค์กล่าวว่าทั้งสองโครงการมีจุดเหมือนกันมาก โครงการรับจำนำข้าวมีงบประมาณ 94,000 ล้านบาท มีความเสียหายไม่ใช่เฉพาะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่นับไปถึงรัฐบาลนายสมัคร เสียหายเกือบ 9 แสนล้านบาท เฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียหาย 6 แสนล้านบาท แต่โครงการดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งมีหน่วยงานออกมาเตือนไม่แตกต่างกัน สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนักวิชาการ หน่วยงาน แม้แต่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกก็ออกมาเตือน และในส่วนของรัฐบาลนายเศรษฐาก็มีนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์ แม้แต่เอสแอนพี และมูดี้ส์ ก็ออกมาเตือน และโครงการรับจำนำก็อ้างประชาชน นายเศรษฐาอ้างแจกทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป เวลาพูดอ้างช่วยคนจน รูปแบบเหล่านี้คือเอาคนจน เอาชาวนามาบังหน้า แต่สุดท้ายเป็นประโยชน์ของคนรวย ตนเชื่อว่าเมื่อดำเนินการไป ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ตายด้วยทุจริต และรัฐบาลชุดนี้หากยังปล่อยให้เกิดขึ้นก็ตายด้วยทุจริตด้วยการใช้โทเคน แต่ถ้าไม่ใช้โทเคน โอนเป็นเงินสดผ่านบัญชีโกงยาก อันนั้นอาจจะไม่ตาย แต่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับการเงินการคลังของประเทศ ตนจึงขอเตือนหากใช้โทเคนเมื่อไหร่คุกรออยู่แน่นอน
“ในเชิงหลักการการช่วยประชาชนเราไม่ว่า เราเรียกร้องให้ใช้เงินสด ถ้ารัฐบาลนายเศรษฐาให้ทำโพลถามพี่น้องประชาชนว่าต้องการเงินสดหรือโทเคน เพราะโทเคนซับซ้อน หากแจกเงินสดความผิดคุณจะหายไปเยอะ และโอกาสทุจริตจะหายไปเยอะ แต่ความเสียหายต่อการเงินการคลังอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งช่องทางความเสียหายต่อการเงินการคลังในระยะยาวก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการร้องผู้ตรวจฯ แม้คุณไม่โกง แต่ความเสียหายเรื่องการทุจริตจะลดไปเยอะ” นพ.วรงค์
นพ.วรงค์ ยังกล่าวถึงที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ 3 ช่องทาง เกลี่ยงบประมาณ ให้สถาบันการเงินจ่ายไปก่อนหรือกู้ธนาคาร และกู้โดยตรง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบ การที่ไม่มีคำตอบแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในมาตรา 162 164 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ชัดเจนถึงที่มาของเงิน ซึ่งแหล่งที่มาของเงินยังไม่ชัดเจนก็ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว และผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็ยังตอบไม่ตรงกันในเรื่องที่มาของเงิน
เมื่อถามว่าโครงการนี้จะเข้าข่ายฟอกเงินครั้งใหญ่อย่างไร นพ.วรงค์ กล่าวว่า เชื่อโทเคนขณะนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก ณ วันนี้มีการเตรียมใช้เงินดิจิทัลแห่งเดียวของประเทศ และถูกต้องอย่างเป็นทางการนั้น คือ ซีบีดีซี. หรือดิจิทัลบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการทดลองใช้แล้วร่วมกับธนาคารแห่งหนึ่ง ขนาดธนาคารแห่งประเทศไทยมีเงินบาทมีทองคำรับรอง ยังต้องทดลองใช้ก่อน การที่จะออกมาเป็นโทเคน ชาวบ้านไม่รู้จัก ยิ่งการบังคับว่าก่อนที่จะขึ้นเงินอีก 6 เดือน ชาวบ้านต้องการเงินสด ร้านค้าในหมู่บ้านไม่มีทางอยากจะรับเพราะไม่มีเงินหมุน เมื่อประชาชนต้องการเงินสด ร้านค้าหัวดี คนที่มีเงินสีเทาจำนวนเยอะๆ สามารถจะไปร่วมมือเอาเงินสีเทาไปรับซื้อโทเคน วิธีการนี้เป็นกระบวนการฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ ของประเทศครั้งใหญ่ที่ประชาชนอาจคาดไม่ถึง จึงพูดว่าโครงการนี้เป็นการอุ้มคนรวย แต่เอาคนจนมาบังหน้า
