12 ก.ค. 2566 - นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากกรณีมีชื่อถือครองหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่า ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ ทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พี่น้องประชาชน สมาคมต่างๆ ทั้งที่ออกข่าว และส่วนตัวในการให้กำลังใจตน ยืนยันกับทุกท่านว่า สติดี กำลังใจมี พร้อมที่จะเดินหน้าตามปกติในวันพรุ่งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี้จะถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการตัดสินใจของส.ส.และส.ว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล เพราะวุฒิสภาหลายท่านได้ออกมาบอกว่า ไม่ได้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับคดีหรือนโยบายอะไร มีหน้าที่ทำตามหลักการ และเป็นนักการเมืองของประชาชน หากยึดลักษณะแบบนั้น ตนคิดว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว สื่อมวลชน และประชาชนก็ตรวจสอบแล้ว คิดว่าไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
เมื่อถามว่าจะมีการตั้งรับในคดีนี้อย่างไรบ้าง นายพิธากล่าวว่า ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะตั้งรับ หรือตอบอย่างไร เพราะตนไม่ได้มีโอกาสที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเลย ซึ่งเท่าที่ดูต้องใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องของตน 32 วัน น่าจะใช้เวลาน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ หากเทียบกับกรณีของรัฐมนตรี 4-5 ท่าน ในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้เวลาอยู่ประมาณ 300 กว่าวัน ส่วนของตนใช้เพียง 30 กว่าวันแล้วจึงยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 1 วัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ตนไม่มีโอกาสชี้แจง และตนก็ไม่ทราบ ว่ากกต.สงสัยตนในประเด็นใดเกี่ยวกับเรื่องไอทีวี
เรื่องที่มากกว่านั้นคือการที่ประชาชนสงสัย ผ่านการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งในการประชุมและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับในห้องประชุมก็ดีที่ไม่ตรงกัน ตรงนี้ยังไม่มีโอกาสได้ถาม และตนไม่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการชี้แจง บางทีถ้าเรียกตนเข้าไปชี้แจงตามระเบียบของกกต. ก็อาจจะสิ้นความสงสัย และไม่ต้องทำให้เป็นปัญหาอย่างสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ทั้งนี้ หากศาลเปิดให้ไต่สวน ตนก็พร้อมเข้าชี้แจงทุกกระบวนการ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง นายพิธากล่าวว่า ตนหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะการที่จะกลั่นแกล้งตนเพียงคนเดียว มีราคาที่ต้องจ่ายสูง กับระบบกลไกในการบริหารราชการ บริหารประเทศ และหลักเกณฑ์ในการดูแลเรื่องบรรทัดฐานของคนที่จะมาเป็นนักการเมือง เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าจะสกัดแค่ตนเพียงคนเดียวหรือพรรคก้าวไกลไม่ให้เข้า แต่เป็นเรื่องเสียงส่วนมากของประชาชนที่แสดงออกมาผ่านการเลือกตั้งใน 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นความหวังของเขา
นายพิธา กล่าวด้วยว่า ส่วนการชุมนุมตนมั่นใจว่าไม่มีสถานการณ์อะไร แต่ต้องเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยคือการรวมตัวกันอย่างสันติ เป็นการควบคุมวาระทางสังคม ซึ่งตนก็พยายามที่จะอธิบายผ่านทางสื่อมวลชนไปแล้ว ว่าตนไม่ได้เสียขวัญ กำลังใจดี ประชาชนก็เช่นเดียวกัน เรื่องแบบนี้เข้าใจว่าบางทีมีอารมณ์ เพราะเขาออกไปเลือกคนของเขามาแล้ว แต่ถ้าเรามุทะลุมากเกินไป ก็ไม่เป็นผลดีกับสิ่งที่พวกเราจะทำ อะไรที่มันสำคัญ อะไรที่มันยิ่งใหญ่ ก็ต้องใช้เวลา และยากเสมอ แต่ตนคิดว่าเราสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งพรุ่งนี้ก็จะเข้าสภาตามปกติ และแถลงวิสัยทัศน์เหมือนเดิม
เมื่อถามว่าต้องมีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย (พท.) อีกครั้งหรือไม่ ในกรณีนี้ นายพิธากล่าวว่า ตนยังไม่มีเวลาที่จะได้พูดคุยกัน แต่เมื่อกลับจากการเข้ารายการจะมีการประชุมกัน ซึ่งตนจะต้องดูอีกทีว่าจะมีการพูดคุยอะไรกัน
ถามถึงกรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่า “วันพรุ่งนี้จะเป็นโอกาส และทางแยกของสังคมไทย ว่าเราจะวนกลับไปสู่การเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนเดิม หรือเราจะคืนความปกติให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทย และพาประเทศไทยไปข้างหน้า ผู้มีอำนาจมีสิทธิที่จะเลือก” นั้น ประเทศไทยจะสามารถหลุดจากวังวนเดิมๆ ได้หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ หรืออาจจะแย่กว่าเดิมตรงที่ว่า ความท้าทายของประเทศตอนนี้ หนักกว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากที่เจอโควิด-19 และสงคราม ก็ต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และมีความชอบธรรมในการ บริหาร สามารถที่จะขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งตรงนี้ก็คงมาจากการเลือกตั้งในระดับนึง
เมื่อถามถึงเสียงสนับสนุนจากส.ว.ในขณะนี้ นายพิธากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการประเมินกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน
เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง
เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
‘พล.ร.อ.พัลลัภ’ เตือนภัย กับดักบันได 3 ขั้น พ่ายเขมรเสียดินแดน..!! I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 02 พฤศจิกายน 2567