‘ไอติม’ ร่ายแผนก้าวไกล ชูทลาย 5 มายาคติ ดันฝ่ายค้านเปลี่ยนแปลงปท.

‘พริษฐ์’ร่ายแผนก้าวไกล ใช้กลไกสภาขับเคลื่อนความหวัง-ความฝันของปชช. หวังทลายมายาคติ 5 ข้อ ลั่น แม้เป็นฝ่ายค้านก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้

24 ก.ย.2566-ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ดินแดง นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล(ก.ก.) กล่าวปราศรัยภายในงานพบปะสมาชิกของพรรคก้าวไกล “ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ตอนหนึ่งระบุว่า วันนี้ตนรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะได้รับมอบหมายจากพรรคให้มาเสนอแผนการทำงานของพวกเราในสภาต่อหน้าเจ้าของพรรค ซึ่งแน่นอนว่าพรรคก้าวไกลมีเจ้าของคือสมาชิก 70,000 กว่าคน ตนเชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้พวกเราทุกคนตัดสินใจมาเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน ก็เพราะความฝัน และความเชื่อ ที่เรามีตรงกันว่า ประเทศไทยดีกว่านี้ได้ ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็งกว่านี้ได้ เศรษฐกิจไทยไปได้ไกลกว่านี้ และสังคมไทยน่าอยู่กว่านี้ได้ อีกทั้งยังเชื่อว่า พวกเราเห็นตรงกันว่าถ้าเราอยากให้ความฝันของพวกเราเป็นจริง เราก็ต้องมาร่วมกันสร้าง ร่วมกันกำหนดทิศทาง และร่วมกันขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยมียานพาหนะที่มีชื่อว่าพรรคก้าวไกล

หากจะให้สรุปในหนึ่งประโยค ถึงเรื่องราวและการเดินทางของพรรคก้าวไกล ตลอดเกือบสี่ปีที่ผ่านมาจะขอสรุปว่าเป็นเรื่องราวของ “Beating the Odds” หรือการทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิด ไม่มีใครเชื่อว่าเราทำได้ หากย้อนไปสมัยที่พรรคอนาคตใหม่ หลายคนก็วิเคราะห์ว่า คงต้องใช้เวลาสักพักนึงกว่าพรรคก้าวไกลจะกลับขึ้นมาได้ แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี เราก็ได้ก็เติบโตในฐานะสถาบันทางการเมือง และมีจำนวนสมาชิกมากกว่าจำนวนสมาชิกในสมัยพรรคอนาคตใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือหากย้อนไปตอนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 66 พรรคก้าวไกลเราประกาศว่า เราจะเดินหน้าการทำการเมืองแบบใหม่ ที่ไม่อ้างอิงกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เราก็ถูกปรามาสว่า ในเมื่อระบบเลือกตั้งกลับมาเป็นระบบบัตรสองใบ พรรคก้าวไกลคงไม่สามารถชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้ แต่วันนี้พรรคก้าวไกลเรามีผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตจาก 28 จังหวัดทั่วประเทศ ครบทุกภูมิภาค หรือแม้กระทั่งในคืนวันก่อนเลือกตั้งที่แม้จะมีประชาชนมารวมกันหลายหมื่นคน แต่ก็ยังมีคนตั้งคำถามว่า พรรคก้าวไกลจะมีผู้แทนราษฎรเกิน 100 คน จะเป็นจริงได้หรือ แต่ในวันนี้เราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พรรคก้าวไกล เราสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองที่รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ตนเชื่อว่าวันนี้หลายคนอาจมีความรู้สึกผิดหวัง ที่เราไม่สามารถเข้าไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในฐานะรัฐบาลได้ แต่ท่ามกลางคำสบประมาทว่า เมื่อเป็นฝ่ายค้านแล้ว เราจะทำอะไรได้ ตนหวังว่าสี่ปีข้างหน้านี้ จะเป็นสี่ปีที่เรามาร่วมกันพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า เป็นฝ่ายค้านก็เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ โดยพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านเราตั้งใจจะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ผ่านการพูดถึงมายาคติทางการเมืองทั้งหมด 5 มายาคติที่เราต้องการเข้าไปทลาย ได้แก่

1.มายาคติ “ฝ่ายค้านจะเสนอกฎหมายไปทำไม เพราะอย่างไรก็ไม่มีวันผ่าน” หลายคนคงได้เห็นแล้วถึงความพยายามของพรรคก้าวไกลในการผลักดัน “ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ” ผ่านกลไกนิติบัญญัติ โดยตั้งแต่สภาชุดนี้เปิดมาเป็นเวลา 3 เดือน พรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างกฎหมายไว้ 50 กว่าร่าง และได้ยื่นเข้ากระบวนการสภาไปแล้ว 27 ร่าง ซึ่งอยู่ในช่วงของกระบวนการรับฟังความเห็นอีก 14 ร่าง แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่า ในเมื่อพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน มีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา แล้วจะเสนอกฎหมายเหล่านี้ไปทำไม ตนขอยืนยันว่าเป้าหมายการเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกล คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 2 สมรภูมิรบสำคัญ ดังนี้ สมรภูมิแรกคือสมรภูมิในสภา โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนกฎหมาย แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่คณิตศาสตร์พื้นฐานก็บอกเราว่า หาก สส. รัฐบาล 100 คนขึ้นไปเห็นชอบกับกฎหมายฉบับใดที่สอดคล้องกับนโยบายและจุดยืนของเขา กฎหมายฉบับนั้นก็ผ่านสภาได้ และหากย้อนไปในวันที่พรรคก้าวไกลมี สส.เพียง 50 กว่าคน หลายกฎหมายก็ยังเกือบผ่านสภาได้ เมื่อวันนี้เรามี สส. เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แล้วทำไมเราจะไม่กล้าพยายามผลักดันกฎหมายให้ผ่านให้ได้

สมรภูมิรบที่สองที่สำคัญเช่นกัน คือ สมรภูมินอกสภา ที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนความคิดผู้คน แม้จะแพ้โหวตในสภา แต่การได้ใช้สภาเป็นเวทีในการนำเสนอหลักการและเหตุผลของเรา จะเป็นวิธีที่ทรงพลังในการเพิ่มผู้คนที่หันมาเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น จนทำให้หลายวาระที่อาจดูเป็นไปได้ยาก กลายมาเป็นวาระที่ทุกฝ่ายทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าเราจะสำเร็จในการเปลี่ยนตัวบทกฎหมายหรือไม่ แต่การหว่านเมล็ดพันธ์ุทางความคิดให้กับสังคมก็มีความสำคัญเช่นกัน

2.มายาคติ “คณะกรรมาธิการในสภามีไว้เพื่อผลาญงบ” แม้กลไกของคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) 35 คณะ จะเป็นกลไกที่ประชาชนหลายส่วนตั้งข้อสงสัย แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากลไก กมธ. สามารถถูกใช้ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการพยายามวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบสำหรับ กมธ. ที่มีประธานจากพรรคก้าวไกล เช่น การทำให้กระบวนการในการจัดทำงบประมาณมีความโปร่งใสตั้งแต่ต้น โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล การทำงานเชิงรุกในการสร้างความตื่นตัวและระดมความเห็นจากประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือร่างกฎหมายที่ยกระดับประชาธิปไตย เป็นต้น

3.มายาคติ “สภาคือโรงละคร” แม้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นองค์กรระดับประเทศองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนหลายส่วนยังมีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับการทำงานในสภา ทั้งความยืดเยื้อ ไม่มีประสิทธิภาพ เสียดสีกันไปมา คำถามเรื่องความโปร่งใส การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แม้ตนเชื่อว่าเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากนโยบายที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ได้เริ่มผลักดัน แต่พรรคก้าวไกลอยากเห็นสภาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าประธานและรองประธานจะชื่ออะไร สังกัดพรรคไหนก็ตาม จึงได้ยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาเข้าไปแล้วเป็น “ข้อบังคับสภาก้าวหน้า” เพื่อยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะทำให้สภาเป็น “Open Parliament” หรือสภาที่โปร่งใส ให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ และเปิดเผยรายงานการประชุมและข้อมูลการลงมติในรูปแบบที่วิเคราะห์ต่อง่าย, ทำให้สภาเป็น “Strong Parliament” ที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างเข้มข้น ให้ประธานของ กมธ. สามัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เป็น สส. ฝ่ายค้าน ทำให้สภาเป็น “Active Parliament” โดยเพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีที่เปิดให้มีการถามไว-ตอบไวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำฝ่ายค้าน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ อ้างอิงมาจาก “Prime Minister’s Questions” ของสภาในสหราชอาณาจักร, ทำให้สภาเป็น “Global Parliamnet” หรือสภาที่เชื่อมโยงกับสากล โดยให้มีการแปลทุก พ.ร.บ. ที่สภาเห็นชอบเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นคลังข้อมูลในการสื่อสารกับประชาคมโลก และ การทำให้สภาเป็น “People’s Parliament” ที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเปิดให้ประชาชน 5,000 คน มีสิทธิร่วมเข้าชื่อเสนอญัตติ รวมถึงกำหนดให้ร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเสนอโดยประชาชน ต้องถูกนับเป็นเรื่องด่วนและต้องถูกพิจารณาก่อน

4.มายาคติ “ฝ่ายค้านจะต้องค้านทุกเรื่อง” แม้หลายคนจะคุ้นชินกับบรรยากาศของฝ่ายค้านที่จะต้องค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องที่เป็นประโยชน์ พร้อมทักท้วงรัฐบาลในเรื่องที่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์ เป็นฝ่ายค้านที่นำหน้าปัญหา ไม่ใช่ “เงา” ที่คอยตามหลังและไล่บี้รัฐบาล แต่จะเป็น “แสง” ที่คอยนำทางและชี้แนะรัฐบาล ดังนั้น ใน 4 ปีข้างหน้านี้ พรรคก้าวไกลจะพิสูจน์ให้เห็นว่าฝ่ายค้านสร้างสรรค์และฝ่ายค้านที่นำหน้าปัญหา เป็นจริงได้ในการเมืองไทย จะมีการทำ Policy Watch คอยติดตามนโยบายของทุกกระทรวงอย่างใกล้ชิด และนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลรับไปพิจารณา การยื่นร่างกฎหมายประกบร่างกฎหมายจาก ครม. อย่างสม่ำเสมอ หาก ครม. เสนอกฎหมายที่ยังมีเนื้อหาที่ก้าวไกลมองว่าบกพร่องหรือไม่ครบถ้วนสู่สภา พร้อมทั้งจะวิพากษ์วิจารณ์แบบมีข้อเสนอและทางออกควบคู่ ตอบได้เสมอว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

5.มายาคติ “สส. เขตทำงานพื้นที่ สส.บัญชีรายชื่อทำงานเชิงประเด็น” สำหรับพรรคก้าวไกล บทบาทของ สส. แบบแบ่งเขตจะไม่เป็นเพียงแค่ผู้แทนที่ดีของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในส่วนที่เขามีความสนใจหรือความเชี่ยวชาญด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในการอภิปรายคำแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. ที่ผ่านมา มี สส.พรรคก้าวไกล ถึง 10 จาก 31 คน ที่เป็น สส. แบบแบ่งเขต และใน 4 ปีข้างหน้านี้ พรรคก้าวไกลจะกระจาย สส. ทุกคน ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อไปตามกลุ่มเชิงประเด็น 15 กลุ่ม ให้ สส. แต่ละคน สามารถเป็นตัวแทนหลัก (champion) ของพรรคในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านั้นได้

นายพริษฐ์ กล่าวว่า บางคนอาจจะมองฝ่ายค้านด้วยความรู้สึกดูแคลน เป็นเสียงข้างน้อยในสภาที่โหวตอย่างไรก็ยากที่จะชนะ แต่สำหรับตนฝ่ายค้านเป็นบทบาทที่มีคุณค่าและขาดหายไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย เป็นจุดตัดสำคัญระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน กับระบอบเผด็จการที่ไม่อนุญาตให้มีฝ่ายค้านและผูกขาดอำนาจจนประชาชนไม่มีทางเลือก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลอยากเป็นฝ่ายค้านมากกว่าเป็นรัฐบาล หรือต้องการเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต เพียงแต่ตนไม่อยากให้ทุกคนหมดหวัง แต่อยากให้ทุกคนภูมิใจกับบทบาทฝ่ายค้านที่แบกความหวังของประชาชนอย่างน้อย 14 ล้านคนทั่วประเทศ และตนเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลใช้ทุกวินาทีในสภาตลอด 4 ปีข้างหน้า ไปเพื่อการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า การขับเคลื่อนงานยากผ่านกลไกกรรมาธิการ และการเป็นฝ่ายค้านสร้างสรรค์ที่ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เราไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในการทลายมายาคติของการเมืองเดิมๆ และฟื้นฟูศรัทธาประชาชนต่อระบบรัฐสภาได้

“เราจะประสบความสำเร็จในการพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าฝ่ายค้านก็เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ และหากเป็นเช่นนั้น ผมเชื่อว่าในวันที่ประชาชนทั่วประเทศเดินเข้าคูหาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป พวกเขาจะมีความคิดในใจว่า ขนาดเป็นฝ่ายค้านพวกเรายังเปลี่ยนประเทศได้ขนาดนี้ แล้วถ้าส่งให้พวกเราเป็นรัฐบาล ประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ

'พริษฐ์' เผยขอเข้าพบ 3 บุคคลสำคัญ หาทางออกจัดทำรธน.ฉบับใหม่ ให้ทันเลือกตั้งครั้งหน้า

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน เปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...ว่า ต้องรอดูว่า กรอบเวลาพิจารณาร่างดังกล่าว

'พริษฐ์' ข้องใจเลือกตั้ง นายก อบจ. เป็นวันเสาร์ จี้ กกต. ทบทวนแผน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ให้ความเห็นถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห๋นชอบร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.)

'ปชน.' ตีปี๊บ! 1 ปีฝ่ายค้านผลงานเพียบ เมินเรตติ้งร่วง โต้ฮั้ว พท.

'พรรคประชาชน' โวผลงานฝ่ายค้าน 1 ปี' เสนอกฎหมาย 84 ฉบับ ตั้งเป้าทำงานผสมผสานได้ทั้ง 'รุก-รับ' ปัดฮั้ว 'เพื่อไทย' เมินผลโพลคะแนนร่วง เปรียบ 'เตะบอล' ต้องรอจบ 90 นาที

'พริษฐ์' หวั่นลากยาว กมธ.ร่วมประชามติ นัดถก 30 ต.ค. หาข้อสรุปเกณฑ์เสียงข้างมาก

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ.… ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ฯ นัดแรก