เมื่อถามถึงการที่ได้หาเสียงไว้ จะไม่ทำก็ผิดจะมีบรรทัดฐานอย่างไร นพ.วรงค์ กล่าวว่านโยบายหาเสียงที่เป็นนโยบายช่วยเหลือประชาชน ห้ามเพื่อคะแนนนิยมทางการเมือง การที่มาอ้างหาเสียงจะยิ่งผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 9 วรรค 3 อย่างชัดเจน ถ้าไม่ทำก็มีปัญหาทางการเมือง ถ้าทำก็ผิดกฎหมาย เพราะเขาห้ามสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจและเป็นภาระของประชาชนในระยะยาว ดังนั้นต้องย้อนไปช่วงเลือกตั้งที่ผู้จัดการเลือกตั้งจะต้องไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นหลังการเลือกตั้ง ต้องมีการคัดกรองนโยบายที่เข้มงวดกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยนโยบายมาแล้วสร้างปัญหาให้กับประเทศเมื่อเป็นรัฐบาล
“ถ้าผมเป็นนายเศรษฐาจะแถลงบอกเลยว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว มันเป็นปัญหา มันมีอุปสรรค และประชาชนต้องการเงินสด พี่น้องประชาชนช่วยคนจน พี่น้องประชาชนไม่อยากจะเห็นเอาเงินสดไปให้ตระกูลเศรษฐีใหญ่ๆ เอาเงินไปให้ สส. ครอบครัว สส. สว. ครอบครัวนักการเมือง ดังนั้นเราจะลดไซส์ เราจะแจกเป็นเงินสด เอาเฉพาะคนจนที่อยู่ในระบบที่เราต้องการจะช่วย และเราจะแจกเป็นเงินสด เพราะมีระบบรองรับอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าประชาชนรับได้ แต่อาจจะโดนด่านิดหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าลุยไฟไปข้างหน้าแล้วมีความเสี่ยงต่อประเทศ เสี่ยงต่อพวกเราทุกคน ย้ำว่าเฉพาะ พ.ร.บ.เงินตรา มาตรา 6 ที่คุณเอาวัตถุมาใช้แทนเงินตรา มันจะทำให้ประเทศเกิดเงินสองระบบ เป็นเงินของแบงค์ชาติที่มีกฎหมายรองรับ และเงินของรัฐบาลเพียงแต่รัฐบาลรองรับ ถ้าผมเป็นต่างชาติผมไม่ถือเงินบาทแน่นอน ถ้าเปิดปัญหาแบงค์ชาติไม่ได้รับรอง อัตราแลกเปลี่ยนก็จะไหลออกไปเพราะคนไม่เชื่อค่าเงินบาท อย่างที่บอกถ้าคุณถือโทเคนแล้วรัฐบาลยุบสภาใครจะมารับผิดชอบ เรียกร้องคุณเศรษฐา คุณถอยไปสักก้าวหนึ่ง อย่างที่เราเรียกร้องจ่ายเป็นเงินสด จ่ายเฉพาะคนจน โดยด่านิดหน่อย” นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ ยังเชื่อว่าการที่นายกฯ ไม่ระบุถึงบริษัทพัฒนาระบบซุปเปอร์แอป และงบฯในการใช้สร้างระบบ เพราะรู้แล้ว แต่ไม่เปิดเผย แม้มีตัวเลขและบริษัทอยู่ในหัวแล้ว ถ้าหากแฟร์จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่รัฐบาลยังอึมครึม ไม่แฟร์ ไม่ตรงไปตรงมา จึงทำให้เกิดปัญหา จึงเชื่อว่าการแจกเป็นโทเคนจะนำไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอวรงค์' บอกตีปี๊บค่าไฟ 3.70 บาทอาจพันเรื่องแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน!
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี
ดักคอ ‘พ่อนายกฯ’ รีดไขมันค่าไฟเหลือ 3.70 บ./หน่วย อย่าเอาเงินภาษีไปอุ้ม
เรื่องลดไฟฟ้าเหลือ 3.70บาท ถ้าคุณไม่ได้โม้ โฆษณาชวนเชื่อ ให้คุณรีบทำ รีบลดราคาเลย แต่ต้องลดตลอดไป และห้ามเอาภาษีมาอุ้ม
‘หมอวรงค์’ ข้องใจหลักคิด ‘ชัยเกษม’ ปม ‘ยิ่งลักษณ์’ บอกเป็นถึงอดีตอัยการสูงสุด
หลักคิดของคุณชัยเกษม ไม่อยากจะพูดว่า เป็นถึงอดีตอัยการสูงสุด ผมเอาประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้อง กับน.ส.ยิ่งลักษณ์มาให้พิจารณา
'หมอวรงค์' ฟันธงปี 2568 ความจริงเรื่องป่วยทิพย์จะปรากฎ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี
ไทยภักดี คึก หลังเงินบริจาคพรรคพุ่ง5เท่า ลั่นมาถูกทาง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ไทยภักดี ขอบคุณยอดภาษีอุดหนุนพรรคทะลุ 5 เท่า สะท้อนมวลชนสนับสนุน ยืนยัน ปี 68 ชักธงรบเข้มข้น
'นพดล' ฟังทางนี้! 'หมอวรงค์' จับโป๊ะ คำชี้แจง 'MOU 44'
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ถึงนพดล ปัทมะ" โดยระบุว่า คำพูดของนายนพดล ปัทมะ ที่ชี้แจงพันธมิตรฯ เรื่อง MOU 44