ส.ว.วุฒิพันธุ์ ออกจดหมายเปิดผนึก โชว์จุดยืนโหวตเลือกนายกฯ

8 ก.ค.2566 - นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 ระบุข้อความว่า “จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ ๒ สมาชิกวุฒิสภา ลำดับที่ ๑๗๔ มีเนื้อหาดังนี้

กลไกกระบวนการตามอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐสภา ตามครรลองที่บัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเรียบร้อย นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

ในโอกาสอันเป็นมหามงคลดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อที่ประชุม และขอใช้โอกาสนี้อัญเชิญบางส่วนของกระแสพระราชดำรัสมาเน้นย้ำให้ได้รับทราบทั่วกันอีกครั้ง...

"...ประเทศชาติ จะมีความเจริญเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความสามารถ และความสุจริตบริสุทธิ์ของท่านที่ จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวง โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด หากทุกท่านจะได้สำนึกตระหนักเช่นนี้อยู่เสมอ ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วง เป็นประโยชน์ เป็นความเจริญมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง..."

ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่ ร่วมอยู่ในรัฐพิธีอันเป็นมหามงคล ขอตั้งปณิธานน้อมนำกระแสพระราชดำรัสข้างต้น มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความเจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองด้วยความแน่วแน่

กรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะมีขึ้น และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหากันอย่างรุนแรง และกว้างขวางเกี่ยวกับความเหมาะสมของบุคคลบางคน อาจเป็นปรากฎการณ์ปกติของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตามการแสดงความคิดเห็น ในลักษณะรณรงค์ต่อต้าน ขัดขวาง การขึ้นสู่ตำแหน่งของบุคคลบางคน ด้วยการสร้างมายาคติ บนความอคติ โดยก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่เหมาะควรอย่างยิ่ง

ความเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๓ เสาหลักของอำนาจอธิปไตยอันประกอบด้วยนิติบัญญัติ-ตุลาการ-บริหาร พึงต้องตระหนักในเกียรติภูมิแห่งความเป็นสมาชิกรัฐสภา และพึงต้องระมัดระวังไม่กระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นการสุมเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๑๓ ว่าด้วย "สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่ หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ"หรือ มาตรา ๑๑๔ ว่าด้วย "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"

เพื่อยืนยันถึงการน้อมนำ และยึดมั่นตามแนวทางในกระแสพระราชดำรัส จึงขอเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ยืนยันให้การสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตลอดจนเพื่อความสอดคล้องกับฉันทามติของมหาชน ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖”

ขอแสดงความนับถือ

วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

(อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อ.ไชยันต์' ย้อนถามมีสว.ไว้ทำไม ยกตัวอย่างหลายประเทศยกเลิกแล้ว เหตุไม่มีความจำเป็น

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

'กิตติศักดิ์' ขู่ยื่น ป.ป.ช. ฟัน นายกฯ-ครม. ยกคณะ หากเบี้ยวไม่แจงเวทีซักฟอก ไล่ 'เศรษฐา'กลับนอนบ้าน!

ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวถึงประเด็นที่จะอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ว่า จะอภิปรายในเรื่องที่ปร

'สว.สมชาย' เปิดรายงานวุฒิสภา ต้องใช้เงิน 15,700 ล้านบาท แลกรธน.ฉบับใหม่

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งประเด็น คุ้มค่ามั้ย ราคาที่ต้องจ่าย ประชามติรัฐธรรมนูญ vs ประชาธิปไตยแ

แชร์ว่อน! เจ้าของร้านต่างแดน ขู่ใช้ความรุนแรงกับ 'หมอพรทิพย์'

ขณะนี้โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอของผู้ใช้บัญชี ติ๊กต็อกรายหนึ่ง ซึ่งอ้างตัวเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในประเทศไอซ์แลนด์ ขับไล่แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)

'สว.เสรี' เผย อดีตปลัดคลัง จองคิวชำแหละ 'เงินดิจิทัลหมื่นบาท' คาด 1-2 วันเพียงพอแถลงนโยบายรัฐบาล

ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน