ศาลรธน.วินิจฉัย 5 แกนนำ กปปส. สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.


แฟ้มภาพ

8 ธ.ค.2564 - เมื่อเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ส่งคำร้องขอให้พิจารณากรณีนายชุมพล จุลใส ส.ส. ชุมพร , นายอิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ , นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

กรณีถูกศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) บัญญัติว่าสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คืออยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และมาตรา 98 (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจาก ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติ จึงต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการกระทำผิดมัวหมอง อีกทั้งมาตรา 96 และ 98 บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าการทำผิดอาญาของผู้ถูกร้องที่ 1-5 มาจาการชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่าเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่แย้งว่าการที่ศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ใช่การสั่งจำคุกนั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ต้องถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนเรื่องความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุมที่ไม่อาจถูกจับคุมขัง หรือขัดขวางต่อการปฏิบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมาประชุมสภานั้น เป็นการให้ความคุ้มกันระหว่างการพิจารณาคดี แต่กรณีดังกล่าวคดีสิ้นสุดแล้ว ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งที่อ้างว่าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) เป็นลักษณะต้องห้ามที่ใช้ก่อนการรับสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น เห็นว่าหาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

อาศัยเหตุผลข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3 ,5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) ประกอบมาตรา 96(2) สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ101(6) ประกอบมาตรา 98(6) นับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 7 เมษายน 2564 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-4 ว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 8 ธันวาคม 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้มีตำแหน่งของ ส.ส.เขตว่างลง ในพื้นที่เขต 1 ชุมพร และ เขต 6 สงขลา และให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน.มติ 6 ต่อ 3 ชี้โทษอาญา ตาม พ.ร.บ.เช็คไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัย ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คปี 2534 มาตรา 4 วรรคสอง เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยคดียุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอนเศรษฐา เสร็จสิ้นก่อน ก.ย.

ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ว่ามีหลายเรื่องอาทิเรื่องกฎหมายเช็คขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่อง MOU

'สุเทพ' ไร้กังวลไม่รอลงอาญา สู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้ลดโทษจำคุกเเต่ไม่รอลงอาญาว่า ทุกอย่างเป็นกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามดุลพินิจของศาลพวกตนที่เป็นจำเลย ตั้งใจมา

ศาลฯพิพากษาคดี กปปส. จำคุก 14 ราย ยกฟ้อง 19 ราย รอลงอาญา 4 ราย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษจำคุก ‘สุเทพ’ เเกนนำ กปปส.เพียงปีเดียว ไม่รอลงอาญา คดีนำมวลชัตดาวน์กรุงเทพ ปี 57 ส่วนพวกแกนนำอีก 14 ราย รับโทษหลั่นกันไป ไม่รอลงอาญาอยู่ระหว่างลุ้นประกันตัว รอลงอาญา 4 ราย ส่วนที่เหลืออีก 19 รายยกฟ้อง