24 ก.ค.2566 - นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า มติของรัฐสภาใน"ญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ซ้ำกับญัตติเดิม ขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อ.ที่ 41" นั้น ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ภายหลังการประชุมรัฐสภาครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เพื่อพิจารณาญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องในญัตติเดิมที่รัฐสภาเคยพิจารณาและลงมติไปแล้ว ในการประชุมรัฐสภาครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นั้น โดยที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง จึงถือว่านายพิธาฯ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม และญัตติดังกล่าวได้ตกไปแล้วตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ต่อมาในการประชุมในวันที่ 19 กค.66 สมาชิกรัฐสภาจาก 8 พรรคการเมืองเดิมที่สนับสนุนนายพิธาฯ ได้เสนอญัตติเดิมมาให้ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยประธานรัฐสภา นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ได้บรรจุญัตติเดิมเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณาใหม่อีกครั้ง และได้ถูกคัดค้านจากสมาชิกในที่ประชุมว่า ญัตติดังกล่าวไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติอีกครั้งหนึ่งได้ ด้วยเหตุผลว่า เป็นการขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41. ที่กำหนดไว้ว่า " ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป"
เมื่อ สส.และ สว. จำนวนมากได้แสดงความเห็นคัดค้านและเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาว่า ญัตติของ 8 พรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายพิธาฯ ได้ตกไปแล้วไม่สามารถนำมาพิจารณาใหม่ซ้ำกับญัตติเดิมที่ตกไปแล้วได้ ขอให้ที่ประชุมพิจารณา ประธานที่ประชุมจึงได้หารือและขอให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นและลงมติ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นด้วยว่าไม่สามารถนำญัตติดังกล่าวมาให้สภาพิจารณาลงมติอีกครั้งหนึ่งได้ ด้วยคะแนน 395 เสียง ชนะฝ่ายที่เห็นด้วยที่มีเพียง 312 เสียง จึงเป็นอันว่า ไม่สามารถเสนอขื่อนายพิธาฯ มาให้รัฐสภาโหวตได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุผลขัดข้อบังคับข้อที่ 41 ดังปรากฎข้อเท็จจริงและเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน
จากกรณีดังกล่าว ได้ปรากว่ามีนักกฎหมายบางท่าน ผู้ตั้งตนเป็นปรมาจารย์บางคน นักวิชาการหิวแสง ออกมาให้ความเห็นทำนองว่า "การพิจารณาตีความตามข้อบังคับ และมีมติเช่นนั้นของสมาชิกรัฐสภา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าเป็นการตีความข้อบังคับมาพิจารณาให้มีผลเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ และเสนอให้ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" ไปโน้นเลย เพื่อให้ท้ายพวกแพ้ญัตติแล้วไม่ยอมแพ้ ดึงดันดื้อด้านจะเสนอชื่อนายพิธาฯอีกต่อไป อันสอดรับกับจริตของพวกประชาธิปไตยดื้อด้านอย่างยิ่ง และในที่สุดก็มีผู้ไปยื่นคำร้องเรื่องนี้ ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยวันนี้(24 กค.66) ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งต้องรอฟังผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ประเด็นพิจารณาเรื่องนี้ ผมขอให้ท่านผู้มีสติปัญญาทั้งหลายโปรดพิจารณา ด้วยใจสงบนิ่งไตร่ตรองด้วยเหตุผล และโปรดอ่านความคิดเห็นของผมจนจบเสียก่อนแล้วค่อยวินิจฉัย ด้วยวิจารณญาณของตัวท่านเองตามหลักกาลามสูตร หลักความเชื่อทางพุทธศาสนา ผมเชื่อว่า ท่านจะได้คำตอบด้วยตัวท่านเองว่าจะเชื่อใครและจะยึดถือหลักการใด
ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา คือ กฎหรือข้อบังคับที่มีลักษณะพิเศษ ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดวีธีและแนวปฎิบัติในการดำเนินงานหรือกิจการใดๆของรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญบัญัติไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ข้อบังคับการประชุม จึงเป็นกฎที่มีศักดิ์และฐานะสูงเทียบได้กับกฎหมาย และมีกระบวนการตราข้อบังคับเช่นเดียวกับการตราพระราชบัญญัติ เพียงแต่มิใช่กฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อบังคับเป็นกฎที่มีรายละเอียดและวิธีปฎิบัติขยายสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถกำหนดรายละเอียดได้ เพราะตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดและบัญญัติได้แต่เฉพาะหลักการสำคัญๆเท่านั้น จึงมิได้บัญญัติให้รายละเอียดและวิธีปฎิบัติ เพื่อให้หลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถ ปฎิบัติให้เกิดผลนั้นได้ ต้องถูกบรรจุไว้ในการตราข้อบังคับการประชุมของสมาชิกรัฐสภา ดังจะปรากฎในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังนี้
ส่วนที่ 5 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา มาตรา 156 ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน (11) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157
มาตรา 157 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่ทั้งสองสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ ในเรื่องการตั้งกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้เป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใก้ลเคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกแต่ละสภา
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เป็นการตราขึ้นโดยที่ประชุมรัฐสภา แน่นอนที่สุดย่อมมิอาจขัดหรือแย้งหรือมีศักดิ์เหนือกว่ารัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อันเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันดี แต่นั่นย่อมหมายความแต่เพียงเฉพาะไม่ขัดต่อหลักการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น รายละเอียดและวิธีปฎิบัติทั้งหลายต้องยึดถือตามข้อบังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงในการประชุมและการลงมติเมื่อ 19 กค.2566 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จำต้องพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ที่ใช้ในการประชุมครั้งนี้ ก็ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 156(11) และมาตรา 157 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้อำนาจไว้ทุกประการ รัฐสภาจึงได้ตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาขึ้นบังคับใช้ โดยมีรายละเอียดมากกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ตามมาตรา 156(11) ที่บัญญัติเป็นหลักการไว้เพียงให้ที่ประชุมรัฐสภาตราข้อบังคับขึ้นใช้ตามมาตรา 157 เท่านั้น เมื่อข้อบังคับได้ตราขึ้นและกำหนดรายละเอียดไว้ โดยมีประธานรัฐสภาลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับ รัฐสภาจำต้องปฎิบัติตามข้อบังคับนั้นโดยเคร่งครัด การประชุมหรือการดำเนินการใดของรัฐสภา จึงต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งการปฎิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวของสมาชิกรัฐสภา จึงมิใช่เป็นกรณีที่สมาชิกถือเอาข้อบังคับมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่เป็การเคารพและปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง
นอกจากนี้ ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 วรรคสองยังบัญญัติให้นำบทที่ใช้บังคับแก่ทั้งสองสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม ในการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาด้วย ซึ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อบังคับนี้ในบทที่บังคับแก่ทั้งสองสภา มีบัญญัติไว้ในมาตรา 128 วรรคหนึ่ง ว่า "สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการแต่ละชุด การปฎิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งว่า รายละเอียดทั้งหลายเกี่ยวการดำเนินการใดๆของที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ,สมาชิกวุฒิสภา หรือการประชุมรัฐสภา เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกของแต่ละสภา เป็นผู้มีอำนาจตราข้อบังคับขึ้นใช้และให้มีผลบังคับแก่การประชุมของสมาชิกแต่ละสภาทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติโดยกำหนดไว้เป็นรายละเอียดในการปฎิบัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159,160และมาตรา 272 รัฐธรรมนูญก็มิได้บัญญัติไว้เป็นรายละเอียดว่าให้ปฎิบัติอย่างไร คงให้ถือเอาการปฏิบัติตามข้อบังคับที่รัฐสภาจะได้ตราขึ้น เป็นวิธีปฎิบัติเป็นสำคัญ จึงไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้เสนอขื่อบุคคลคนเดิมซ้ำกันกี่ครั้งก็ได้ คงมีบัญญัติไว้เพียงเป็นหลักการสำคัญคือ
มาตรา 159 "ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่ตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยูของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร"
มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี (3)....(4)....(5)...(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (7)........(😎......
และในระหว่างห้าปีแรก การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ยังได้มีบทเฉพาะกาลให้การดำเนินการตามมาตรา 159 ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 272 ที่บัญญัติว่า " ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นขอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่ การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด แบะสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ "
ดังนี้ จึงจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญเพียงบัญญัติไว้เป็นหลักการเท่านั้นว่า จะเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะเช่นใด และใช้การประชุมพิจารณาและลงมติอย่างไรเท่านั้น โดยมิได้กำหนดว่าจะสามารถเสนอชื่อบุคคลใดๆได้กี่ครั้งหรือไม่ อย่างไรก็ได้ คงให้อำนาจในการดำเนินการเป็นไปตามการประชุมของรัฐสภา ภายใต้ข้อบังคับการประชุมที่ได้ตราขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการประชุมเพื่อดำเนินการเสนอขื่อบุคคลผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา อันเป็นกฎและข้อบังคับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ตราขึ้นนั่นเอง
ยังมีปัญหาจากฝ่ายที่แพ้โหวตอีกว่า การเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่"ญัตติ" จะนำข้อบังคับข้อที่ 41 มาใช้บังคับกับกรณีนี้มิได้ นี่ก็คือการแถและเถียงแบบเอาสีข้างถูครับ ไม่ว่าจะพิจารณาจากคำอธิบายความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ให้ความหมายของคำว่า"ญัตติ" ว่าคือ " ข้อเสนอเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกิจการของสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือข้อเสนอเพื่อให้ลงมติ" และในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ก็กำหนดไว้ในข้อที่ 44 ว่า" ญัตติ คือ ข้อเสนอใดๆที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป" และในข้อที่ 65 ก็เขียนกำหนดไว้ด้วยข้อความเช่นเดียวกันกับข้อบังคับข้อที่ 41 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา กรณีญัตติใดตกไปแล้วจะนำเสนอเพื่อให้สภาฯพิจารณาใหม่อีกได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ การเสนอชื่อบุคคลผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการเสนอเพื่อให้สภาลงมติ เพื่อจะดำเนินการต่อไป หากสภาให้ความเห็นชอบ ประธานรัฐสภาก็ต้องนำชื่อบุคคลผู้นั้นทูลเกล้าเพื่อโปรดมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง แต่หากสภาไม่ให้ความเห็นชอบญัตตินั้นย่อมตกไป
มีปัญหาว่าญัตติที่ตกไปแล้วดังกล่าว จะนำเสนอให้สภาพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ กรณีจึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งในกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถเสนอใหม่ได้ แต่ต้องมิใช่ญัตติเดิม ที่ไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลง โดยข้บังคับข้อที่ 41 กำหนดว่า"ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป" ซึ่งญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาฯใหม่นี้ ก็ปรากฎข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่า เป็นการเสนอญัตติเดิมโดยไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งหากพิจารณาในข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมเป็นกรณีที่ประธานรัฐสภา ไม่สมควรบรรจุเป็นญัตติเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาด้วยซ้ำไป แต่เหตุที่ประธานรัฐสภา กรุณาบรรจุเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ก็ทราบจากที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์สื่อยืนยันว่า" ในวันที่ 19 กรกฎาคม ตนทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้นั่งฟังการอภิปราย6-7 ชั่วโมง ไม่พบว่ามีใครที่เสนอให้เห็นเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ตนไม่สามารถใช้อำนาจของประธานรัฐสภาดำเนินการได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อบังคับ" นอกจากนี้ "ก่อนการประชุมโหวตเลือกนายกฯรอบที่สองนั้น ผมได้เตรียมความพร้อมโดยให้ฝ่ายกฎหมายของประธานรัฐสภา พิจารณาข้อบังคับรัฐสภาข้อ 41 ตามที่มีความเห็นถกเถียง ซึ่งฝ่ายกฎหมายมีความเห็นเป็น 2ฝ่าย ที่ระบุว่าใช้ข้อบังคับข้อ 41 ได้ และอีกฝั่งมองว่าไม่ควรใช้ เพราะการเลือกนายกฯเป็นบทกำหนดเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ฝ่ายกฎหมายได้ลงมติ 8 เสียงเห็นว่าใช้ข้อบังคับข้อ 41 ได้ 2 เสียงเห็นว่าไม่ควรใช้ "
เมื่อพิจารณา แล้วจะเห็นว่า ความเห็นของฝ่ายกฎหมายก็ดี หรือโดยเหตุผลตามข้อเท็จจริง กฎหมายและข้อบังคับ ล้วนมีความเห็นที่สอดคล้อง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นไปตามความเห็นและมติของสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก และเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 36 ที่กำหนดไว้ว่า " ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศรีษะ เว้นแต่การรับรองการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อ 136 " จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะพิจารณาให้เห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ มิใช่การเสนอญัตติให้ที่ประชุมสภาพิจารณามีมติ ดังนั้น การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาจึงชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาทุกประการแล้ว มิได้มีการกระทำอันใดที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการตีความข้อบังคับให้มีผลขัดหรือแย้งหรือมีฐานะเหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
นอกจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผมยังมีความเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของท่านอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล ที่เห็นว่า " ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะตรวจสอบดูร่างข้อบังคับของสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วัฒิสภา หรือรัฐสภา ถ้ายังเป็นร่างข้อบังคับฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ แต่ถ้าเป็นข้อบังคับที่ได้ประกาศใช้แล้ว เป็นเรื่องภายในรัฐสภา ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบว่า จะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความข้อบังคับของรัฐสภาไม่มีแบบอย่างมาก่อน และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่มีหน้าที่ที่จะส่งเรื่องแบบนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" และที่สำคัญหากกระทำเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้อำนาจตุลาการแทรกแซงกับอำนาจนิติบัญญัติ นั่นเอง ซึ่งความเห็นนี้ ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561
มาตรา 7 ( ดังนั้น การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจ เพื่อจะได้มีข้อยุติอันเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กรว่าที่สุดแล้ว ความเห็นทางกฎหมายของฝ่ายใดจะเป็นที่เชื่อถือและได้รับการยอมรับ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น จำต้องถือมติของสมาชิกรัฐสภามีผลบังคับจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมให้มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นต่อไป
กล่าวสำหรับความเห็นของผม ยังเชื่อมั่นว่า แนวทางที่สมาชิกรัฐสภามีมตินั้น ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยให้เป็นเด็ดขาด ถึงที่สุด ผูกพันทุกองค์กรคือ ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่บรรดาอาจารย์สอนกฎหมาย โดยเฉพาะพวกที่เป็นอีแอบทางการเมือง ท่านทั้งหลายควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร : ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" โดยมีเนื้อหาดังนี้
ศาลรธน.ยกคำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง เอกฉันท์ 5 ประเด็นเว้นประเด็น 2
จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
'จตุพร' ตอกย้ำศาลรธน.รับคำร้องคดีล้มล้าง เพื่อหยุดอหังการอำนาจ เริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง
ลุ้นศาล รธน.พิจารณาคำร้อง 'จตุพร' เชื่อรับไว้วินิจฉัยเพื่อหยุดอหังการอำนาจ ลั่นจะเริ่มจุดเปลี่ยนบ้านเมือง เปิดความหวังประเทศก้าวเดินสู่ผลประโยชน์ชาติ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง
ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง