'ท็อป' ยกยุค 'บรรหาร' เตือนสติ! อย่าเอาแค้นส่วนตัวมาฉุดรั้งประเทศไป 10 เดือน

'วราวุธ' ชี้หัวใจสำคัญอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่ แนะพรรคใดพรรคหนึ่งต้องพิจารณา หากทอดเวลาไปนานแต่ยังไม่ได้นายกฯ ระบุต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติ อย่าเอาความแค้นส่วนตัวทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้

26 ก.ค.2566 - นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการงดประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค. โดยเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปอีก ว่าจะส่งผลให้ขั้นตอนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไป เมื่อยังไม่มีนายกฯ ใหม่ ก็จะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ การพิจารณาทำงานในเรื่องต่างๆ เช่น งบประมาณก็จะล่าช้าออกไป ต้องเข้าใจก่อนว่าการบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างมีกรอบเวลา ยังไม่นับถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ข้อตกลงต่างประเทศหลายอย่างที่ประเทศไทยมีความร่วมมือและลงนามไว้ ซึ่งเป็นพันธะที่เราต้องดำเนินการ การทำงานภายใต้สถานะรัฐบาลที่ไม่เต็มตัวนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ดังนั้นการที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลรักษาการไปอีก 10 เดือนนั้น คิดว่าไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดส่วนบุคคล และ 8 พรรคร่วม รวมทั้งพรรคที่ได้เสียงข้างมากทราบดีอยู่แล้ว เข้าใจดีว่าข้อจำกัดเรื่องการใช้งบประมาณ การอนุมัติกรอบงบประมาณ การทำงานระหว่างประเทศมีความสำคัญเพียงใด

นายวราวุธ กล่าวว่า ยกตัวอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นงานดูแลของ ทส.มีเรื่องที่จะต้องทำกับต่างประเทศมากมาย ซึ่งรัฐบาลที่อยู่ในช่วงยังไม่เป็นรัฐบาลเต็มตัวไม่สามารถดำเนินการได้ ทำได้เพียงขอความเห็นชอบจากแต่ละหน่วยงาน ไม่มีอำนาจเต็มตัว และยังกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ การส่งออก และอีกหลายๆ เรื่อง ดังนั้น เรื่องของการรักษาการไปอีก 10 เดือนนั้นคิดว่าคงไม่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทอดเวลาออกไป ยังไม่ได้นายกฯ และ ครม.ชุดใหม่ ทางออกควรเป็นอย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า 8 พรรคที่จับมือกันอยู่นั้นคงเข้าใจถึงสภาพเป็นอย่างดี 8 พรรค 312 เสียง สองพรรคใหญ่ก็ 292 เสียง ดังนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่ พรรคใดพรรคหนึ่งคงต้องพิจารณาว่าหากจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต้องทำอย่างไร เป็นสิทธิ์ที่พรรคใหญ่จะต้องพิจารณา

เมื่อถามว่าทางพรรคก้าวไกล ระบุไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาจะทำงานกับก้าวไกลได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ตคยพูดไว้ว่าแต่ละพรรคจะมีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกันไป พรรคก้าวไกลก็จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าทำงานในลักษณะใด พรรคชาติไทยพัฒนาเองย้ำเสมอตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยน

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สามารถโหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำได้อีก ชทพ.จะโหวตแบบเดิมหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกครั้งที่สภาจะโหวตเรื่องสำคัญๆ พรรคเราต้องมีการประชุมหารือกันก่อนทุกครั้ง ตอบแทน สส.ท่านอื่นไม่ได้ เพราะเวลาโหวตเลือกนายกฯ นั้นไม่ใช่มติพรรค แต่เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน คงต้องมีการประชุมเหมือนทุกครั้ง

เมื่อถามว่าหากสุดท้ายแล้วไม่สามารถโหวตนายกฯได้ ใครควรจะเป็นผู้เสียสละ นายวราวุธ กล่าวว่า อย่างที่บอกข้างต้น ใน 8 พรรคที่หารือกันนั้น 2 พรรคใหญ่ คงต้องพิจารณากันแล้วว่าควรจะดำเนินการกันอย่างไร เพราะแต่ละคนล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์และมีความสามารถ คงวางแนวทางกันได้ คิดกันได้ว่าควรจะเป็นอย่างไร จะดันทุรังต่อ จะเอาอนาคตหรือประชาชนมาเป็นตัวประกันหรืออย่างไร ก็คงต้องสุดแล้วแต่ 2 พรรคใหญ่จะพิจารณา

"ถ้าใครได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ ครั้งนั้นนายบรรหารโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างหนักหนาสากรรจ์มากที่สุด แต่เมื่อยุบสภาแล้วมีรัฐบาลใหม่เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หากพรรคชาติไทยในขณะนั้นไม่เข้าร่วมรัฐบาลด้วย มีการมาทาบทามเชิญ ผมไม่ได้ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพียงแต่อยากบอกว่า วันนั้นถ้านายบรรหารยังยึดติดกับความโกรธแค้นที่มีจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนั้นการเมืองไทยและเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องใช้ความอดทน อดกลั้น มองถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อน"

นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ยกประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้ขึ้นมา เพื่อเตือนสติหลายๆ ฝ่าย ว่าอย่าเอาความโกรธแค้นส่วนตัว อย่าเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาเป็นเหตุอ้างในการทำให้ประเทศชาติไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ เรื่องที่เกิดขึ้นผ่านมาหลาย 10 ปีแล้ว แต่ที่หยิบยกมาเพราะเป็นหลักการในการทำงานด้านการเมือง แม้ว่าสถานการณ์เปลี่ยน ความคิดคนเปลี่ยน แต่หลักการทางการเมืองไม่เคยเปลี่ยน ยึดผลประโยชน์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ วันนี้เรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยอีกจุดหนึ่ง หากทุกฝ่ายเอาทิฐิมานะเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมกันท่าเดียว ประเทศชาติก็จะไปไม่ได้ ต้องขอฝากหลายๆฝ่ายที่มีคะแนนเสียงอยู่ในมือ คิดถึงอนาคตของประเทศชาติ แล้วมาคิดกันจริงจังว่าจะทำอย่างไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

'วิสุทธิ์' เผยฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย ร่างคําฟ้องเช็กบิล 'ธีรยุทธ' แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องผู้ยื่นคําร้องกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครอง ว่า ตนได้คุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

'จตุพร' ปลอบและปลุก อดทนเฝ้าคอยยังมีอีกหลายยก!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ศาล รธน.รับคำร้องคลาดเคลื่อน แม้ถูกเย้ยหยันหน้าแตก แต่ถัดจากนี้ไปขอให้ประชาชนอดทนเฝ้ารอสถานการณ์