'วันนอร์' แจงชัดเลื่อนประชุมสภา เหตุก้าวไกลนำญัตติด่วนชงชื่อพิธาซ้ำ ไม่รอคำวินิจฉัยศาลรธน.

5 ส.ค.2566 - ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี เมื่อวานนี้(4ส.ค.) สั่งเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาออกไปก่อน พร้อมกับปิดการประชุมทันทีนั้น ว่า การเปิดประชุมเมื่อวานนี้มีประชุมวาระอยู่ 2 เรื่อง คือการเลือกนายกฯ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค. ส่วนเรื่องที่ 2 คือการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งตนตั้งใจให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ และหากเลื่อนวาระที่ 2 ขึ้นมาสภาก็มีความพร้อมที่จะพิจารณาแต่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมานั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล(ก.ก.)ได้เสนอญัตติด่วนขึ้นมาเพื่อให้ทบทวนมติที่สภาได้พิจารณาไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.คือญัตติที่ไม่ให้โหวตนายกฯซ้ำ ซึ่งเรื่องได้พิจารณาตามข้อบังคับ 151 ไปแล้ว โดยข้อบังคับ 151 ในวรรคแรกได้ระบุว่า การลงมติของรัฐสภาถือว่าเด็ดขาด การที่จะมาทบทวนมติที่เด็ดขาดไปแล้ว ตนและสมาชิกหลายท่านเข้าใจว่าไม่สามารถกระทำได้

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า โดยปกติที่ผ่านมา หากเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็ยังจะไม่พิจารณาเรื่องนั้น โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยและคำสั่ง ของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเด็ดขาด และมีความผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดหน้าไปพิจารณาวันที่ 4 ส.ค. ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค. หากเราพิจารณาก่อน อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะเป็นการย้อนแย้งกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังพิจารณาเรื่องเดียวกัน และหากมีการพิจารณาและลงมติ และวันที่ 16 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่ตรงกับมติของสภา “ท่านคิดว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร” หากเรารอให้ถึงวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจบแล้ว เราก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวมาทบทวนได้ แต่เราค้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

“ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้ในประการแรก ญัตติที่จะทบทวนญัตติของเราเอง ตามที่ข้อบังคับพูดไว้ชัดเจนแล้วนั้น จะกระทำได้หรือไม่ สมควรจะกระทำหรือไม่ ประการที่สอง เรื่องที่เราจะพูด คือเรื่องมติโหวตนายกฯกระทำซ้ำได้หรือไม่ มันเป็นเรื่องเดียวกันที่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวันที่ 16 ส.ค.นี้ และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเด็ดขาด สภาจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้ว เราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ในฐานะประธานรัฐสภาเราไม่สามารถนำองค์กรให้เกิดปัญหากับองค์กรที่จะตัดสินเรา เราพร้อมจะทำตามสมาชิกถ้าหากว่าข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอที่ไม่ย้อนแย้ง ซึ่งจะทำให้ความเชื่อถือลดลง ต้องขออภัยไม่ได้รีบปิดประชุมหนี เพื่อไม่ให้อภิปรายการแก้ไขมาตรา 272 ที่รอเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อให้สมาชิกครบ เพื่อให้ได้ประชุม และเลื่อนวาระ 272 ที่พรรคก้าวไกลอยากจะอภิปรายขึ้นมาก่อน ผมก็อยากให้อภิปรายอย่างเต็มที่ แต่สมาชิกไม่ยอมที่จะให้เลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณา และเสนอนำเรื่องด่วนที่ไม่ได้อยู่ในวาระขึ้นมาพิจารณาซึ่งสามารถเสนอได้ แต่เรื่องที่เสนอให้พิจารณาคือ เรื่องของวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งคือเรื่องการโหวตนายกฯ โดยตามมาตรา 151 ถือว่าทำไม่ได้ ผมไม่ได้ปฏิบัติเพื่อฝ่ายใด หรือกีดกันฝ่ายใด ไม่งั้นจะรอถึงชั่วโมงเหรอ เพราะหากสมาชิกไม่ครบแค่ครึ่งชั่วโมงก็ไม่สามารถประชุมได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีการประชุมเมื่อวานนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยังเหลือเวลาในการประชุม ทำไมถึงไม่ให้มีการลงมติ นำญัตติด่วนการเสนอชื่อนายกฯซ้ำขึ้นมาพิจารณา หรือเอามาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณา นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภาไม่ยอม จะลงมติเรื่องที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ถ้ารัฐสภาพิจารณาแล้วขัดแย้งกับคำวินิจฉัย จะมีความเสียหายเกิดขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดศาล ผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือประธานรัฐสภา ซึ่งมองว่าจะกระทบต่อบุคคลที่เสนอ และวิธีการด้วย ซึ่งจะทำให้สภาเกิดความสับสนต่อบุคคลภายนอก ในวันที่ 16 ส.ค.ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าได้ และรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เราจะบอกว่าศาลเป็นใหญ่กว่าสภา มองว่าไม่มีใครใหญ่กว่าใคร แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แบบนั้น

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า ตนทำงานในสภามากกว่า 40 ปี ไม่เคยมีการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาทบทวน ยืนยันไม่ได้ปิดประชุมหนี เพราะการเลื่อนประชุมสภาเมื่อวานนี้ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของบ้านเมือง ในที่สุดแล้วก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้

เมื่อถามว่าในวันที่ 17 และ 18 ส.ค.จะมีการประชุมรัฐสภาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 ส.ค. ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยออกมาจะเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 3 วัน คือวันที่ 18-19 ส.ค. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและความสง่างามของที่ประชุมรัฐสภา หากมีการทบทวนหลายรอบ จะทำให้เกิดการร้องเรียนขึ้นมาอีก และเกิดความไม่สง่างามของรัฐสภา พร้อมย้ำว่า ไม่มีคนอยู่เบื้องหลังเสนอให้เลื่อนการประชุม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง!ปดิพัทธ์บอกยุบ 'ก้าวไกล' แสดงว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลสภานานาชาติ

'ปดิพัทธ์' ยอมรับมีชื่อเป็น กก.บห.ก้าวไกล เสี่ยงพ้น สส. หากพรรคถูกยุบจริง แต่เชื่อมั่นว่าการสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่งรองประธานสภา ชี้งานที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว

เลขาฯกกต. โต้ก้าวไกล ปมยื่นยุบพรรค

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เลขาฯกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง

'ชัยธวัช' ลั่นทุกคนในพรรคนิ่ง ถ้ายุบจริงเราตกผลึกหมดแล้ว ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยไม่มีการไต่สวน

'รังสิมันต์' รับสภาพคงสู้คดียุบพรรคยากขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญขีดเส้นตาย

'โรม' รับคงสู้คดียากขึ้น หลังศาล รธน.นัดชี้ขาดยุบก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ยกพยานปากสำคัญควรได้ขึ้นไต่สวน ยันพรรคไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

'รัฐสภา' ไม่มีอำนาจรับรองวุฒิการศึกษา ปัดก้าวล่วงคุณสมบัติ สว.

'อาพัทธ์' โต้ 'สมชัย' รัฐสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบ-รับรองวุฒิการศึกษา เผยต้องคุยฝ่ายกฎหมายก่อนเอาผิดได้หรือไม่ ปัดก้าวล่วงคุณสมบัติ สว.