ก้าวไกลเดินหน้าแก้ 112 ย้ำเป็นฉันทามติจากประชาชน ที่เลือกมาจนได้เสียงอันดับหนึ่ง

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลหรือทนายแจม อดีตทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เคยเป็นทนายความในคดี 112 และคดีการเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมือง กล่าวถึงการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลต่อจากนี้ว่า  จากประสบการณ์ที่เคยเป็นทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับมาตรา 112ทำให้ได้เห็นปัญหาของมาตรา 112 มากกว่าที่คนนำไปพูดกันตามที่เป็นข่าว โดยแนวทางการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกลก็คือจากปัจจุบันที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา การที่อยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้พอมีเวลาฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น การไปแจ้งความ ทำให้ตำรวจ อัยการ ศาล ก็เหมือนจะมีความที่ไม่กล้าใช้ดุลยพินิจตัดสินใจด้วยตัวเอง จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีความเป็นธรรมสำหรับคนที่ถูกดำเนินคดี

 ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่า ตอนที่เราทำคดีพวก 112 ใหม่ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่ง คนที่ถูกดำเนินคดีแทบไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวด้วยซ้ำ หรือการตีความที่ตัวกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่า แค่ไหนถึงจะเป็นความผิด เราถึงจะเห็นการโดนดำเนินคดีในเนื้อหาที่แตกต่างกันมาก เช่นอย่างที่เห็นบางคนแค่โพสต์ หรือแค่เขียนบางคำ บางประโยค ก็ถูกตีความว่าทำผิดมาตรา 112 แล้ว และอีกอันที่สำคัญคือการริเริ่มคดี ที่ให้ใครก็สามารถริเริ่มคดีก็ได้ คนทั่วไป ที่พบเห็น ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดี 112 เองได้ ทำให้ใครจะถูกกลั่นแกล้งก็ได้ เพราะความที่อาจจะไม่ชอบ อย่างที่เราเจอก็เช่นมีการปลอมเฟซบุ๊ก  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคือมีเพื่อนผู้หญิงสองคน แล้วเกิดทะเลาะกัน เพื่อนคนหนึ่งก็ไปปลอมเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อ-นามสกุล คนที่ถูกปลอมแล้วก็ใส่หน้าคนที่ถูกปลอมด้วย ต่อมาก็มีการไปจับกุม ซึ่งในช่วงดังกล่าว อยู่ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก (หลังรัฐประหารปี 2557 ) ที่คดีจะต้องขึ้นศาลทหาร   แม้ว่ามันอาจจะสู้คดีในชั้นศาลได้ แต่กระบวนการก่อนหน้านั้น มันทำให้คนนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม กว่าจะไปถึงชั้นศาล  กว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงมาได้ เขาก็ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกคุมขังไปจนครบ 12 ผลัด ก็คือประมาณ 84 วัน ไปแล้วในกระบวนการระหว่างนั้นและสุดท้าย อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานว่าเขาเป็นโพสต์จริงหรือไม่ ก็ปล่อยตัวออกมา  แต่กลายเป็นว่า 84 วันเขาต้องอยู่ในเรือนจำ ติดคุกไปฟรีๆ

ศศินันท์ กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลจะเสนอเข้าสภาฯ ก็มีเช่น เสนอให้ย้ายความผิดฐาน 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และให้ลดโทษการกระทำความผิด จำคุกไม่เกิน 1 ปี เพราะโทษความผิดปัจจุบัน มีการกำหนดขั้นต่ำไว้(3 ปี) แต่ปกติคดีทั่วไปจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่จะบอกว่าจำคุกไม่เกินกี่ปี แต่มาตรา 112 มีโทษจำคุกขั้นต่ำ ทำให้แม้ศาลอาจเห็นว่าคดีเบา แต่ก็ไม่สามารถตัดสินให้ต่ำกว่าโทษขั้นต่ำได้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีแค่ 112 ยังมีมาตราอื่นอีก ถ้าในกรณีที่รุนแรงเช่นประทุษร้าย ก็ยังมีมาตราอื่นอยู่ แต่อันนี้เป็นแค่การแสดงความคิดเห็น จนกลายเป็นว่ามาตรา 112 นำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นจะไปล้มล้างสถาบันฯ ได้ขนาดนั้น จึงไม่ควรอัตราโทษที่มันรุนแรงจนเกินไป นอกจากนี้ ก็มีการเสนอแก้ไขให้สำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ก็เพราะพอมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ที่ทำให้ใครก็ริเริ่มคดีได้ มันทำให้มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น ทำให้มีคดีพวกนี้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมเยอะมากขึ้น ซึ่งโดยหลักการแล้ว การที่เราจะฟ้องดำเนินคดีใครก็ตาม เราควรเป็นผู้เสียหาย เช่นมีคนมาตีเรา ตัวเราเป็นคนถูกตี เราก็ต้องไปแจ้งความดำเนินคดี แต่กรณี 112 ประมาณว่าคนที่ไปแจ้งความไปฟ้องอาจไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งหากกลับมาที่หลักการของมัน ก็ควรให้เป็นผู้เสียหายไปดำเนินการ ซึ่งหากโอเคไม่อยากให้กษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องในคดี ก็ควรต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการ ในการที่จะพิจารณาว่าควรดำเนินคดีหรือไม่อย่างไร

เมื่อถามว่า แนวทางดังกล่าว ก็จะทำให้สำนักราชเลขาธิการ กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรงศศินันท์ กล่าวว่าเขามีสิทธิ์ที่จะกลั่นกรอง เพราะสุดท้ายแล้วการให้ประชาชนมาขัดแย้งกันเอง จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่เราเห็น คือเป็นฝั่งตรงข้ามมาแจ้งความดำเนินคดี อะไรนิดหน่อย ก็มาแจ้งความ 112 แล้ว หรือมีองค์กรประชาชนที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็มามอนิเตอร์เฟซบุ๊กเป็นรายบุคคล มาดูโพสต์ไหนที่มันเข้าข่าย กลายเป็นว่าเป็นประชาชนฟ้องคดีกันเอง ริเริ่มคดีกันเอง นอกจากนี้ก็มีการเสนอแก้ไขในเรื่องของข่ายของมาตรา 112 ที่ว่าต้องแค่ไหนถึงจะเป็นความผิด โดยควรต้องมีบทบัญญัติเพิ่มเติมว่า ขอบข่ายของการกระทำความผิดต้องประมาณไหน ข้อความประมาณไหน เพราะปัจจุบันมันค่อนข้างกว้างมาก เหมือนอย่างมีเคสหนึ่ง นำรูปไปทิ้งลงในน้ำ ก็ถือว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 แล้ว หรือบางเคส ก็มีที่ไปกดไลค์เพจ ก็ควรต้องมีสโคปของความผิดที่มันชัดเจน เพราะโดยหลักของกฎหมายอาญา คนที่จะต้องรับโทษทางคดีอาญา จะต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด แต่บางอย่าง คนอาจไม่รู้ว่าแค่ไหนคือการทำผิด ทำให้มันเกิดความไม่ชัดเจน เหมือนอย่างเรื่องลักขโมย การหยิบของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง แบบนี้คือผิดข้อหาลักทรัพย์ หรือคนไปตีคนอื่น คนที่ไปทำ เขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำผิด แต่กรณีของมาตรา 112 คนก็ยังเห็นไม่ชัดเจนว่าแค่ไหนถึงคือการกระทำความผิด มันจึงไม่ค่อยเป็นไปตามหลักการของกฎหมายอาญาเท่าใดนัก ซึ่งหากมีการเสนอแก้ไข ก็จะทำให้สถาบันฯ จะไม่ถูกดึงมาให้ประชาชนมีปัญหากันเองเหมือนในปัจจุบัน

ต่อข้อถามที่ว่า หากพรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไข 112 เข้าสภาฯจะได้เสียงสนับสนุนจากส.ส.และสว.มากน้อยแค่ไหนศศินันท์ ตอบว่า มองว่าเราได้ฉันทามติจากประชาชน เพราะตลอดเวลาที่เราหาเสียงมา เราก็จะถูกโจมตีเรื่องนี้มาตลอด เรื่อง 112 ก็พูดกันว่าหากเลือกก้าวไกล เข้าไปจะแก้ 112 แต่ประชาชนก็ยังเลือกเรามา มองว่าเพราะส่วนหนึ่งเขาเห็นถึงความชัดเจนที่เรา ไม่เคยลดเพดานตัวเองลงมาว่าเราจะไม่ทำแล้ว เพราะว่าเรารับปากกับประชาชนไว้แล้วในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้เป็น priority ในหนึ่งปีแรกหรือสองปีแรก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราคาดหวังว่าเราจะได้เข้ามาทำเรื่องนี้ คืออย่างน้อยๆ เราขอให้ได้ทำในสิ่งที่เราได้รับปากไว้ก่อน ส่วนในระหว่างทาง และปลายทางจะเป็นอย่างไร ก็อยากให้มันมีการได้ริเริ่มก่อน เลือกตั้งรอบนี้ พรรคได้เสียงมาค่อนข้างเยอะ และเราก็คิดว่า อุปสรรคอาจจะน้อยกว่าครั้งที่แล้ว ส่วนรอบนี้จะไปได้ไกลขนาดไหน เราว่าก็ต้องดูกระแสของสังคมด้วย และดูสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงระยะเวลานั้น

ศศินันท์ กล่าวต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ต้องอธิบายให้สังคมทราบว่า เหตุและผลเป็นอย่างไร เรามีหน้าที่ในการอธิบาย ซึ่งการนำเรื่องนี้เข้ามาในสภาฯ ส่วนหนึ่งมันทำให้สิ่งนี้ เข้ามาพูดในสภาฯ มันจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะสภา เป็นสถานที่ซึ่งจะทำให้เราได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ ได้พูดคุยถึงปัญหาเรื่องนั้นจริงๆ ได้ฟังเหตุและผลของคนในรัฐสภา ซึ่งสุดท้าย ประชาชนจะตัดสินได้เองว่า แต่ละคนมีเหตุผลอย่างไร คนที่เห็นด้วย มีเหตุผลอย่างไร และคนที่ไม่เห็นด้วย มีความคิดเห็นอย่างไร อันนี้คือหน้าที่ของนักการเมืองที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นความเห็นจากคนทั้งสองฝั่งจริงๆ แต่ปัจจุบัน เรื่องนี้ ถ้าเรานำไปพูดกันนอกสภาฯ พูดแล้วเกิดอะไรขึ้น ก็โดนคดีกัน แต่เราจะลดแรงต้านตรงนั้น เอามาให้นักการเมืองได้พูดกันในสภาฯ เพื่อให้ประชาชนได้เห็น แบบที่ไม่ต้องโดนกฎหมายด้านนอกจัดการ และการพูดในสภาฯ ก็เป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทำให้เขาได้เห็นจริงๆ เพราะหากเรานำปัญหาไว้ใต้พรหม ไว้ใต้โต๊ะอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย ปัญหานั้น ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข แต่หากเรานำปัญหานั้นมาวางไว้บนโต๊ะหรือนำเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาฯ ให้ทั้งสองฝั่งได้ถกเถียงกันในสภาฯ ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่า เขามีความคิดเห็นไปในทิศทางไหน อันนี้ แจมว่า อันนี้คือวิธีการที่ช่วยลดความขัดแย้งในคดีมาตรา 112 อีกวิธีการหนึ่ง

          “เรื่อง 112 พรรคพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนหาเสียงและเราพูดเรื่องนี้มาตลอด และเราก็โดนโจมตีเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าพรรคเราจะทำเรื่องนี้ อย่าไปเลือกก้าวไกล เพราะจะไปแก้ 112 แต่สุดท้าย ฉันทามติของประชาชนก็ออกมาว่า เราชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนมาอันดับหนึ่ง เราคิดว่าประชาชน ก็ได้บอกอะไรกับสังคมแล้วเหมือนกันว่า เขาต้องการอะไรบ้าง เขาเห็นด้วยกับเราขนาดไหน” ส.ส.พรรคก้าวไกลระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้อมส้มด่ากราด สส.พรรคส้ม ข้อหาถ่ายรูปยินดีกับ 'ภราดร' พ่อรองประธานสภาฯ อัดวิปริตไปใหญ่แล้ว

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า #วิปริตไปกันให

สส.ก้าวไกล นับถือใจ 'บุ้ง' ชี้ไม่ควรมีใครจากไปเพราะความอยุติธรรม

นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม สส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยต่อการจากไปของนางสาวเนติพร หรือบุ้ง ทะลุ

'ก้าวไกล' อัดนายกฯเด้ง 2 นายพลแค่ซุกขยะใต้พรม แก้ปัญหาแบบฉบับบ้านจันทร์ส่องหล้า

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ยุคนี้เป็นยุคตกต่ำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) จากสมรภูมิแย่งชิงผบ.ตร. ของนายตำรวจเบอร์1และเบอร์2 เป็นศึกช้างชนช้าง เกิดความวุ่นวายในตร.

'ก้าวไกล' ชูร่างพรบ.นิรโทษกรรม ถ้าไม่หลับตาข้างเดียวก็จะเห็นปัญหาคดี ม.112

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะสภาที่ 3 เรื่อง ‘ข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม กับการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง’ โดยมี คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงาน