‘รมว.กลาโหม’ ยันอพยพคนไทยไม่ล่าช้า รอแค่ไฟเขียวจากอิสราเอล ทอ.เตรียมพร้อมเครื่องบิน 6 ลำ ทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน-ชุดคอมมานโด ใช้ ‘แอร์บัส’ ลำเลียงศพผู้เสียชีวิต
9 ต.ค. 2566 – นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจความพร้อมของกองทัพอากาศในการเตรียมเครื่องบินไปรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในตะวันออกกลาง โดยกองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบินลำเลียงแบบC-130 จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องบินโดยสาร แอร์บัส A340 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมด้วยกำลังพลชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ MERT จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งเคยไปปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี และการอพยพคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานมาแล้ว รวมถึงชุดปฏิบัติการพิเศษ คอมมานโด จากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
นายสุทิน แถลงว่า วันนี้คณะผู้บริหารกระทรวง ที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยรัฐมนตรี รวมถึงปลัดกระทรวงมาพร้อมกัน จากการรับทราบรายงานในห้องประชุมทราบว่า กองทัพอากาศ (ทอ.) และกองทัพไทยมีการประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล มีการพูดคุยและกำหนดแผนปฏิบัติการ ขณะที่กองทัพอากาศรับนโยบายและแผนมาเพื่อที่จะเตรียมความพร้อม ซึ่งวันนี้เห็นว่าในด้านการอพยพคนไทย กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องช่วยรัฐบาล โดยเตรียมเครื่องบินไว้ทั้งแอร์บัส และ C130 และนักบินผู้ปฏิบัติงานก็พร้อม นอกเหนือจากเครื่องบินแล้ว เรื่องของการดูแลคนไทยในระหว่างเดินทางก็พร้อมที่จะให้การเยียวยารักษาคนไทยในระหว่างเดินทางได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล
“ตอนนี้เหลือเพียงว่าการที่จะอพยพคนไทย โดยทางปฏิบัติต้องได้รับอนุญาตจากประเทศอิสราเอลอนุญาตและดูแลอำนวยความสะดวกให้เรา เราถึงจะไปรับคนไทยได้ ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง โดยเป็นห่วงเพียงว่าสถานการณ์ที่จะนอกเหนือจากที่เราควบคุมได้ว่า มันจะรุนแรงขึ้นหรือจะลดลง ถ้ามันรุนแรงขึ้นที่เราเป็นห่วงก็คือ กลัวจำนวนคนไทย 30,000 กว่าคน ถ้าหากว่าคนไทยขอกลับหมด กองทัพอากาศซึ่งเป็นกำลังหลักอยู่แล้วก็เกรงว่าจะไม่ทัน ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือจากการบินไทย หรือสายการบินพลเรือน ให้ช่วยหรือถ้าจำเป็น กระทรวงต่างประเทศได้คุยกับทางอิสราเอล อาจจะใช้เช่าเหมาลำบินมาก่อน” รมว.กลาโหม ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีความปลอดภัยหรือไม่ นายสุทิน ยืนยันว่า ตัวเครื่องมีความปลอดภัย และมีแพทย์ดูแลคนป่วย แต่ปัจจัยภายนอกก็ต้องประเมิน แต่ยืนยันจากการประสานน่านฟ้าอิสราเอลยังไม่ปิด แต่ถ้าปิดก็มีประเทศอยู่สามสี่ประเทศที่จะใช้เป็นทางผ่านไปบินได้เช่น จอร์แดน ซาอุดิอารเบีย และไซปรัส
“การดูแลบนเครื่องปลอดภัย 100% แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นเรื่องสถานการณ์หรือการสู้รบ อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องประเมินร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและอิสราเอล แต่ถ้าจำเป็นจริงจริงก็คงใช้วิธีอื่นการช่วยเหลือ เช่นอพยพคนงานไปในที่ปลอดภัยก่อน” นายสุทิน กล่าว
เมื่อถามว่า มีการโจมตีในโลกออนไลน์ว่าล่าช้า รมว.กลาโหม กล่าวว่า แม้วันนี้เราพร้อมบิน แต่เราก็ต้องรออิสราเอล แต่ตนก็เช็กว่าตอนนี้ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่ไปอพยพพลเมืองของเขา เท่าที่เช็กก็อาจจะไปโดยประสานยังไงไม่ทราบ แต่ว่ายังบินกลับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรายืนยันว่าเตรียมพร้อมที่สุด แต่ขั้นตอนยังไม่เปิดให้เราทำ
ทางด้าน พลอากาศเอกพันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงการลำเลียงศพผู้เสียชีวิตกลับประเทศว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไหร่และอยู่ในจุดไหนของประเทศอิสราเอลบ้าง คงต้องรอข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศในส่วนของเครื่องบินแอร์บัส ทอ. สามารถลำเลียงศพได้ แต่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในเรื่องของการอนุญาต การพิสูจน์ทราบ โดยเรามีช่องคอมพาสเมนท์ 8 ช่อง ในการลำเลียงแต่ละเที่ยวบิน หรือ อาจจะเป็นการใช้บริการของบริษัทเอกชน ชื่อว่าเคมาร์ ซึ่งต้องรอการพิจารณาสั่งการต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' เผยทหารกังวลถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง สั่งย้ายเพราะกลัวรัฐประหาร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการเข้ามาทำงานในกระทรวงกลาโหมว่า ตอนที่เข้ามายังมีพื้นฐานความเข้าใจกอง
'นิพิฏฐ์' ถาม 'อิ๊งค์-อ้วน' เศร้าใจและเสียศักดิ์ศรีที่ชายไทยจนๆ คนหนึ่งเสียชีวิตจากเรือรบของเพื่อนบ้านหรือไม่
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความหัวข้อ หรือผมจะเป็นชายไทยที่รักชาติต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ทอ. ส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 สกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา
กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก
“พิพัฒน์” เยือนญี่ปุ่น ถกรัฐมนตรีแรงงาน นายจ้างญี่ปุ่นต้องการแรงงานทักษะ16 สาขา 820,000คน ที่แรกกรุงโตเกียว
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบเข้าพบ Mr. Takamaro FUKUOKA
“พิพัฒน์” พบ รมว.แรงงาน ญี่ปุ่น ถกเพิ่มอัตราจ้างคนไทยดูแลผู้สูงอายุ พร้อมหนุนองค์กรรับส่งแรงงานไทย
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี