อดีตรมว.คลัง ชี้เงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจกเป็นเงินแผ่นดิน การใช้ช่องว่างกฎหมายโดยให้ธนาคารออมสินกู้แทนไปก่อน อาจเป็นการซุกหนี้สาธารณะผิดหลักนิติธรรม ข้องใจงบฯปี67 ผ่านรัฐสภาแล้ว ไม่มีการตั้งงบฯชดใช้
13 ต.ค.2566 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความเรื่้อง แหล่งเงินดิจิทัล มีเนื้อหาดังนี้
ผมขอแนะนำว่า กรณีที่รัฐบาลของนายเศรษฐากำหนดเวลาในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเดือนเมษายนปี 2567 นั้น
รัฐมนตรีทุกคนที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ควรพิจารณาว่า มีความเสี่ยงจะฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่
ถามว่า เงินที่รัฐบาลจะแจก เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่
ตอบว่า เป็นเงินแผ่นดิน
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๓ - ๔/๒๕๕๗ ให้ความหมายของคำว่า "เงินแผ่นดิน" ไว้
"คำว่า "เงินแผ่นดิน" หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติ โดยหมายความรวมถึง บรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค
หรือเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ มีภาระต้องชำระคืนทั้งเงินต้นหรือดอกเบี้ยจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น เงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... จึงเป็นเงินแผ่นดิน"
ถามว่า เมื่อเป็นเงินแผ่นดิน กฎหมายกำหนดวิธีการใช้ไว้อย่างไร
ตอบว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้เงินที่เป็นของประชาชนทั้งชาติได้โดยพลการ แต่จะต้องให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
หลักการนี้ เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก
รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๐ จึงบัญญัติให้จ่ายเงินแผ่นดินได้ เฉพาะโดยผ่านกระบวนการในบรรดากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ถามว่า ในกรณีจำเป็นรีบด่วน รัฐบาลจะจ่ายเงินแผ่นดินไปก่อน ได้หรือไม่
ตอบว่า มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้จ่ายเงินแผ่นดินเช่นนี้ได้ แต่การแจกเงินดิจิทัลไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจ จีดีพีไม่ติดลบ ไม่มีโรคระบาดโควิด
การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเพื่อกระตุ้นตัวเลขจีดีพี จากตัวเลขบวกน้อย ให้เป็นตัวเลขบวกมากขึ้นนั้น ย่อมไม่สามารถอ้างความจำเป็นรีบด่วนได้
ส่วนแนวคิดจะใช้ช่องว่างในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินฯ โดยให้ธนาคารออมสินกู้แทนไปก่อนนั้น
ผมเคยแนะนำไว้ว่า อาจเป็นการซุกหนี้สาธารณะ อาจผิดหลักนิติธรรม และอาจอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน
ถามว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติกรณีจ่ายเงินรีบด่วน ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร
ตอบว่า มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในงบประมาณปีถัดไป คืองบประมาณปี 2567
แต่ในการพิจารณางบประมาณปี 2567 ไม่เห็นว่า รัฐบาลของนายเศรษฐามีการตั้งงบประมาณชดใช้ 560,000 ล้านบาท แต่ประการใด
ถามว่า แหล่งเงินสำหรับโครงการ 560,000 ล้านบาท จะมาจากที่ใด
ตอบว่า พรรคเพื่อไทยเคยชี้แจง กกต. ว่าจะมาจาก
1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 : 260,000 ล้านบาท
2. ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท
3. การบริหารจัดการงบประมาณ : 110,000 ล้านบาท
4. การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน : 90,000 ล้านบาท
และ รมช.คลัง ยืนยันว่า "แหล่งที่มาของเงิน...จะใช้แหล่งของงบประมาณเป็นหลักใหญ่"
ถามว่า การใช้เงินแผ่นดินเพื่อโครงการเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาทดังกล่าว มีการอนุมัติโดยรัฐสภาหรือยัง
ตอบว่า โครงการใช้เงินแผ่นดินระดับ 560,000 ล้านบาท อันเป็นโครงการหลักในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย นั้น
ย่อมไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเล็กน้อยที่รัฐสามารถจะสลับรายการงบประมาณเดิมไปมาได้
การที่รัฐบาลของนายเศรษฐากำหนดเวลาแจกเงินไว้เดือนเมษายนปี 2567 นั้น
มีความเสี่ยง อาจถูกตีความว่า แสดงเจตนาไม่ผ่านกระบวนการบรรดากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ
กล่าวคือ ภายใน dateline เดือนเมษายนปี 2567 เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการอนุมัติโดยรัฐสภา
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเสนอโครงการนี้ต่อรัฐสภาแล้ว เป็นนโยบายของรัฐบาล และรัฐบาลได้มีการพิจารณางบประมาณปี 2567 ไปแล้ว
จึงมีนักวิชาการด้านกฎหมายบางคน ให้คำแนะนำว่า อาจจะมีความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดสำเร็จแล้วด้วยก็ได้
อนึ่ง กรณีสมมุติจะมีการใช้เงินแผ่นดิน 560,000 ล้านบาท โดยโยกลดงบประมาณด้านอื่นเต็มจำนวน นั้น
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะถือไม่ได้ว่า ไม่มีการใช้เงินจากหนี้สาธารณะ
เพราะขณะนี้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ และต้องกู้หนี้สาธารณะเพื่อชดเชยขาดดุล ปีละ 7-8 แสนล้านบาทอยู่แล้ว
กรณีที่สมมุติรัฐบาลสามารถลดงบประมาณด้านอื่น 560,000 ล้านบาท รัฐบาลก็ควรจะเอางบที่ประหยัดได้นี้ ไปลดขาดดุล ลดหนี้สาธารณะ
เมื่อไม่ทำเช่นนั้น ก็จะมีผลโดยอัตโนมัติว่า เป็นการไฟแนนซ์โครงการนี้ด้วยหนี้สาธารณะ
ผมจึงขอแนะนำให้ รัฐมนตรีที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบทุกคน และคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับโครงการนี้ ศึกษาเรื่องความเสี่ยงผิดกฎหมายให้ละเอียดถี่ถ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ธีระชัย' สับมาตรการแก้หนี้ 'คุณสู้ เราช่วย' หากลูกหนี้ผิดเงื่อนไข เท่ากับเอาภาษีไปหนุนสถาบันการเงิน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคลังประชารัฐ แถลงว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลในโครงการ "คุณสู้-เราช่วย" มีข้อบกพร่องสำคัญ
'ธีระชัย' ฟันเปรี้ยง! ต้องปลดแอกจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส เหตุ กัมพูชา รุกล้ำทะเลอาณาเขตของไทย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ต้องปลดแอกจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส
ข้อความจาก 'อดีตรมว.คลัง' ถึงพรรคร่วมรัฐบาล 'MOU44 เป็นการละเมิดพระราชอำนาจ'
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังปร
'ธีระชัย-หม่อมกร' ตอกย้ำ MOU 44 โมฆะ ทำผิดขั้นตอน เสียเหลี่ยมกัมพูชา เสี่ยงเสียดินแดน
'ธีระชัย-หม่อมกร' ตอกย้ำ MOU 44 โมฆะตั้งแต่ต้น ชี้เขตพัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ทำผิดขั้นตอน ต่างจากทุกกรณี เกิด MOU ขึ้นก่อนแล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบเจรจา เสียเหลี่ยม ตกหลุมพราง กัมพูชา เสี่ยงเสียดินแดน
'อดีตรมว.คลัง' ขุดหลักฐาน 'สุรเกียรติ์' ก่อข้อสงสัย ไทยตีความฝ่ายเดียว 'เกาะกูด' เป็นของไทย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประ
'สมชาย' เห็นด้วยอดีตขุนคลังแจกเงินหมื่นเฟสสองเสี่ยงคุก!
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก