ป.ป.ช. กางไทม์ไลน์ ครม.ลุงตู่-ครม.เศรษฐา ยื่นบัญชีทรัพย์สินพ้น-เข้ารับตำแหน่ง


15 ก.ย.2566 - ที่สำนักงานที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง หรือวันพ้นจากตำแหน่ง

สำหรับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี การยื่นบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ขณะเดียวกัน การยื่นบัญชีฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ให้ถือวันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นวันพ้นจากตำแหน่ง

กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากเป็นกรณีเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่

สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอชี้แจงรายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบ ของคณะรัฐมนตรีทั้งสองชุด ดังนี้

1.นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 หากไม่สามารถยื่นได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566

2.นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยมีระยะเวลาในการยื่นภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 หากไม่สามารถยื่นได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลา ได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอดังกล่าวภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566

สำหรับกรณี หากมีรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายเศรษฐา ภายใน 30 วันหลังพ้นจากตำแหน่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ห้าม หากจะยื่นไว้เป็นหลักฐาน

กรณีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ห้ามที่จะยื่นไว้เป็นหลักฐาน

กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามมาตรา 102 (9) นั้น และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 102 (1)

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเชิญชวนให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยื่นผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์เนื่องจากสามารถจัดเก็บ และบริหารข้อมูลส่วนบุคคลตลอดจนรายการทรัพย์สินได้ง่าย ข้อมูลไม่สูญหาย และสามารถนำไปใช้เป็นขึ้นมูลในการยื่นบัญชีฯ ครั้งถัดไปได้ ช่วยประหยัดเวลา ลดภาระในการเดินทาง และสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานเพราะมีขั้นตอนยืนยันตัวตน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป.ป.ช.สะดุ้ง! ยก 6 เหตุผลปราบคอร์รัปชันไร้ประสิทธิภาพ คนโกงจึงเหิมลำพอง

สาเหตุที่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ได้ผลไร้ประสิทธิภาพและพวก คนโกงคนชั่วหรือเหิมลำพอง อยู่ได้ก็เพราะ

เปิดหนังสือ ‘หมอวรงค์’ ร้อง กกต. สอบ 4 ประเด็นใหญ่ ฟัน ‘ทักษิณ’ ปราศรัยอุดรฯเข้าข่ายผิดกม.

ในการปราศรัยที่อุดรที่ผ่านมา จริงอยู่คุณมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะพูด อยากจะปราศรัย เป็นเรื่องของคุณ แต่คุณต้องรับรู้นะครับว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ถ้าคุณทำให้สงสัยได้ว่า มีความเสี่ยงที่ทำผิดกฏหมาย

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???