เปิด 5 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเศรษฐาที่จะทำทันที!

เปิด 5 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเศรษฐาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น-ยกหนี้เกษตรพ่วงเอสเอ็มอี-ลดค่าไฟและน้ำมัน-กระตุ้นท่องเที่ยว-แก้รัฐธรรมนูญ อึ้งไม่มีค่ารถไฟฟ้า 20 บาทและค่าแรงเลย

06 ก.ย.2566 - นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้จัดคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งสิ้น 52 หน้า ซึ่งเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ในหน้า 12-14 ที่ได้ระบุถึงนโนบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการก่อน โดยระบุว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้าจนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มา ของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง

นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทาหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี

และที่สำคัญ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

ท่าประธานรัฐสภาที่เคารพ

การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าวไปเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รัฐบาลมีนโยบายอีกหลากหลายประการที่สามารถทำได้โดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหา และช่วยเหลือประชาชนผ่านโยบายดังต่อไปนี้

นโยบายแรก คือ การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

นโยบายเร่งด่วนถัดมา คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายที่สาม คือ รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก เราตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทา Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี

รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่าง ๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนานักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจ และความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว

และนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญ กับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้น่าสนใจว่าในคำแถลงของนายเศรษฐานั้นไม่มีนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยพูดไว้ในหลายเรื่องตั้งแต่รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย, ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ททท. จัดประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก ในงาน 'สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567'คลองผดุงกรุงเกษม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานลอยกระทง “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567” ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2567 โดยไฮไลท์วันสุดท้าย มีการประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก