กกต. ประกาศ 6 หลักเกณฑ์ เข้าชื่อชง ครม. ออกเสียงทำประชามติ

4 ก.ย. 2566 – สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ เนื้อหาระบุว่า ด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9 (5) กำหนดการออกเสียงประชามติกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ กกต. จึงได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.ต้องมีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่ถูกจำกัดสิทธิตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564

2.จัดทำหนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใดและเรื่องนั้นมิใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

3.รายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใส่แผ่นบันทึกข้อมูล หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล ของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน

4.ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเอกสารและข้อมูลด้วยตนเองต่อสำนักงาน กกต. ส่วนกลาง หรือสำนักงานกกต. ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ E-mail : [email protected]

5.เมื่อสำนักงาน กกต. ได้รับเอกสารและข้อมูลแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือการเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ว่าถูกต้องตามแบบที่กำหนดหรือไม่ และตรวจสอบจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อว่าครบถ้วนหรือไม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสาร กรณีผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเอกสารต่อสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดจัดส่งเอกสารและข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงาน กกต. กลาง ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารและข้อมูล หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนก็จะแจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทราบโดยเร็ว และสำนักงานกกต. จัดส่งเอกสารให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป กรณีที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน จะแจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมทั้งส่งเรื่องคืนเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนและยื่นต่อสำนักงานกกต. ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่หากผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้การเสนอเรื่องการเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เป็นอันยุติในคราวนั้น

6.เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเอกสารและข้อมูลจากสำนักงาน กกต. แล้ว จะพิจารณามอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยอาจขอให้หน่วยงานของรัฐอื่นสนับสนุนและช่วยเหลือในการตรวจสอบได้ โดยในการตรวจสอบการเข้าชื่อ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อผู้ใดไม่ถูกต้อง ให้หักออก หากยังมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อครบจำนวนตามข้อ 1 จะดำเนินการเสนอรายงาน ต่อ ครม. ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบในเรื่องที่จะเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่ครบจำนวน จะต้องรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อยุติการเสนอเรื่องต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง และแจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อพร้อมทั้งส่งเรื่องคืนให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อและแจ้งสำนักงาน กกต. ทราบ ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเข้าชื่อได้จากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 24.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 14 เตือนฝนตกหนักมาก-ทะเลคลื่นลมแรง

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย"

'ดิเรกฤทธิ์' พ้อ! ไร้องค์กรตรวจสอบ กกต. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ 'เลือก สว.'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดไม่ถูกตรวจสอบ"

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง